ประกาศสำนักงานป
ประกาศข้อตกลง ข้อตก...
จังหวัดภูเก็ต – 16 มีนาคม 2568 / ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. เป็นประธานพิธีปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน
ปลัด ศธ. กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของรัฐบาลนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติฯ เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาไปสู่การปฏิบัติในระดับภาคและจังหวัด จึงมีความสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาภาคที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 รวมถึงนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาภาคสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของจังหวัด จะต้องอาศัยข้อมูลที่หลากหลายจากทุกด้าน โดยมี 2 แนวทางหลักในการดำเนินงาน คือ การใช้ข้อเท็จจริงเป็นสมมติฐานในการดำเนินการ และการมองไปข้างหน้าเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ซึ่งแผนพัฒนาจังหวัดจะมี 2 มิติคู่กัน ได้แก่ มิติแรกคือการทำงานเชิงรุกเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด และมิติที่สองคือการหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งการได้มาซึ่งข้อมูลในการจัดทำแผนนั้น อาจใช้วิธีการที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ อาทิ การนำวิจัยมาใช้เป็นฐานข้อมูล หรือการใช้การ Brainstorming หรือการทำโฟกัสกรุ๊ปกับผู้ที่มีความรู้และความสามารถ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ
“ในส่วนการจัดทำแผนการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดนั้น ต้องดำเนินการเป็นแผน 5 ปี โดยในขณะนี้ได้ผ่านไปแล้ว 1 ปี ก้าวสู่ปีต่อไป ดังนั้นในปีที่ผ่านมาเราต้องทบทวนและปรับปรุงแผนอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้แผนพัฒนาการศึกษามีการพัฒนามากยิ่งขึ้น” โดยคาดหวังว่าในเดือนกันยายน ทุกจังหวัดจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อที่จะพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสม และแม้ในปีแรกแผนยังไม่สมบูรณ์ก็ไม่เป็นไร เพราะปีถัดไปจะมีการพัฒนาและต่อยอดไปเรื่อย ๆ จนสามารถจัดทำแผนที่มีประสิทธิภาพและสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการจัดทำแผนและมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติดในสถานศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมของนักเรียนและนักศึกษา โดยได้รับการสนับสนุนและให้ความสำคัญจากทั้งนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการใน 2 มิติ มิติด้านกฎหมาย โดยสำนักนิติการ สป. ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง และมิติการจัดทำแผนและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานใน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษามีผลเป็นรูปธรรม
กรอบการดำเนินงานระยะสั้น เน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายในการลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน ผ่านการประชุมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน การกำหนดเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และการบูรณาการการเรียนการสอนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของนักเรียน การประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย และการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาเพื่อควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา
กรอบการดำเนินงานระยะกลาง มุ่งเน้นการขยายผลจากการดำเนินงานในระยะสั้น โดยการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผ่านกิจกรรมของสภานักเรียนและการสร้างแกนนำเยาวชนเพื่อลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดกิจกรรมและสัมมนาในชุมชนท้องถิ่น การปรับปรุงหลักสูตรอบรมพนักงานส่งเสริมความประพฤติให้สอดคล้องกับการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า และการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว
กรอบการดำเนินงานระยะยาว มุ่งเน้นการปลูกฝังให้นักเรียนและนักศึกษาตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งในด้านกฎหมายและสุขภาพ รวมถึงการเสริมบทบาทของพนักงานส่งเสริมความประพฤติในการเฝ้าระวังและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการต่อต้านยาเสพติดและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและชุมชนในการต่อต้านพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ข้าราชการในสังกัดมีอำนาจในการตรวจค้นและทำลายบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนและนักศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการยังได้กำหนดมาตรการคาดโทษทางวินัยกับบุคลากรที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยเน้นย้ำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนและนักศึกษา การดำเนินการในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงแต่การห้ามใช้ในสถานศึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความตระหนักรู้และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อการศึกษาและพฤติกรรมของนักเรียน
“ในปีงบประมาณ 2569 ทุกจังหวัดจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อพัฒนาการศึกษาตามทิศทางที่เหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง โดยการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจะต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งใช้ข้อมูลที่ครบทุกมิติ การทำงานเชิงรุกและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม”
ในการนี้ นายวชิรพันธ์ นาคก้อน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมบรรยายพิเศษ มอบแนวทางดำเนินงาน “การกำหนดทิศทางและเชื่อมโยงกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของหน่วยงานด้านกฎหมาย ชายแดนใต้ และกองทุนการพัฒนาเทคโนโลยี” นางดารุณี ดงทอง ศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร บรรยายในหัวข้อ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด” และนางสาวนวลพรรณ วรรณสุธี ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สป. ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการศึกษาในภูมิภาค สป. บรรยายในหัวข้อ “การขับเคลื่อนงานจากส่วนกลางสู่การปฏิบัติในระดับภาคและจังหวัด”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์
พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
The post ปลัด ศธ. “สุเทพ” วางแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัด 5 ปี พัฒนาทุกบริบทพื้นที่ เดินหน้าแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.