รมว.ศธ.แจ้งส่วนร
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” มี...
รมช.ศธ. “สุรศักดิ์” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 4/2568 โดย รมว.ศธ. เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ เน้นย้ำผู้บริหาร ข้าราชการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึง ปลื้ม ครม. อนุมัติงบกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา กำชับสถานศึกษาเตรียมแผนรับมือ PM 2.5 พร้อมเร่งติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา วาง Buriram Zero Dropout Model (BZDM) เป็นต้นแบบ ด้วยแนวทาง “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” ต่อเนื่อง
29 มกราคม 2568 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 4/2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมผ่านระบบ e-Meeting ซึ่งภายหลังการประชุม รมช.ศธ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว
รมว.ศธ. กล่าวผ่านระบบออนไลน์ว่า ในการประชุมประสานภารกิจทุกครั้ง สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นคือการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระดมสมอง และพัฒนาแนวคิดร่วมกันของผู้บริหารจากทุกหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานของ ศธ. ประสบความสำเร็จ สำหรับแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ ขอให้พิจารณาโดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้านการศึกษา อาทิ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS) โครงการ 1 อำเภอ 1 ซัมเมอร์แคมป์ และโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ที่มุ่งยกระดับคุณภาพของผู้เรียน ให้มีการขยายโอกาสทางการศึกษาไปยังโรงเรียนและกลุ่มเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาส โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ได้เข้ามามีบทบาทในการส่งต่อความรู้และแนวทางการพัฒนาสู่โรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกันทั้งระบบ ซึ่งมีผู้ตรวจราชการ ศธภ. และรอง ศธภ. เป็นผู้ขับเคลื่อนในส่วนภูมิภาค เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลนักเรียน ครู และบุคลากรทุกคน ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัย และสั่งการไปยัง สพฐ. ดำเนินการเร่งแจ้งมาตรการป้องกันไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยให้งดกิจกรรมกลางแจ้งทุกรูปแบบ และหากพื้นที่ใดอยู่ในระดับสีส้มหรือสีแดงที่มีความเสี่ยงสูง ผู้อำนวยการสถานศึกษาสามารถตัดสินใจปิดโรงเรียนได้ทันที พร้อมให้มีการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในทางเลือกอื่น อาทิ การเรียนออนไลน์ หรือวิธีการที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและครู นอกจากนี้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับบุคลากรที่มาทำงานยังสำนักงานทุกแห่ง หากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน อาจมีมาตรการในการ Work from home หรือดำเนินการตามความเหมาะสม
รมช.ศธ. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอขออนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับโครงการด้านการศึกษาที่สำคัญ คือ โครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัล พัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอ (The Digital Skill/Credit Portfolio: Empowering Educations) โครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 (เช่า 5 ปี 2569-2573) โดย สพฐ. เป็นหน่วยดำเนินการ งบประมาณ 29,765 ล้านบาท ครอบคลุมนักเรียนระดับระดับ ม.4-ม.6 และครูผู้สอน จำนวน 1,236,985 เครื่อง และโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษา ทุกที่ทุกเวลา : จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในทุกสถานที่ (เช่า 4 ปี 2569-2572) โดย สอศ. เป็นหน่วยดำเนินการ งบประมาณ 3,302 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมนักศึกษาในระดับ ปวช.1-ปวช.3 และครูผู้สอน 159,332 เครื่อง
ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใช้จ่ายและจัดสรรงบประมาณอย่างรอบคอบ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ทางการศึกษาของประชาชนเป็นสำคัญ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเตรียมข้อมูลและวางแผนการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด รวมถึงกำหนดแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
การยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA
รมช.ศธ. กล่าวว่า ได้รับทราบแนวทางการขับเคลื่อน PISA ความก้าวหน้าผลการดำเนินงานการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ฯ ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งตามเป้าหมายในปี 2568 ที่ให้มีผู้ลงทะเบียน มากกว่า 4 แสนคน ซึ่งในขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้วเกือบ 200,000 คน เข้าสู่เป้าหมายครึ่งหนึ่งของที่วางแนวทางไว้และดำเนินการได้ตั้งแต่ในเดือนแรกของปีนี้ และมีผู้อบรมแล้วเสร็จกว่า 134,994 คน และมีการอบรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบในระดับเขตพื้นที่นั้นมีเขตพื้นที่ที่ลงทะเบียนครบ 100% ถึง 35 เขตพื้นที่
สำหรับปฏิทินการดำเนินงานฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ มีกำหนดการซ้อมทำข้อสอบสำหรับนักเรียนชั้น ม.2 จำนวนกว่า 531,919 คน ในวันที่ 13 ก.พ. – 17 มี.ค. 2568 ซึ่งจะเป็นการสอบในระบบ PISA STYLE ส่วนนักเรียนชั้น ม.3 จำนวน 77,266 คน จะดำเนินการสอบในวันที่ 10 – 21 ก.พ. 2568 ในรูปแบบ Paper เพื่อนำผลจากการซ้อมทำข้อสอบมาวางแผนสำหรับการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ในภาคเรียนต่อไป
การนำผลคะแนน O-NET มาใช้ในการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. นั้น จะมีการหารือนโยบายการสอบ O-NET โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการสอบอย่างชัดเจน และกำหนดแนวทางในการนำผลคะแนนสอบไปใช้ประโยชน์ในเรื่องใดบ้าง อาทิ การสะท้อนคุณภาพผู้เรียน การสะท้อนคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา การสะท้อนความสำเร็จของการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานและการเตรียมความพร้อมนักเรียนในการเข้ารับการประเมินสมรรถนะในระดับสากล (PISA)
การสอบ O-NET มีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือวัดผลและคุณภาพของผู้เรียน ควรมุ่งเน้นการวัดสมรรถนะของผู้เรียนยุคใหม่ เช่น การคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์ และความสามารถในการอ่านอย่างเข้าใจ แทนที่จะเน้นการจดจำเนื้อหาหรือการเปรียบเทียบความพร้อมระหว่างโรงเรียน ซึ่งอาจสร้างความได้เปรียบหรือเสียเปรียบจึงจำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนที่มีความหลากหลาย ควรปรับแนวทางการสอบให้สอดคล้องกับการสอบ PISA เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนตั้งแต่ต้น และต้นสังกัดควรจะกำหนดระดับคะแนนตามบริบทโรงเรียน อาทิ โรงเรียนขนาดใหญ่มีความพร้อมสูงควรตั้งเป้าไว้สูง โรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนที่มีความแตกต่างมาก ควรกำหนดเป้าหมายคะแนนที่เหมาะสม เริ่มจากเป้าหมายที่ต่ำกว่าและค่อยๆ เพิ่มในอนาคต
แนวทางการทดสอบควรสะท้อนทักษะที่จำเป็น แม้ไม่จำเป็นต้องยึดตามรูปแบบการสอบของ PISA โดยตรง แต่ควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในสมรรถนะที่ต้องการวัดโดยรูปแบบการสอบ ทั้งการทดสอบทั่วประเทศหรือการสุ่มสอบ ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทการศึกษาในประเทศไทย ต้องพิจารณาหาวิธีการทดสอบอย่างรอบคอบ
สภาวะการศึกษาไทย
รมช.ศธ. กล่าวว่า สกศ. ได้รายงานสภาวะการศึกษาไทยไตรมาสที่ 1 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พบว่าประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงจะมีการศึกษาที่ดีตามไปด้วย ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมที่ดีแต่ด้านคุณภาพการศึกษายังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนก็คือ เรื่องของงบประมาณการศึกษาต่อ งบประมาณการศึกษารายหัวนักเรียน สัดส่วนครูต่อนักเรียนในแต่ละระดับ และความคิดเห็นต่อการบริหารการศึกษา
โดยสภาวะการศึกษาที่สำคัญทั้งในด้านคุณภาพการศึกษาความเสมอภาคทางการศึกษา การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ประสิทธิภาพการจัดการศึกษา และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการเร่งปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องร่วมมือกันลดช่องว่างของคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งการสอบ PISA 2022 แสดงให้เห็นถึงแนวทางในการลดช่องว่างทางการศึกษา คือการส่งเสริมให้การเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นที่บ้าน โดยมีผู้ปกครองเป็นผู้ดำเนินการหลัก การส่งเสริมการเรียนรู้ในระบบ Peer Learning ให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงและบูรณาการในการจัดการศึกษา นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาช่วยในการบริหารจัดการ เป็นต้น
การติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา (Thailand Zero Dropout)
รมช.ศธ. กล่าวว่า การติดตามและค้นหากลุ่มเด็กที่หลุดออกจากระบบฯ ของทุกหน่วยงานถือว่าดำเนินการได้เป็นอย่างดี และค้นหาติดตามอย่างเป็นระบบ ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นและความพยายามในการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กทุกคน
นอกจากนี้ผลการติดตามข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา (เด็กตกหล่น) เป็นข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลกลางของ สป.ศธ. ที่มีข้อมูลอัพเดทแบบ Real Time พบว่าเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ช่วงอายุ 6 – 15 ปี (การศึกษาภาคบังคับ) มีเด็กสัญชาติไทยจำนวน 223,712 คน และดำเนินการสำรวจ 176,368 คน และจะเร่งดำเนินการติดตามในส่วนที่เหลือต่อไป สามารถติดตามเด็กสัญชาติไทยได้ร้อยละ 79.19 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มกราคม 2568) ซึ่งถือว่าการดำเนินการค้นหาได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเตรียมการส่งต่อกลับเข้าระบบการศึกษาต่อไป
ในขณะที่จังหวัดที่มีการติดตาม “เด็กนอกระบบการศึกษา” มากที่สุดคือ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดระนอง และจังหวัดลำพูน ที่มีการติดตามได้ 100% จังหวัดที่มีความก้าวหน้ามากกว่าร้อยละ 80 เพิ่มขึ้นจาก 35 จังหวัด เพิ่มเป็น 46 จังหวัด และเขตพื้นที่ที่มีการติดตามดำเนินการครบ 100% 83 เขตพื้นที่ และในส่วนของนักเรียนตกหล่นที่สามารถกลับเข้าระบบตามสังกัดส่วนใหญ่จะเข้าสู่สังกัด สพฐ. สช. สกร. และสังกัดอื่น ทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งภารกิจที่เราต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องก็คือการเร่งค้นหาเด็กสัญชาติไทย ที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้ครบทุกจังหวัด ครบทุกคน เพื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือเลือกเส้นทางตามความถนัดและความเหมาะสมให้ได้มากที่สุด
สำหรับการขับเคลื่อน Buriram Zero Dropout Model (BZDM) เด็กและเยาวชน ช่วงอายุ 6 – 15 ปี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งในขณะนี้มีการขับเคลื่อนในระยะที่ 2 จำนวน 4,390 คน ซึ่งยังมีกลุ่มประชากรที่ไม่พบตัวในพื้นที่กว่าสามพันคน โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการย้ายถิ่นฐาน ทั้งย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ต่างจังหวัดต่างอำเภอ อยู่ในเรือนจำหรือสถานพินิจ บวชเป็นพระ/เณร หรือเสียชีวิต จึงต้องเร่งปรับปรุงแนวทางในการค้นหาต่อไป ส่วนปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้เด็กเหล่านี้หลุดออกระบบการศึกษาคือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคมและครอบครัว การศึกษา ความพิการ และสถานะทางทะเบียน ซึ่งก็ได้เตรียมแผนในการ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” และให้การสนับสนุนตามความต้องการ ทั้งเด็กทั่วไปและเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย (พิการ) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการขับเคลื่อนจะนำไปสู่ต้นแบบของการบริหารจัดการในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
“ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในเรื่องการขับเคลื่อนการศึกษา จัดการเรียนการสอน การพัฒนาโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กในระบบการศึกษาหรือเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันแก่เด็กและเยาวชนทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงการดูแลป้องกันและรักษาความปลอดภัยของบุคลากรและนักเรียนทุกคน เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กและเยาวชนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย อีกเรื่องที่อยากเน้นย้ำคือเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงเวลาการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ซึ่งอาจมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอให้บุคลากรในสังกัดทุกระดับดำเนินการอย่างเป็นกลางและปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ” รมช.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ