‘อนุทิน’ เปิดปร
29 มีนาคม 2567/ นายอนุทิน...
28 มกราคม 2568 / นายปรีดี ภูสีน้ำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจาก รมว.ศธ. และ ปลัด ศธ. ให้การต้อนรับ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กลุ่มไม้ขีดไฟ เครือข่ายบางกอกดีจัง และเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสนับสนุนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ และยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมป้องกันเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ณ ห้องประชุมธีรราช และบริเวณหน้าอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นายปรีดี ภูสีน้ำ เปิดเผยว่า ขอชื่นชมภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งนำโดยเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเดียวกันกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะขยายเครือข่าย สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้รู้เท่าทันโทษ และเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังเป็นปัญหาในสังคมไทย
สำหรับการร่วมหารือในวันนี้ ขสย. และภาคีเครือข่าย ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ในการดำเนินมาตรการเพื่อให้สถานศึกษาทุกระดับปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีข้อเสนอให้ ศธ. สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้สถานศึกษาปลอดบุหรี่ไฟฟ้า 100% และขอให้มีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า การออกกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองและปกป้องครูจากผลกระทบในการทำงาน การสนับสนุนให้ครูช่วยเด็กนักเรียนเลิกบุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งยังเสนอให้มีการสนับสนุนเครื่องมือเพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับพิษของบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็ก นักเรียน และผู้ปกครอง โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรวางแผนร่วมกันในการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ขสย. และภาคีเครือข่ายยืนยันท่าทีคัดค้านและไม่สนับสนุนการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็น “วาระแห่งชาติ” และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา โดยมุ่งเน้นการกำหนดมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ถึงโทษและพิษภัยของยาเสพติด รู้จักการปฏิเสธและหลีกเลี่ยงยาเสพติด รวมถึงการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้หลงใหลในสิ่งเสพติดและอบายมุข และยังมีการดูแลและช่วยเหลือนักเรียนที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยให้สถานศึกษาเป็นองค์กรหลักในการดำเนินงาน
ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2548 โดยกำหนดว่า นักเรียนและนักศึกษาต้องไม่ประพฤติตนขัดกับข้อบังคับของกฎกระทรวง และให้สถานศึกษาสามารถกำหนดระเบียบที่เหมาะสมตามกฎกระทรวงนี้ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 2 เพื่อปรับปรุงและแก้ไขการกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเน้นส่งเสริมความประพฤติที่รับผิดชอบต่อสังคมและคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและนักศึกษา โดยนักเรียนและนักศึกษาต้องไม่ประพฤติตนในลักษณะต่าง ๆ เช่น การหนีเรียน การเสพสารเสพติด รวมถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า การทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำโครงการที่เหมาะสมกับสถานศึกษา รวมถึงการจัดทำธรรมนูญสุขภาพของนักเรียน ซึ่งจะเป็นกรอบปฏิบัติที่สถานศึกษาสามารถนำไปใช้ในการออกแบบกฎระเบียบของตัวเอง ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการใช้สารเสพติด เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ง่ายในปัจจุบันและอาจเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบจากกลุ่มเพื่อนหรือสังคม
“ที่ผ่านมา ศธ. ได้สั่งการให้ทุกสถานศึกษาในสังกัดสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยห้ามสูบในสถานศึกษาและกำหนดให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบเดียวกันกับการห้ามสูบบุหรี่ธรรมดา ผู้บริหารและคณะครูต้องร่วมกันตรวจตราภายในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด เพื่อผลักดันนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้สามารถลดอัตราการเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ