รองปลัด ศธ. “พิเช
26 กรกฎาคม 2567 / นายสุเท...
กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น / วันที่ 13 – 16 มกราคม 2568 คณะผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมตามคำเชิญของมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา (Sasakawa Peace Foundation: SPF) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษาและการดูแลนักเรียนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศร่วมกับมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา (Sasakawa Peace Foundation: SPF) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คณะผู้บริหาร ศธ. ได้มีโอกาสเข้าพบ Mr.Akio FUJIWARA ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศญี่ปุ่น นางปรางทิพย์ กาญจนหัตถกิจ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว และ Mr.Yasuharu SHIMODA ผู้ตรวจการการศึกษาประจำเมืองโยโกฮามา เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการบริหารและการจัดการศึกษาของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังร่วมรับฟังการบรรยายจากมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา และมูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan International Labour Foundation: JILAF) และร่วมหารือความร่วมมือด้านการศึกษาภายใต้โครงการสนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติผ่านการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างไทยและญี่ปุ่น
ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเรียนรู้กับมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา โนเกซากาโกลคอล (Nogezaka Glocal) และมูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์ในการประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่นำร่องในประเทศไทยในการจัดตั้งระบบที่สนับสนุนส่งเสริมให้เด็กข้ามชาติสามารถเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐหรือในศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนประถมศึกษาซึรุมิ (Tsurumi Elementary School) ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนต่างชาติที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นจีน ฟิลิปปินส์ เนปาล หรือเชื้อชาติอื่น เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น และสามารถที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงสามารถที่จะปรับตัวและใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นได้อย่างมีความสุขต่อไป
นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “ขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศญี่ปุ่น ที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่เป็นต้นแบบการศึกษาที่มีระบบและคุณภาพที่ดี เป็นที่ยอมรับทั่วโลก นอกจากนี้ได้ให้ทุนสนับสนุนให้ครูไทยและนักเรียนไทยไปศึกษาและฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น และส่งครูญี่ปุ่นมาช่วยสอนที่ประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนประเทศไทยในภารกิจของ UNESCO เป็นอย่างดี ตลอดจนได้ร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาทั้งสองฝ่ายมาอย่างยาวนาน และขอขอบคุณมูลนิธิ Sasakawa Peace Foundation: SPF ซึ่งเป็นภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ที่เข้ามาสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
เพื่อให้เขามีความรู้ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย สามารถเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาได้ ซึ่งจะทำให้เขามีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมพัฒนาสังคมไทยต่อไป โดยในระยะเริ่มต้นได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ในการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู พัฒนาสื่อการเรียนการสอนร่วมกัน โดยมีมูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan International Labour Foundation: JILAF) และมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา โนเกซากาโกลคอล (Nogezaka Glocal) ร่วมจับมือไว้และไปด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ จะทำให้สร้างพลังแห่งความร่วมมือ และจะขยายผลความร่วมมือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป”
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า “จากการมาประชุมและดูงานครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มูลนิธิฯ เป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เริ่มต้นดำเนินงานเพื่อพัฒนาการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น (MEXT) รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ จัดการเรียนการสอนภาษาของประเทศต่างๆ ให้กับเด็กๆ ที่ติดตามครอบครัวไปทำงานในประเทศเหล่านั้น เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจภาษาและวัฒนธรรม ทำให้สามารถเข้าไปเรียนในโรงเรียนของประเทศนั้นๆ รวมกับเพื่อนๆ ได้อย่างมีความสุข สบายใจ ไร้ปัญหาการดำรงชีวิต เป็นการสร้างความรักความผูกพันของต่างชาติที่มีต่อประเทศที่ตนไปอยู่อาศัย นำไปสู่การสร้างสันติสุขของสังคมในประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของประเทศต่างๆ
ซึ่งการขับเคลื่อนงานของมูลนิธิฯ ในประเทศญี่ปุ่นเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการระดับชาติคือกระทรวงศึกษาธิการ (MEXT) สำนักงานการศึกษาจังหวัด (Prefecture Board of Education Office) สำนักงานการศึกษาระดับเทศบาล (Municipality Board of Education) รวมทั้งสถานศึกษาและภาคเอกชน ทำให้เห็นการทำงานที่เป็นระบบอย่างชัดเจน เพื่อให้นักเรียนได้เตรียมการเรียนรู้อย่างมีความสุข สอดคล้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดนโยบายสำคัญคือ “เรียนดี มีความสุข” เป็นการให้ความสำคัญกับนักเรียนทุกกลุ่มในประเทศไทย โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No Child Left Behind) ซึ่งการเรียนรู้จากต้นแบบที่ดีจากญี่ปุ่น จะนำมาปรับใช้ในการจัดการศึกษาของไทยได้เป็นอย่างดี”
“กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดนโยบายสำคัญคือ “เรียนดี มีความสุข” เป็นการให้ความสำคัญกับนักเรียนทุกกลุ่มในประเทศไทย โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No Child Left Behind) เมื่อได้เรียนรู้ต้นแบบที่ดีจากญี่ปุ่น จะนำมาปรับใช้ในการจัดการศึกษาของไทยได้เป็นอย่างดี”
นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “การเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาพบปะและหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา และมูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งร่วมพิธีลงนาม MOU ระหว่างกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา ตลอดจนการหารือกับนางปรางทิพย์ กาญจนหัตถกิจ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ซึ่งทุกหน่วยงานล้วนให้ความสำคัญกับการศึกษาและความร่วมมือเหล่านี้ จะนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาการศึกษาร่วมกันต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมโรงเรียนประถมศึกษาซึรุมิ และศูนย์สนับสนุนภาษาญี่ปุ่นเมืองโยโกฮามา ซึรุมิ ฮิมาวาริ (Yokohama Tsurumi Himawari) ซึ่งจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนญี่ปุ่นที่ติดตามครอบครัวไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ และกลับมาเข้าสู่ระบบการศึกษาของญี่ปุ่น หรือนักเรียนที่มีสัญชาติอื่นที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยศูนย์สนับสนุนภาษาญี่ปุ่นเมืองโยโกฮามา ซึรุมิ ฮิมาวาริ มีนักเรียนต่างชาติ จำนวน 102 คน ส่วนมากเป็นชาวจีน สำหรับเนื้อหาการสอนจะมุ่งเน้นการสอนภาษาญี่ปุ่นขั้นต้น ประสบการณ์การใช้ชีวิตในโรงเรียน การสอนภาษาญี่ปุ่นที่เชื่อมโยงกับวิชาต่าง ๆ ซึ่ง สพฐ. สามารถนำรูปแบบการจัดการศึกษาที่ประสบผลสำเร็จมาประยุกต์และปรับใช้ให้เข้ากับบริบทการจัดการศึกษาในประเทศไทยได้ โดยคำนึงถึงความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ”
“การเรียนรู้แนวทางจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนญี่ปุ่นที่ติดตามครอบครัวไปอาศัยอยู่ต่างประเทศและกลับมาเข้าสู่ระบบการศึกษาของญี่ปุ่น รวมทั้งการสอนนักเรียนที่มีสัญชาติอื่นที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น สามารถนำมาประยุกต์และปรับใช้ให้เข้ากับบริบทการจัดการศึกษาในประเทศไทยได้”
นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวว่า “สิ่งที่ได้ค้นพบจากการมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับคนต่างด้าวในครั้งนี้คือ แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อให้ชาวต่างชาติได้เรียนรู้และเข้าใจภาษาของประเทศที่มาอยู่ถือเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะพัฒนาคุณภาพของคน เพื่อที่จะช่วยให้เขาเกิดการเรียนรู้และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมของประเทศที่จะมาเรียนได้อย่างมีความสุข การประเมินและสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อตรวจสอบความพร้อมความต้องการของเด็กนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับครูผู้สอน นอกจากนี้การพัฒนาครูผู้สอนให้รู้จักภาษาของเด็กและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีของประเทศบ้านเกิดของเด็กก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ
ซึ่งข้อค้นพบเหล่านี้จะได้นำไปพัฒนาครูผู้สอนที่จะทำหน้าที่สอนเด็กต่างชาติในประเทศไทย และสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบให้มีครูพี่เลี้ยงหรืออาสาสมัครที่รู้และเข้าใจภาษาของเด็กหรือนักศึกษาสัญชาติต่างๆ ที่สมัครเข้ามาเรียนกับเรา รวมถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภาษาไทยในภูมิภาคหรือในจังหวัดที่เราจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กต่างชาติเหล่านั้น เพื่อให้ผู้เรียนหรือให้เด็กได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ภาษาไทย ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเรียนรู้จะมุ่งเน้นการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้กับบุคคลต่างด้าวหรือบุคคลไร้สัญชาติ รวมถึงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาไทยให้ครอบคลุมทุกอายุต่อไป เนื่องจากปัจจุบันจะเป็นหลักสูตรสำหรับผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปเท่านั้น”
“กรมส่งเสริมการเรียนรู้จะตั้งศูนย์การเรียนรู้ภาษาไทยในภูมิภาคหรือในจังหวัดที่เราจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กต่างชาติ ทั้งนี้จะมีการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กต่างด้าวรวมถึงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาไทยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุต่อไป”