เสมา 1 เร่งยกระดั
28 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำ...
14 มกราคม 2568 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความห่วงใยของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถึงผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปจนถึงหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ เรื่องการรับมืออากาศหนาวเย็นจัดในประเทศไทยรอบสัปดาห์นี้ พร้อมเน้นย้ำดูแลสุขภาพจากภัยฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่แผ่คลุมหลายพื้นที่ หากโรงเรียนใดเข้าขั้นวิกฤตต้องการปิดการเรียนการสอนเพื่อความปลอดภัยของผู้เรียน ให้พิจารณาจัดสอนรูปแบบ On –site / On–hand / Online ตามความเหมาะสม
โฆษก ศธ. กล่าวว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาที่พบพว่าช่วงสัปดาห์นี้อากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบปีและรอบหลายปีที่ผ่านมา โรงเรียนทุกพื้นที่ทั่วประเทศควรตั้งรับอากาศหนาวเป็นพิเศษโดยเฉพาะโซนพื้นที่สูงที่มีอุณหภูมิหนาวจัดหรือมีลมหนาวกำลังแรง ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่การดูแลสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โรงเรียนควรกำชับให้ผู้เรียนสวมเสื้อกันหนาว ถุงมือ ผ้าพันคอ และหมวก เพื่อช่วยให้ร่างกายรักษาความอบอุ่นได้ดีขึ้น
ในช่วงหน้าหนาวของทุกปีหลายพื้นที่ในประเทศไทยมักเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 จนถึงขั้นรุนแรง สาเหตุเกิดจาก “การล้อมเกาะของอากาศ” ทำให้ฝุ่นและมลพิษที่สะสมอยู่ในอากาศไม่สามารถกระจายออกไปได้และอยู่ในพื้นที่จุดนั้นเป็นเวลานานปริมาณฝุ่นในอากาศจึงสูงขึ้น เกิดผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนที่เปราะบางต่อการเจ็บป่วยและโรคทางเดินหายใจ ทำให้เด็กมีอาการแสบแน่นจมูก แสบตา ตาแดง มีไข้ ตัวร้อน หากทิ้งอาการเหล่านี้ไว้นานเด็กจะนอนกรน หลับไม่ลึก สมองขาดออกซิเจนทำให้ง่วง ความจำไม่ดี ส่งผลต่อการเรียน สมาธิสั้น มีพัฒนาการช้าหรือร้ายแรงสุดคือเสียหายถาวร
สิ่งสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำคือหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่เด็กต้องเผชิญกับฝุ่นและควันพิษโดยตรง เช่น การเข้าแถวหน้าเสาธงตอนเช้า การออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง กิจกรรมวิชาลูกเสือ ครูควรให้เด็กอยู่ภายในอาคารให้มากที่สุด หรือหากมีความจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 และหากค่าฝุ่นสูงจนถึงขั้นวิกฤติให้สถานศึกษาพิจารณา เปิด – ปิดการเรียนการสอนตามที่เห็นสมควร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่เพราะมีความเข้มข้นของปริมาณค่าฝุ่นไม่เท่ากัน หากพื้นที่ใดอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายอาจเรียน On –site ปกติที่โรงเรียน นำส่งเอกสารแบบ On–hand ที่บ้านนักเรียน เรียน Online หรือเรียนแบบผสมผสานหลายรูปแบบแล้วแต่การวางมาตรการของสถานศึกษา เพื่อหลีกเลี่ยงการให้เด็กต้องอยู่กลางแจ้งในสภาพอากาศที่มีมลพิษสูง
ขณะเดียวกันขอชื่นชมโรงเรียนบางแห่งที่ได้เตรียมมาตรการ “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” ซึ่งมีการวางแผนที่ดีด้านระบบกรองอากาศที่ได้มาตรฐาน มีห้องปิดมิดชิด เสริมความปลอดภัยให้ห้องเรียนด้วยการใช้พัดลมดูดอากาศ ฉีดละอองน้ำจับฝุ่น เปิดช่องระบายให้อากาศถ่ายเทเล็ก ๆ เพื่อให้ฝุ่นเข้าได้น้อยที่สุด รวมถึงมีการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ผู้เรียนตระหนักถึงปัญหาฝุ่นพิษ พร้อมวางแนวทางการป้องกันและติดตามผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตและเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“กระทรวงศึกษาธิการ เข้าใจถึงผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน จึงได้วางมาตรการปกป้องดูแล และมอบอำนาจให้โรงเรียนทั่วประเทศตัดสินใจได้อย่างอิสระในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน การรับมือกับฝุ่น PM 2.5 และอากาศหนาวในปีนี้ ถือเป็นการทดสอบความยืดหยุ่นและการปรับตัวของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการศึกษา ซึ่งเราได้เตรียมมาตรการที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในสถานการณ์ที่ท้าทายเช่นนี้” โฆษก ศธ. กล่าว
พบพร ผดุงพล / ข่าว
ธรรมนารีชดช้อย / กราฟิก