รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา บุคลากร ตลอดจนประชาชนทั่วไป ร่วมกิจกรรมงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส “พระราชพิธีสมมงคล” พระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) “The Auspicious Occasion of His Majesty King Maha Vajiralongkorn Phra Vajiraklaochaoyuhua Attaining the Same Age as His Majesty King Buddha Yodfa Chulalok the Great (Rama I)” สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568

ความสำคัญของพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในวันที่ 14 มกราคม 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน เป็นวันสมมงคล (สะ-มะ-มง-คน หมายถึง เสมอกัน) เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง การบําเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการี เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงอนุสรณ์คํานึงถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในวาระต่าง ๆ การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นี้เป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมา

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 4 วาระ

1. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508

2. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2528

3. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534

4. การพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งนับพระชนมวารได้ 26,469 วัน โดยครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำรงรัฐสีมาอาณาจักร เพื่อทรงทำนุบำรุงความสุขให้แก่ประเทศและประชาชนชาวไทยสืบไป

รัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 7 กิจกรรม
 


1. การจัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ระหว่างวันที่ 13 – 20 มกราคม พ.ศ. 2568 ณ สวนสราญรมย์ และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นประเพณีมงคลของชาวล้านนา ประกอบด้วยกิจกรรม ได้แก่ พิธีฮอมบุญถวายเจ้าเหนือหัว พิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ การสาธิตภูมิปัญญาในการจัดเตรียมเครื่องประกอบพิธีกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการละเล่นต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานพิธี การจัดสาธิตกาดมั่วหรือตลาดพื้นบ้านล้านนา

2. การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จะดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ภายในเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ได้แก่ พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย ซึ่งบริเวณพระเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ผู้เป็นต้นพระบรมราชจักรีวงศ์

3. การจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2568 ณ ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

4. การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

5. การจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดพิธีฯ ณ ศาสนสถานอันเป็นพระบรมราชานุสรณ์หรือเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศ วัดราชบูรณะ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดคูหาสวรรค์ วัดราชสิทธาราม วัดกาญจนสิงหาสน์วัดโมลีโลกยาราม วัดยานนาวา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดชนะสงคราม และวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร

6. การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการเสนอมหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาให้วัดทุกวัดในประเทศไทยจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล สำหรับวัดไทยในต่างประเทศ ให้พิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

7. การจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ โดยเป็นไม้มงคลหายาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ได้แก่ ตะเคียนทอง พิกุล อินจัน ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“กระทรวงศึกษาธิการ ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีสำคัญนี้ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมร่วมสืบสานประเพณีอันทรงคุณค่าและความเป็นไทยให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดินสืบไป”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก

Share This Article

Related Post