แนวทางการปฏิบัต
The post แนวทางการปฏิบัต...
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 44/2567 ย้ำ แม้จะเป็นช่วงปลายปี 2567 แต่กระทรวงศึกษาธิการ ยังคงมุ่นมั่นขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะ PISA ด้วยการ “กระตุ้น ให้กำลังใจ ขับเคลื่อน” ส่งเสริมให้นักเรียนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสอบ PISA 2025 พร้อมเร่งติดตามเด็กตกหล่นนอกระบบการศึกษาต่อเนื่อง รวมทั้งกำชับทุกหน่วยงานในเรื่องความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาต้องมาเป็นอันดับแรก
25 ธันวาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 44/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting
ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. และนายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว
สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
การยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA
รมว.ศธ. กล่าวว่า ถือเป็นมิติที่ดีในการพัฒนา และขอให้นำทฤษฎีระบบมาใช้เพื่อมองภาพองค์รวมของการดำเนินงาน กระบวนการวัดคุณภาพของนักเรียนชั้น ม.3 หาวิธีการส่งเสริมให้เด็กให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสอบ รวมถึงนักเรียนทุกระดับ ไม่ใช่เพียงการสอบ PISA เท่านั้น แต่หมายถึงการสอบในทุกประเภท ต้องมีการ “กระตุ้น ให้กำลังใจ ขับเคลื่อน” พัฒนาทักษะ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบ PISA 2025
ความก้าวหน้าการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบในระดับเขตพื้นที่ ในด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในรูปแบบออนไลน์ Classroom 80 Classroom (77 จังหวัด +สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ +หน่วยงานในสังกัดอื่นที่ประสงค์เข้าร่วม) จากการดำเนินงานที่ผ่านมามีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเป้าหมายในปี 2568 ต้องมีผู้ลงทะเบียน มากกว่า 4 แสนคน และผู้ที่ลงทะเบียนแล้วต้องดำเนินการอบรมให้แล้วเสร็จ เพื่อนำผลจากการพัฒนาไปขับเคลื่อนให้ได้เร็วและมากที่สุด โดยมีการติดตามการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้เป็นระยะเพื่อนำผลมาสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา
การพัฒนาฯ โดยใช้ PISA Gamification ได้มีการนำไปใช้ในหลายโรงเรียนและทำให้นักเรียนสนใจมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้บริหารและครูที่นำไปพัฒนาภายในชั้นเรียน หรือมีการกำกับติดตามในเขตพื้นที่การศึกษามีผลการดำเนินงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ จะได้รับรางวัลการนำเสนอยอดเยี่ยม จาก รมว.ศธ. เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งมีสำนักงานเขตพื้นที่ในจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนได้ 100% อาทิ สพม.พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ที่มีผู้เข้าอบรมครบ 100% และมีการดำเนินการเรียบร้อย และพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายในปี 2568 ต่อไป
การติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา (Thailand Zero Dropout)
รมว.ศธ. กล่าวว่า การค้นหาติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ต้องหาวิธีการให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับทั้งหมด และหาปัจจัยที่เด็กออกนอกระบบว่าสาเหตุจริง ๆ เกิดจากสิ่งใด โดยเฉพาะปัจจัยด้านความขาดแคลน ซึ่งถ้าพบก็ต้องมีการประสานให้การช่วยเหลือ และหาวิธีการในการติดตามดูแลให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ผลการติดตามข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา เป็นข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลกลางของ สป.ศธ. ที่มีข้อมูลอัพเดทแบบ Real Time ซึ่งพบว่าขณะนี้มีนักเรียนตกหล่น 616,625 คน และมีการติดตามแล้ว 181,436 คน ในขณะที่นักเรียนออกกลางคันมี 106,966 คน ติดตามแล้ว 18,334 คน
ในขณะที่เด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา (เด็กตกหล่น) ที่มีจำนวน 1.025 ล้าน เป็นเด็กสัญชาติไทย จำนวน 767,304 ในปีนี้เราสำรวจตัวตนจำนวนเด็กสัญชาติไทยไปแล้ว 426,688 คน (ข้อมูล ณ วันที 23 ธันวาคม 2567)
เขตพื้นที่ที่มีการติดตาม “นักเรียนตกหล่น” มากที่สุดคือ สพป.สิงห์บุรี สพป.บุรีรัมย์ เขต 2 และ สพป.อุทัยธานี เขต 1 มีการติดตามได้ 100% และเขตพื้นที่ที่มีการติดตาม “นักเรียนออกกลางคัน” ครบ 100% คือ สพม.นครราชสีมา สพม.พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สพม.ยะลา สพป.บุรีรัมย์ เขต 1, เขต 2, เขต 4 สพป.พะเยา เขต 1 และ สพป.อุทัยธานี เขต 1
ในส่วนของเขตพื้นที่ที่สามารถดึง “นักเรียนตกหล่น” กลับมาเรียนได้มากที่สุดคือ สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 1 สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 และ สพป.สงขลา เขต 3 เขตพื้นที่ที่ดึง “นักเรียนออกกลางคัน” กลับมาเรียนได้มากที่สุด คือ สพม.บุรีรัมย์, สพม.นครราชสีมา และ สพม.นครพนม ต้องขอขอบคุณในความตั้งใจและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหา
ซึ่งภารกิจที่เราต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องก็คือการเร่งค้นหาเด็กสัญชาติไทย ที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้ครบทุกจังหวัด ครบทุกคน เพื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือเลือกเส้นทางตามความถนัดและความเหมาะสมให้ได้มากที่สุด
กระทรวงศึกษาธิการมอบของขวัญปีใหม่ 2568
รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ. มอบของขวัญปีใหม่ 2568 เพื่อประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสุขและความสะดวกสบายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่เน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะ และการสนับสนุนประชาชนในด้านต่าง ๆ
ด้วยการเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะดิจิทัล AI 12 หลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กิจกรรมศึกษาภัณฑ์ New Year Sale 2025 จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าราคาพิเศษ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง การ สนับสนุนองค์ความรู้ โดยการแจกวารสารสาระความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี MWIT (โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์) และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอาชีวศึกษาช่วยประชาชน ส่งสุขปลอดภัยตลอดการเดินทาง จัดตั้งจุดบริการตรวจสภาพรถเบื้องต้น และบริการด้านอื่น ๆ ตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่กว่า 150 แห่งทั่วประเทศ รองรับทั้งถนนสายหลักและสายรอง พร้อมทั้งมีลูกเสือจิตอาสาเพื่อประชาชนกว่า 3 หมื่นคน ที่จะคอยช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่
ความปลอดภัยทั้งภายในและบริเวณโดยรอบสถานศึกษา
รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรทุกคน เพราะความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือกันป้องกันและออกมาตรการในการดูแลนักเรียนในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางท้องถนนที่เกิดขึ้น ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ไปยังสังคมให้ตระหนักถึงการใช้ถนนบริเวณโรงเรียนหรือสถานศึกษา และมอบหมายให้ สพฐ. และ สอศ. ประสานเร่งจัดทำเส้นชะลอความเร็ว รวมถึงอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในโรงเรียน
ความปลอดภัยของนักเรียนไม่ใช่เรื่องที่ควรทำเพียงครั้งคราว แต่ต้องป้องกันและดูและตลอดเวลา โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในระบบการศึกษาไทยให้ดียิ่งขึ้น อาทิ ประสานกระทรวงคมนาคมของบประมาณจัดทำป้าย “ลดความเร็ว” และ “เขตโรงเรียน” เพื่อเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนระมัดระวังการขับขี่เมื่อเข้าสู่บริเวณสถานศึกษา รวมทั้งให้มีลูกระนาดชะลอความเร็ว ตามความเหมาะสมของบริบทเชิงพื้นที่นั้น ๆ
“ในมิติของการทำงาน ขอบคุณบุคลากรทุกคนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละตลอดปี 2567 ที่กำลังจะผ่านไป ในการร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ภารกิจทุกภารกิจมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงานที่ต้องดำเนินงานอย่างเร่งด่วน รมว.ศธ. เชื่อว่าพวกเรามี “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ทุกหน่วยงาน ในส่วนของ ศธจ. ศธภ. ก็มีการบูรณาการการทำงานมากขึ้น เป็นมิติของความร่วมมือร่วมใจเพื่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบุคลากรทุกคน จะยังคงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน นักศึกษา พร้อมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความสุขในการเรียนรู้ สามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เพื่ออนาคตที่สดใสของประเทศไทย ขอให้พวกเรา “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ต่อไปในปี 2568“
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มญาติ / วิดีโอ