ศธ.แต่งตั้ง “วรั
กระทรวงศึกษาธิการ แ...
20 ธันวาคม 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีสำหรับนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand-Japan Student ICT Fair 2024 (TJ-SIF 2024) โดยมีนายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ผู้บริหาร ครู และนักเรียน จำนวน 545 คนเข้าร่วม ณโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล
รมว.ศธ. กล่าวว่า งานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ ICT เป็นเวทีที่ให้นักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่นแสดงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคนทางด้าน STEM สู่การขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการเชื่อมโยงเราทุกคนข้ามพรมแดน และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือผ่านการแสดงผลงานและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน
นอกจากนี้ ยังมอบโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแบ่งปันความคิดและเรียนรู้จากกันและกัน สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์โครงการใหม่ที่เป็นประโยชน์สู่เวทีโลก พร้อมความรับผิดชอบต่อการใช้งานอย่างปลอดภัย ซึ่งจากนี้เราต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ เสริมความรู้ดิจิทัลให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และสิ่งสำคัญที่สุดคือการวางเป้าหมายอนาคตที่อยู่ในมือของทุกคน ใช้เทคโนโลยีในการสร้างโลกที่ดีกว่าให้เต็มไปด้วยนวัตกรรมการเรียนรู้และมิตรภาพที่ยั่งยืน
ขอให้ผู้เข้าร่วมทุกคนใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมมีส่วนร่วมกับเพื่อนให้เกิดเป็นเครือข่ายข้ามประเทศ ขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในการทำให้กิจกรรมนี้เกิดขึ้น ความทุ่มเทที่น่ายกย่องนี้นับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจให้เยาวชนทั้งสองประเทศ เราจะใช้โอกาสนี้ทำให้งาน Thailand-Japan Students ICT Fair 2024 เป็นมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ ICT เป็นที่น่าจดจำของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่นต่อไป
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนทุกคนให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ส่วนหนึ่งคือให้ความสำคัญในการพัฒนานักเรียนที่มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยของประเทศไทย และ Super Science High Schools ของประเทศญี่ปุ่น ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจาก สพฐ. ร่วมกับสถาบัน KOSEN โค-เซ็น สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ด้วยดีเสมอมา เกิดเป็นภาพความสำเร็จผ่านงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและ นักเรียนญี่ปุ่นมาถึงทุกวันนี้
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 22 ธันวาคม 2567 เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศ โดยภายในงานมีสิ่งประดิษฐ์ ICT ของนักเรียนที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งมีผู้แทนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 18 แห่ง, สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 18, แห่ง Super Science High Schools 14 แห่ง, สถาบัน KOSEN 11 แห่ง, โรงเรียนคู่มิตรไทย 11 แห่ง, โรงเรียนรับเชิญไทย 5 แห่ง และโรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดสตูล รวมทั้งสิ้น 61 แห่ง เข้าร่วม
ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย
1. การนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีจำนวน 137 ผลงานในรูปแบบ Poster Presentation และ Oral Presentation
2. นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีและหุ่นยนต์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
3. การบรรยายด้าน ICT โดยนักวิทยาศาสตร์ไทยและญี่ปุ่น
4. ICT Workshop สำหรับนักเรียน
5. การศึกษาแหล่งเรียนรู้ด้าน ICT ในจังหวัดสตูล
6. การประชุมวิชาการผู้นำทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น (TJ-ELS 2024) ในหัวข้อ AI for Education
7. การแข่งขัน Game Programming Hackathon
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมนิทรรศการออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://tj-sif2024.pcshsst.ac.th/member/ex_proj.php
พบพร ผดุงพล / ข่าว
นัทสร ทองกำเหนิด / คลิปวิดีโอ
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ