ศธ. ขอบคุณนายกฯ แ
7 ธันวาคม 2567 – นายสิร...
กระทรวงศึกษาธิการ – 14 พฤศจิกายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมการประชุมความร่วมมือ 3 ภาคส่วน รวมพลังสานอนาคตการศึกษาไทยที่ยั่งยืน CONNEXT ED CONFERENCE 2024 พร้อมด้วยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยมีพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เป็นประธานการประชุมฯ ณ หอประชุมคุรุสภา
รมว.ศธ. เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมฯ ว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นการเชื่อมความร่วมมือของทั้ง 3 ภาคส่วน ในการยกระดับแผนการดำเนินงานให้พร้อมรับกับความท้าทายการศึกษายุคดิจิทัล ด้วยการปรับเกณฑ์ตัวชี้วัดประเมินคุณภาพโรงเรียนให้เข้มข้นขึ้น จาก 44 เป็น 53 ข้อ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน รวมทั้งปรับคณะทำงานเป็น 5 คณะ เพื่อให้การดำเนินงานชัดเจนตามยุทธศาสตร์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 1. คณะทำงานด้านการวิจัยและการประเมินคุณภาพการศึกษา 2. คณะทำงานด้านการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3. คณะทำงานด้านการพัฒนาผู้นำและบุคลากรทางการศึกษา 4. คณะทำงานด้านหลักสูตรและการสอน และ 5. คณะทำงานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี ที่อยู่ในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศทั้งสิ้น 6,949 แห่ง (ปี 2567 เพิ่ม 1,808 แห่ง) และเริ่มมีการใช้ระบบสนับสนุนการดําเนินงานของผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (School Partner ) จากองค์กรเอกชนที่เข้ามาร่วมดูแลและพัฒนาคุณภาพโรงเรียน (School Management System) มีนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษากว่า 2.3 ล้านคน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพ มากกว่า 8 หมื่นราย โดยมูลนิธิฯ มีเครือข่ายพันธมิตรทั้ง 3 ภาคส่วน ในปัจจุบันทั้งสิ้น 55 องค์กร ที่ร่วมมือขับเคลื่อนยกระดับการศึกษา มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส (Transparency)
มีนโยบายนำระบบ School Management System ที่มีเกณฑ์การวัดคุณภาพโรงเรียนในด้านต่าง ๆ อย่างครอบคลุม มาใช้ประเมินคุณภาพโรงเรียน 1,808 แห่งที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีล่าสุด
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanisms)
จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) อย่างต่อเนื่อง เสริมทักษะต่างๆ ทั้งทักษะความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม และทักษะการสื่อสาร พร้อมจัดทำตัวชี้วัด School Partner และคัดเลือก School Partner ต้นแบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals & Teachers)
สพฐ. มีนโยบายเห็นชอบให้มีตำแหน่ง ICT Talent ภาครัฐ โดยเริ่มจากโรงเรียนคุณภาพ และขยายสู่โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศไทย อีกทั้งสำนักงาน ก.ค.ศ.ประกาศหลักเกณฑ์การโอนย้าย การประเมินวิทยฐานะ และการปรับเงินเดือนข้าราชการครู ตามนโยบายของ ศธ. รวมทั้งพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ด้วยการจัดการอบรมเสริมทักษะสำคัญต่าง ๆ อาทิ ทักษะการบริหาร การนิเทศชี้แนะ ภาษาที่สอง การจัดการเทคโนโลยีและดิจิทัล การจัดการเรียนรู้เชิงรุก และจิตวิทยา
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum)
ขยายผลนำโมเดลต้นแบบ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน” หรือ Learning Center ไปสู่โรงเรียนคุณภาพภายในปีการศึกษา 2567 และมีนโยบายจัดตั้ง Learning Center ใน 245 เขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด 1 เขต 1 โรงเรียนคุณภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures)
โดย มติ ครม.เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 อนุมัติจัดสรรแท็บเล็ต และโน้ตบุ๊ก จำนวน 6 แสนเครื่องให้นักเรียนและครู (ปีงบประมาณ 2568 – 2572) ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ ทุกเวลา ระยะที่ 2 เพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. จำนวนกว่า 29,000 แห่ง
“ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ซึ่งมีความสำคัญในด้านการบริหารการศึกษาในทุกมิติ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการสนับสนุนทางการศึกษา โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในด้านที่ 3 คือการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและการพัฒนาครูผู้สอน เป็นมิติของความร่วมมือ และมิติของการร่วมพัฒนา ที่มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน ถือเป็นการทำความดีโดยการสร้างโอกาสและอนาคตทางการศึกษาให้กับเด็กไทย ขอเชิญชวนภาคเอกชนที่ต้องการสนับสนุนทางด้านการศึกษา หรือการทำ CSR ของบริษัท มาร่วมกันพัฒนาโรงเรียนที่ท่านมีความประสงค์ให้การช่วยเหลือ ร่วมกันทำบุญโดยการสนับสนุนทางการศึกษา ร่วมกันสร้างความก้าวหน้าเพื่อพัฒนาคุณภาพให้กับอนาคตของประเทศไทยอย่างยั่งยืน”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
The post ศธ.ขยายความร่วมมือ ดึงเอกชน-ประชาสังคม ยกระดับการศึกษาไทย รับความท้าทายยุคดิจิทัล appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.