ในวาระวันนวมินทรมหาราช ปี 2567 เราต่างรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงวางรากฐานการศึกษาไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืนเพื่ออนาคตพระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในทุกด้าน ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ โดยมุ่งหมายให้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาชาติให้ยั่งยืนและก้าวไกลสู่ความทันสมัย

หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของรัชกาลที่ 9 ด้านการศึกษา คือ การส่งเสริมและพัฒนาระบบการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทรงริเริ่มโครงการหลากหลายที่เน้นความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา ดังพระราชดำรัสหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา คือ

“การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคลสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุก ๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด” (ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2524) แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเน้นถึงการศึกษาที่ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในตำราเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาคนให้มีทักษะในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน

พระองค์ทรงเน้นการศึกษาที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตจริงของประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการศึกษาที่ประยุกต์เข้ากับบริบทของสังคมไทย ทรงก่อตั้งโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในด้านการเกษตร การพัฒนาอาชีพ และการสร้างภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ยังคงเชื่อมโยงกับการศึกษาในยุคปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

เมื่อเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคน รากฐานการศึกษาไทยที่พระองค์ทรงวางไว้นั้นยังคงเป็นเสาหลักในการพัฒนาการศึกษาเพื่ออนาคต การเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัลและการศึกษาออนไลน์ที่แพร่หลายในปัจจุบันสามารถสะท้อนถึงแนวคิดการศึกษาที่พัฒนาตนเองและชุมชนที่พระองค์ทรงส่งเสริม เช่น โครงการโรงเรียนไกลกังวล ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ในการเรียนการสอนระหว่างครูและนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล นับเป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค

ในยุคที่การศึกษาต้องปรับตัวตามเทคโนโลยี ครูเป็นผู้ที่ต้องปรับบทบาทตามไปด้วย จากการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้สู่การเป็นผู้นำทางความคิด และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ พระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ในโอกาสต่าง ๆ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทครูที่ต้องเป็นทั้งผู้ให้ความรู้ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ และผู้ชี้แนะแนวทางชีวิตที่ดีให้แก่ศิษย์

“วิชาการทั้งปวงนั้นถึงจะมีประเภทมากมายเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อนำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งใดก็ต้องใช้ด้วยกัน หรือต้องนำมาประยุกต์เข้าด้วยกันเสมอ อย่างกับอาหารที่เรารับประทาน กว่าจะสำเร็จขึ้นมาให้รับประทานได้ ต้องอาศัยวิชาประสมประสานกันหลายอย่างและต้องผ่านการปฏิบัติมากมายหลายอย่างหลายตอน ดังนั้นวิชาต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ถึงกันและมีอุปการะแก่กันทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์และฝ่ายศิลปศาสตร์ ไม่มีวิชาใดที่นำมาใช้ได้โดยลำพัง หรือเฉพาะอย่างได้เลย” (3 สิงหาคม 2521)

ด้วยแนวคิดดังกล่าว ครูในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องรับบทเป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน สร้างสรรค์การเรียนรู้ที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ การให้โอกาสเด็กได้แสดงความคิดเห็นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดีมีความสุข” ที่เน้นให้การศึกษามีความสนุกสนาน และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทั้งด้านความรู้และอารมณ์ของผู้เรียน

นโยบายเรียนดีมีความสุขนั้นเป็นการสานต่อแนวทางของรัชกาลที่ 9 ที่มุ่งเน้นให้การศึกษาพัฒนาคนทั้งในเชิงวิชาการและเชิงคุณธรรม โดยมีเป้าหมายให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ และสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ การลดภาระของครูและผู้เรียนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่ส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกและสร้างสรรค์

การลดภาระครู ไม่ใช่เพียงการลดภาระด้านการสอนและงานเอกสารเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมศักยภาพครูให้สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการพัฒนาห้องเรียน นอกจากนี้ยังต้องลดภาระผู้เรียนโดยการออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นทักษะที่แท้จริงและการนำไปใช้ได้จริง

ในท้ายที่สุด การพัฒนาการศึกษาไทยในยุคเทคโนโลยี ก็คือการนำรากฐานและแนวคิดจากพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้และสานต่อ พระราชดำริที่เน้นให้การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาชาติยังคงมีความสำคัญในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

ในวาระวันนวมินทรมหาราชนี้ ชาวกระทรวงศึกษาธิการขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ และมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานในการพัฒนาการศึกษาไทยเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติสืบไป.

ข้อมูลจาก

เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://www.thaihealth.or.th/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%97-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%94%E0%B8%B3-13/

เว็บไซต์คมชัดลึก
https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/298799

เรียบเรียงโดย ปารัชญ์ ไชยเวช
อานนท์ วิชานนท์ / กราฟิก
กลุ่มสารนิเทศ สำนักอำนวยการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา

The post “เรียนดีมีความสุข” จากพระบรมราโชวาทรัชกาลที่ 9 สู่การวางรากฐานศึกษาแห่งอนาคต appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post