แผนการพัฒนาลูกเ
แผนการพัฒนาลูกเสือ...
25 กันยายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 7/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และระบบออนไลน์ Zoom Meeting
รมว.ศธ. กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง นับเป็นเวทีและเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทย ในการแสดงศักยภาพและบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ การสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิก และสร้างแนวทางการพัฒนาการศึกษาร่วมกันกับประเทศอื่น ๆ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องขอบคุณความร่วมมือของทุกหน่วยงานในประเทศที่เกี่ยวข้อง ที่เสียสละกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ช่วยผลักดันให้งานในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ จนได้รับเสียงชื่นชมในระดับนานาชาติ
การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนมีประเด็นสำคัญ คือความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งด้านสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของงาน ความร่วมมือในด้านการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้กรอบอาเซียน อาเซียนบวกสาม และอาเซียนกับคู่เจรจาภายใต้กรอบ EAS โครงการด้านการศึกษา เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา การประกันคุณภาพการศึกษา ทุนการศึกษา การวิจัย การพัฒนาครู แพลตฟอร์ม เพื่อการเรียนการสอน เป็นต้น
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับปรุงในหลายด้าน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนและประชาชน ให้สามารถรับมือกับความท้าทายของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือในอนาคต ดังนั้นจึงต้องมีการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยการเสริมหลักสูตรที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศ และความยั่งยืน เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบและร่วมกันคิดค้นแนวทางในการแก้ไขที่อาจเกิดขึ้น
รวมถึงการพัฒนาทักษะสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน จึงต้องมีการปรับหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะ ที่จำเป็นสำหรับอาชีพใหม่ ๆ เช่น การจัดการพลังงานทดแทน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติ หรือภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน รวมไปถึงการจัดการภัยพิบัติและการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์ต่าง ๆ จะช่วยให้เยาวชนไทยเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสร้างโลกที่ยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต
สำหรับความสำคัญของการปรับตัวในยุคดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ และส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการเรียนการสอน ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการศึกษาได้อย่างไม่จำกัด ช่วยลดช่องว่างทางการศึกษา และช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย
สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน และสามารถปรับเนื้อหาและวิธีการสอนให้เหมาะสมกับความสามารถ ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน ส่งผลให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมาก ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาใช้ในการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทุกวัยสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะ ได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวคิดของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
การส่งเสริมเชิงนวัตกรรมเพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมสำหรับโลกดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาในด้านทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ควรมีการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ โดยเฉพาะการศึกษาในนวัตกรรม มุ่งเน้นการฝึกให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์ข้อมูล ตั้งคำถามและประเมินข้อเท็จจริง โดยเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในโลกดิจิทัลที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
“การประชุมฯ ครั้งนี้ ประเทศไทยได้บทเรียนสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การเป็นผู้นำในด้านการศึกษา ปรับตัวให้ทันสมัย เติมทักษะที่จำเป็นในอนาคต เพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งยังเป็นโอกาสในการยกระดับนโยบายการศึกษาให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีการศึกษาระดับโลก ในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือการขับเคลื่อนการศึกษาในยุคดิจิทัล สิ่งสำคัญคือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อไทย ในฐานะประเทศที่มีความพร้อม และเป็นศูนย์กลางของการเจรจาและความร่วมมือระดับนานาชาติ”
ท้ายสุดนี้ ขอให้ทุกท่านร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “เพื่อเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” เพื่อให้ประเทศมีความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”โดยการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 14 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ประเทศสิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปี คศ. 2026 หรือ 2027
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
The post “เพิ่มพูน” ให้เครดิตทุกภาคส่วน ร่วมมือกันผลักดัน ASED 2024 ยกระดับบทบาทไทยในเวทีการศึกษาโลก appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.