18 กันยายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 31/2567 และถือเป็นการประชุมผู้บริหาร ศธ.ครั้งแรก หลังจากมอบนโยบายในโอกาสเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 2 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

รมว.ศธ. กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมประสานภารกิจครั้งแรกหลังจากที่ได้มอบนโยบายการศึกษาไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการติดตามการดำเนินการต่าง ๆ ที่ได้สั่งการให้หน่วยงานรับไปปฏิบัติ ก็จะมีการทบทวนการดำเนินการ 3 ปีจากนี้ไปว่าเราจะทำอะไรต่อบ้าง เพื่อตอบสนองนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล เช่น เพิ่มเติมการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการศึกษาที่เท่าเทียม รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการในการทำงานหรือการศึกษา ทั้งนี้แผนงานต่าง ๆ เราต้องทำงานเป็นทีมมีการพูดคุยกันอยู่ตลอด เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านงานก็ขอให้หารือกันเพื่อจะได้ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นการทำงานเชิงระบบ

การขอรับอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง เพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติจากสถานการณ์อุทกภัย

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วม มี 30 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่ง 3 จังหวัดที่รุนแรงที่สุด คือ เชียงราย พระนครศรีอยุธยา และหนองคาย ขณะที่ผลสำรวจหน่วยงานในสังกัด ศธ. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พบความเสียหายดังนี้ 1) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย และโรงเรียนเอกชน 6 แห่ง (สังกัด สป.)  2) หน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) 36 แห่ง 3) โรงเรียนในสังกัด สพฐ. 456 แห่ง 4) สถานศึกษาในสังกัด สอศ. 45 แห่ง รวมประมาณการเสนอขอรับอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางเพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติ จำนวน 197.67 ล้านบาท

ในการนี้ รมว.ศธ. ได้เน้นย้ำการทำงานว่าก่อนเกิดเหตุต้องมีการซักซ้อมเตรียมการรับมือภัยพิบัติให้เรียบร้อย เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการอย่างไรบ้าง ส่วนกลางสามารถเชื่อมต่ออะไรได้บ้าง เป็นต้น ทั้งนี้ได้รายงานในที่ประชุม ครม. ไปแล้วว่าในส่วนของ ศธ. มีสถานศึกษาได้รับความเสียหายหลายแห่ง ไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ อุปกรณ์การเรียนการสอนสูญหายไปกับน้ำ ขอให้เร่งทำขออนุมัติจัดสรรงบกลางฯ ให้เร็วที่สุด เรื่องแบบนี้ช้าไม่ได้ สำรวจความเสียหายมีเท่าไหร่ ก็ดำเนินการเสนอส่งไปก่อน แล้วหากไม่เพียงพอจึงค่อยทำของบประมาณเพิ่มเติมต่อไป

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567

จากข้อมูลของสำนักงบประมาณ ศธ. สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้เป็นอันดับที่ 1 จากทั้งหมด 24 หน่วยงาน คิดเป็น 100.09% ด้านข้อมูลสถานะรายจ่ายเงินลงทุน 2567 และเงินจัดสรรเหลือจ่าย ณ วันที่ 13 ก.ย. 2567 มีจำนวนรายการที่ลงนามในสัญญาแล้ว 98.90% และเบิกจ่ายแล้ว 55.82%

รมว.ศธ. กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ตอนนี้ ศธ. มีการเบิกจ่ายเป็นอันดับ 1 ของหน่วยงานราชการ เป็นผลมาจากการช่วยกันคนละไม้คนละมือในการทำงาน ทั้งรมช.ศธ. ในการกำกับดูแลการทำงาน คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. ในการประสานงาน และหัวหน้าแท่งต่าง ๆ ที่ช่วยในการขับเคลื่อน ถึงแม้ว่างบลงทุนบางส่วนจะยังลบอยู่ แต่คิดว่าน่าจะดำเนินการทันในปีนี้ทั้งหมด รวมทั้งได้มอบนโยบายไปว่าในช่วงกลางปีหน้าควรจะจัดการให้เรียบร้อย เพื่อจะได้รู้ว่ามีเงินเหลือจ่ายเท่าไหร่ จะได้นำมาบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การติดตามผลการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางการประเมิน PISA

ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายงานผลการการยกระดับฯ PISA ของ สพฐ. 5 ประเด็น ดังนี้

1. ความก้าวหน้าของการนำชุดพัฒนาไปใช้ ฯ (เล่ม 3 และ 4) นักเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 662,300 คน (ม.2 และ ม. 3) ได้รับการพัฒนาผ่านชุดพัฒนาฯ จำนวน 506,374 คนโดย 78.23% นำไปบูรณาการวิชาพื้นฐาน 13.15% ไปบูรณาการกับรายวิชาเพิ่มเติม 8.62% ด้านอื่น ๆ เช่น รายวิชาเพิ่มเติม กิจกรรมเสริมหลักสูตร ชั่วโมงเสริม เป็นต้น และผลการเข้าใช้ระบบนักเรียนเข้าสู่ระบบ Computer Based Test PISA Style Online Testing มีนักเรียนที่ฝึกทำข้อสอบในระบบ PISA แล้ว จำนวน 729,825 คน (ม.2 และ ม.3)

2. การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางการประเมิน PISA 245 เขต +1 (สศศ.) กลุ่มเป้าหมาย คือ ครูสอนวิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์และศึกษาสงเคราะห์ 52 โรงเรียน เพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินตามแนวทาง PISA การออกแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ฯ การสร้างแรงจูงใจ และการนำนักเรียนเข้าระบบ Computer Based test รูปแบบการพัฒนาผ่านระบบ Online ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2567 และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน “โรงเรียนพี่-โรงเรียนน้อง” ให้บริการวิชาการโดย 12 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สู่ 52 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์/ศึกษาสงเคราะห์ ด้วยโครงการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) และนำนักเรียนโรงเรียนน้องเข้าระบบการสอบ PISA แบบ Computer Based Test

3. ผลการสุ่มติดตามร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อน PISA ณ จังหวัดชลบุรี ข้อค้นพบจากการลงติดตาม พบว่าครูผู้สอนในแต่ละโดเมนต้องร่วมมือกับครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ในการนำนักเรียนเข้าสู่ระบบ และครูผู้สอนมีความพร้อมในการออกแบบและวางแผนในการพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนในภาคเรียนที่ 2/2567 ร่วมกับเขตพื้นที่ฯ

4. ภาพสะท้อนการใช้ PISA Gamification พบว่าเป็นสิ่งที่ตรงกับเจนเนอเรชั่นของนักเรียน ซึ่งคุณครูกชนุช แก้วสุรินทร์ รายงานว่านำ application เกมไปใช้ในกิจกรรมฝึกฝนการอ่านผลปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักเรียนมาก นักเรียนประทับใจมาก ไม่รู้สึกเบื่อ และมีความสนุกสนาน ทุกคนต่างบอกว่าชอบ จึงคิดว่าจุดนี้น่าจะขยายผลเพิ่มเติมได้ซึ่ง สพฐ.มีช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว

5. กิจกรรม “การอ่าน” เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต Reading For Lifelong Learning สพฐ.เน้นการอ่านเพื่อพัฒนาการคิด สู่การเตรียมความพร้อมสมรรถนะความฉลาดรู้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ได้จัดนิทรรศการนำเสนอกิจกรรมการอ่านที่หลากหลาย ในรูปแบบหนังสือและ Digital รวมถึงกิจกรรมที่แสดงถึงความสำคัญของการอ่านในทุกช่วงวัย

รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท. นำเสนอผลการการยกระดับฯ PISA ของ สสวท. โดยมีการประชุมคณะทํางานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 ซึ่งที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ในโรงเรียนของสังกัดต่าง ๆ และรายงานความคืบหน้าในการติดตามการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบและให้ข้อคิดเห็นเรื่องความคืบหน้าในการจัดกิจกรรมอบรมครูเพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามแนว PISA

สำหรับผลการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ใช้ในการเรียนการสอน และการนำนักเรียนฝึกทำข้อสอบแนว PISA โรงเรียนเอกชนของสังกัด สช. ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 286 แห่ง จากโรงเรียน 341 แห่ง ส่วนสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร รายงานผลการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 จำนวน 82 โรงเรียน จากทั้งหมด 109 โรงเรียน 75.23% ด้านสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจัดงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่นและงานแข่งขันทักษะวิชาการ ระดับประเทศ มีกิจกรรมการประกวดแข่งขันสมรรถนะความฉลาดรู้ตามแนวทางการประเมิน PISA ผลการประกวดแข่งขันนักเรียนตัวแทน อปท. เข้าสอบจำนวน 158 คน ได้เหรียญทอง 4 คน ด้วยคะแนน 80% ขึ้นไป โดยคิดค่าเฉลี่ยคะแนนสูงสุด : 84 คะแนนต่ำสุด : 32 และคะแนนเฉลี่ย : 57

รมว.ศธ. กล่าวชื่นชมการติดตามผลการดำเนินงานยกระดับ PISA ที่ร่วมกันติดตามมาทุกระยะ พร้อมให้คำแนะนำว่าเมื่อได้ผลการดำเนินงานมาแล้วควรนำมาวิเคราะห์ต่อ เช่น คะแนนของนักเรียนที่ประกวดแข่งขัน เหตุใดคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดจึงเป็น 32 ซึ่งที่จริงแล้วไม่ควรต่ำกว่า 50 คะแนน การวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ก็จะสามารถพบทางแก้ไข และพัฒนาให้เกิดคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น

ผลการหารือเรื่องการสอบกับระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา Thai University Central Admission System (TCAS)

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา รายงานสรุปผลการหารือร่วมกับ ทปอ. 4 ประเด็น ได้แก่

1. การนำผลสอบ TCAS ส่งต่อให้สถานศึกษานำไปใช้ประโยชน์เชิงพัฒนา โดยข้อสอบจะวัดทักษะที่จำเป็น 10 ทักษะ มีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของนักเรียนในสถานศึกษา ในปีแรกใช้การเฉลยข้อสอบ รวมถึงจะใช้ผล TCAS ขับเคลื่อนแนวการสอนในสถานศึกษา ปรับเปลี่ยนคุณภาพการศึกษา Port Folio สำหรับนักเรียน และมาตรฐานการเทียบการสอบ

2. การพัฒนาครูด้านการพัฒนา SOFT SKILLS ซึ่งครูต้องรู้วิธีการสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อสร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะ ทักษะที่จำเป็นให้ผู้เรียน โดยเฉพาะครูแนะแนว จะมีการทำแผนพัฒนาครู โดยคุรุสภาจะร่วมมือกับ อว.

3. การมีทีมการหนุนเสริมสถานศึกษาเพื่อทำ Design Thinking โดย สพฐ./สช/สถ ทำแผนการพัฒนาสถานศึกษาเชิงระบบเพื่อออกแบบสถานศึกษาที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ และร่วมทำวิจัยเพื่อเป็นสารสนเทศการบริหารจัดการเชิงระบบ/ถอดบทเรียน

4. ศธ. และ อว. ทำแผนปฏิบัติการร่วมกันเพื่อให้สถานศึกษาได้เตรียมความพร้อมเด็กได้ตรง สามารถแสดงผลระยะยาวในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นพบตัวตนได้เร็ว

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่ได้หารือกับ ทปอ. ทราบว่ามีแนวคิดที่ค่อนข้างสอดคล้องกับ ศธ. คือ การศึกษาควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาการจัดการเรียนการสอนค่อนข้องเป็นภาระของผู้ปกครอง ทำให้มีอาชีพติวเตอร์ รับทำรายงาน รับทำการบ้าน และอาชีพอื่น ๆ เกิดขึ้นแล้วก็เป็นภาระของผู้เรียน ดังนั้นปีนี้จะเป็นปีแรกที่ TCAS จะออกข้อสอบแนว PISA พร้อมเฉลย ส่วนการนำคะแนน o-net ไปใช้ในกลุ่มสาระอื่น ๆ ตามแนวทางของ ศธ. นั้น ยังมีปัญหาในเชิงการปฏิบัติอยู่ เนื่องจากมาตรฐานความยากของข้อสอบค่อนข้างต่างกัน มีเพียงวิชาภาษาอังกฤษที่มาตรฐานตรงกันและสามารถใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งประเด็นนี้จะมาหารือกันต่อไป

อีกแนวคิดหนึ่งของ ทปอ. ที่น่าสนใจคือเรื่องการแนะแนวอาชีพซึ่งจะพิจารณา Demand Size ก่อน แล้วจึงมาเตรียม Supply Size ซึ่งหากนำมามาปรับใช้กับการแนะแนวในสถานศึกษาก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

รมว.ศธ. ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า จุดที่สามารถจะต่อยอดได้ก็คือในส่วนของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) อยากให้เชื่อมต่อกับทางมหาวิทยาลัยให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสิ่งที่อยากให้ทำเพิ่มเติม คือ ประชาสัมพันธ์ให้สังคมเห็นว่ากระบวนการสอบต่อไปนี้เราจะเอาคะแนน O-Net หรือ PISA มาใช้ร่วมด้วย เด็กก็จะได้ตระหนักรู้ว่าเรื่องเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเขา ให้เขารับรู้ว่าการสอบมีความสำคัญอย่างไร เป็นแรงจูงใจให้เด็กที่อยากจะเข้ามหาวิทยาลัย ดึงความสนใจให้มาร่วมในกระบวนการสอบ O-Net หรือ PISA

เรื่องอื่น ๆ

ปลัด.ศธ. รายงานผลตามข้อสั่งการ รมว.ศธ. เกี่ยวกับการจัดฝึกอบรม เรื่อง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ให้แก่ผู้ตรวจราชการและรองศึกษาธิการภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสามารถให้คำแนะนำแก่สถานศึกษาและหน่วยงานในพื้นที่ได้ตามนโยบาย Digital Era ซึ่งขณะนี้ สป.ศธ.จัดทำหลักสูตรอบรม เรื่อง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ให้แก่ ผู้ตรวจราชการและรองศึกษาธิการภาคเรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการจัดอบรมในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2567

ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว
พีรณัช ยุชยะทัช/ถ่ายภาพ

The post ศธ.เร่งขออนุมัติงบกลางฯ เร็วที่สุด ‘เพิ่มพูน’ ชี้เรื่องแบบนี้ช้าไม่ได้ เร่งเยียวยาผู้ได้รับผลจากอุทกภัยและสถานศึกษา กำชับเข้มมาตรการเตรียมรับมือพายุต่อไป appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post