21 สิงหาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 30/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นายพิษณุ พลธี เลขานุการ รมช.ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (ASED 2024) ในครั้งนี้ มีความสำคัญที่สุดในด้านการศึกษากับอาเซียน มีผู้นำด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกและคู่เจรจาจากทั้ง 8 ประเทศ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาความร่วมมือ ทั้งทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมบทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยกับอาเซียน การสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และยังเป็นการกำหนดทิศทางในการพัฒนาด้านการศึกษาและแนวทางความร่วมมือทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค

ศธ. มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งในการจัดงาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการมีการวางแผนการดำเนินงานและมีการซักซ้อมเป็นอย่างดี เพื่อให้งานออกมามีความสมบูรณ์ ยิ่งใหญ่ โดยอยู่ภายใต้ความปลอดภัยของผู้ร่วมงานทุกท่าน ขอความร่วมมือบุคลากร ศธ. ทุกคน ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี สนับสนุนการดำเนินงานด้วยความเต็มใจ สมัครใจ และร่วมใจ เพื่อให้การประชุมในครั้งนี้เป็นที่จดจำของทุกประเทศในอาเซียนและในระดับนานาชาติ ยึดหลักการทำงาน “ทำดี ทำได้ ทำทันที”

สำหรับภารกิจสำคัญต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ทำอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งที่เราได้ดำเนินการมานั้นมาถูกทางแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น มองการดำเนินงานในภาพรวมทุกมิติ มีการวางแผน กำหนดกฎกติการ่วมกัน รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพิ่มคุณภาพการศึกษา เพื่อนำไปสู่ผลการยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ค้นหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษา (Zero Dropout) การยกระดับฝีมือแรงงาน การพัฒนาสมรรถนะในการผลิตและพัฒนากำลังคน และภารกิจสำคัญอีกหลายภารกิจ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ครม.เห็นชอบการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุม ASED 2024 และปฏิญญาร่วมอาเซียน – ซีมีโอ

รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และปฏิญญาร่วมอาเซียน – ซีมีโอ รวม 4 ฉบับ ในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ประธานและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม แบ่งการประชุมเป็น 2 ระดับ การประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือระดับปลัดกระทรวง รวม 6 คณะ

1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 19 (19th ASEAN Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED) ในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567
2. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14 (14th ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting on Education: APT SOMED) อาเซียน 10 ประเทศ บวกสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น ในวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567
3. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 (9th East Asia Summit Senior Officials Meeting on Education: EAS SOMED) อาเซียน 10 ประเทศ บวกสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ในวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567
4. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 (13th ASEAN Education Ministers Meeting: ASED) ในวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567
5. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7 (7th ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting: APT EMM) ในวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2567
6. การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7 (7th East Asia Summit Education Ministers Meeting: EAS EMM) ในวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2567

รวมทั้งเอกสารร่างถ้อยแถลงร่วมฯ และปฏิญญาร่วมฯ 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างถ้อยแถลงร่วมบุรีรัมย์การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 2. ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7 3. ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7 และ 4. ปฏิญญาร่วมว่าด้วยพื้นที่ร่วมด้านอุดมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้จะมีการจัดเตรียมแพลตฟอร์มสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดและสนับสนุนค่านิยมและเป้าหมายร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา และยกระดับคุณภาพการอุดมศึกษาของภูมิภาค รวมทั้งใช้ประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่และองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติเพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

รมว.ศธ. กล่าวว่า การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ขอให้ทุกหน่วยงานมีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งเรื่องคน สถานที่ ระบบ แพลตฟอร์ม หรือแผนงานต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA เดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ที่ผ่านมานั้น รมว.ศธ. รับทราบ ขอขอบคุณ และฝากทุกหน่วยงานร่วมมือกันขับเคลื่อนต่อไป

ในวันนี้ได้รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของนักเรียนตามแนวทางโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ตามที่ สพฐ. ได้จัดทำระบบข้อสอบออนไลน์ Computer Based Test (PISA Style) เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้ามาทดลองทำข้อสอบ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่เข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงปัจจุบัน จำนวน 611,484 ครั้ง ใกล้เข้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 662,300 ครั้ง ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ในการขับเคลื่อนลงสู่ชั้นเรียนและนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านการพัฒนาด้วยชุดพัฒนาความฉลาดรู้

อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการพัฒนาครู หลักสูตร Gamification เพื่อให้ครูและผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อสอบ PISA ที่มีการนำเกมมาประยุกต์ใช้ สามารถออกแบบและปรับข้อสอบให้เป็นรูปแบบ Digital Platform ที่มีความเป็นเกม สามารถใช้เครื่องมือและเทคนิคในการจัดสอบและวิเคราะห์ผล ผู้ผ่านการอบรมที่สามารถสร้างชุดในรูปแบบ Digital Platform จากการปรับข้อสอบแบบ Paper-Base และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการยกระดับการจัดทำข้อสอบ PISA

นอกจากนี้ สสวท. ได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ครั้งที่ 4/2567 ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแนวทางในการดำเนินกิจกรรมอบรมครูเพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามแนว PISA ปัจจัยที่จะทำให้โครงการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ประสบความสำเร็จ และการกำหนดแนวทางในการประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ และคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

สำหรับการติดตามและประเมินผลโครงการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA สพฐ. จะร่วมกับ สสวท. ติดตามการพัฒนาความฉลาดรู้ของ นักเรียน เพื่อรวบรวมผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคของโรงเรียน สำหรับหาแนวทางปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีการกำหนดการติดตามการพัฒนาความฉลาดรู้ของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายต่อไป

ระบบสารสนเทศเพื่อบริหารอัตรากำลัง กระทรวงศึกษาธิการ (ISWM)

รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้รับทราบแนวทางการบริหารอัตรากำลัง โดย สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ดำเนินการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อบริหารอัตรากำลัง กระทรวงศึกษาธิการ หรือ (Information System for Workforce Management, the Ministry of Education : ISWM) เป็นการบูรณาการบริหารอัตรากำลังข้าราชการร่วมกัน เพื่อให้ทุกส่วนราชการในสังกัด ศธ. มีอัตรากำลังข้าราชการทุกประเภท (ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนสามัญ และพนักงานราชการ) ที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษา

ในระบบนี้จะรายงานข้อมูลผู้เกษียณอายุราชการ บัญชีผู้สอบแข่งขันและผู้ได้รับการคัดเลือก ตำแหน่งครูผู้ช่วย รวมถึงการสับเปลี่ยนอัตรากำลัง หรือการโยกย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม โดยวางกรอบอัตรากำลังไปถึงปี 2570 และหวังว่าหลังจากวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะสามารถคืนอัตราเกษียณ และพร้อมที่จะบรรจุแต่งตั้งข้าราชการ พนักงานราชการ แทนตำแหน่งที่ว่างได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้เตรียมการให้ส่วนราชการจัดทำข้อมูลลงระบบ และระบบกำหนดขั้นตอนการบริหารอัตรากำลัง โดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดเพื่อจัดทำฐานข้อมูลต่อไป

การติดตามผลการดำเนินงานงบประมาณปี 2567

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้มีการรายงานผลการเบิกจ่ายและผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งผลการเบิกจ่ายในภาพรวม การดำเนินการตามเป้าหมายถึง 91% ในส่วนของการบริหารงบเหลือจ่าย ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณเหลือจ่าย เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน ต้องชื่นชมทุกหน่วยงานที่ดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย ฝากให้ผู้บริหารทุกท่านติดตาม ควบคุม และวางแผนสำหรับการจัดสรรงบประมาณในปีต่อไป เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การสำรวจค่าใช้จ่าย ค่าสาธารณูปโภคของทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ.

รมว.ศธ. กล่าวว่า การลดภาระค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานและสาธารณูปโภคของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเรื่องที่พวกเราต้องให้ความสำคัญ ร่วมมือกันการวางแผนแนวทางการลดการใช้พลังงาน และการนำพลังงานชีวมวลมาใช้ โดยได้สั่งการให้จัดทำแบบสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานและสาธารณูปโภคของหน่วยงานและสถานศึกษา รายละเอียดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคในหมวดค่าไฟฟ้าของโรงเรียนแต่ละขนาด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนแนวทางการบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค

พร้อมพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละหน่วยงาน/โรงเรียน เพื่อพิจารณาการขอความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการติดตั้งพลังงานสะอาดหรือโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) รวมถึงการจัดทำร่างสัญญาหรือข้อตกลงให้บริการการติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง ทั้งในส่วนราชการในสังกัดหรือหน่วยงานในกำกับดูแลของ ศธ. สถานศึกษาในสังกัดหรือกำกับดูแลของ ศธ. ที่เป็นนิติบุคคล และไม่เป็นนิติบุคคล

“สิ่งสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น รมว.ศธ. ในฐานะประธานและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ก็จะนำมาเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาและหารือในระดับอาเซียน รวมถึงปฏิญญาร่วมฯ รวม 4 ฉบับ มาเป็นกลไกหลักในการตัดสินใจในด้านความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ตามแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน เพื่อเตรียมทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพเพียงพอสำหรับโลกแห่งการทำงาน (ตลาดแรงงาน) ที่เปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนาและการยกระดับทักษะใหม่ ตลอดจนยกระดับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้อย่างยั่งยืน

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ

The post ศธ. พร้อมเป็นเจ้าภาพ ASED 2024 ผนึกกำลังผู้นำด้านการศึกษาอาเซียน กำหนดแนวทางพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัลสู่อนาคตที่ยั่งยืน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post