เมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 – นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2567 โดยมีนายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ. เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการฯ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

ปลัด ศธ. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมรายงานผลการจัดงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กับหน่วยงานและสถาบันการเงิน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2567 ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ โดยทั้ง 14 หน่วยงาน จะร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นรูปธรรม ครูและบุคลากรทางการศึกษามีสภาพคล่องในการชำระหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบ เพิ่มความมั่นคงทางการเงิน และจัดสวัสดิการตามหลักธรรมาภิบาล

โดยร่วมพิจารณาปรับปรุง/กำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ประจำเดือนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในแนวทางเดียวกันกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ตลอดจนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจการวางแผนทางการเงิน และการบริหารจัดการหนี้ รวมทั้งรับทราบเรื่องนายสุทิน แก้วพนา ขอลาออกจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่

ข้อเรียกร้องของกลุ่มพิทักษ์สมาชิกสหกรณ์ จังหวัดสกลนคร เสนอวิธีแก้ไขปัญหาหนี้สิน ให้สมาชิก โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสกลนคร จำกัด เป็นต้นแบบเป็นฐาน ด้วยกระบวนการ 1) ลดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นขั้นบันได 2) ออกระเบียบเงินกู้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ) 3 ให้สหกรณ์ยกเลิกระเบียบการปรับโครงสร้างหนี้สินเดิม ให้สมาชิกเหล่านั้นเข้าสู่ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสกลนคร จำกัด เป็นต้นแบบเป็นฐาน เพื่อจะได้เสมอภาคกัน และ 4) สมาชิกที่ไม่สามารถส่งชำระหนี้ อยู่ในระหว่างฟ้องร้องคดี บังคับคดี ให้สหกรณ์ออกระเบียบให้เงินกู้ให้สมาชิกกลุ่มนี้ ในอัตราเงินกู้ร้อยละ 3.00 เป็นเวลา 3 ปี และมิให้กู้ยืมอีกเมื่อครบ 3 ปี เพื่อกลับเข้าสู่ระบบการกู้ยืมเดิม หากไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงจะดำเนินการตามกฎหมาย
ข้อเรียกร้องของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เครือข่ายพัฒนาชีวิตครูแพร่ จำกัด นำร่องเสนอวิธีแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยให้ทุกจังหวัดจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เครือข่ายพัฒนาชีวิตครู จำกัด ทุกจังหวัดเพื่อช่วยเหลือเพื่อนครูที่มีปัญหาหนี้สินหนักและวิกฤติในขณะนี้ สำรวจรายชื่อผู้ที่มีปัญหาขั้นวิกฤติที่จะต้องให้ความช่วยเหลือมาเป็นสมาชิกสหกรณ์เครือข่ายฯ จังหวัด เพื่อจัดตั้งสหกรณ์เครือข่ายรองรับการแก้ปัญหา ดำเนินการตามขั้นตอนวิธีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกระบวนการจัดตั้ง วิธีการจัดตั้งตามระเบียบและข้อบังคับของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และดำเนินการแก้ไขปัญหาสมาชิกที่มีปัญหาหนี้สินฯ เสนอต่อธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่
ข้อเรียกร้องของเครือข่ายภาคประชาสังคม เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการจะต้องหักเงินเดือนครูให้ถูกต้องตามระเบียบ ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการเพื่อชาระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551ให้เจ้าหนี้สหกรณ์และสถาบันการเงินทั่วประเทศร่วมกับปรับโครงสร้างหนี้และปรับลดค่างวดที่เรียกเก็บในแต่ละงวดลง และให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการหักเงินเดือน 4.75 % ต่อปี”
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ สินแบบองค์รวม Holistic Debt Management ของคณะกรรมาธิการแก้ไขความยากจนและความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เสนอให้มีการกำกับและสั่งการ ติดตาม ให้สถานีแก้หนี้ข้าราชการครูทั่วประเทศนำระบบ HDMไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และส่งเสริมสนับสนุนการอบรม ให้ความรู้แก่ข้าราชการครูที่เป็นหนี้ ให้มีความรู้การแก้ไขปัญหาหนี้สินแบบองค์รวม จัดทำแผนฟื้นฟู รวมทั้งกำกับและสั่งการ ติดตาม ให้หน่วยงานต้นสังกัด ดำเนินการหักเงินเดือนครูให้ครูมีเงินเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รายใดหักเงินเดือนไม่ได้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้งดการหักเงินเดือนตามระเบียบที่กำหนด

สำหรับสำนักงานใดที่ถูกฟ้องต่อศาลปกครองและมีคำพิพากษาให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยเคร่งครัดเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเบื้องต้น ตลอดจนประสานและตรวจสอบสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้ดำเนินกิจการบนหลักความเป็นธรรมและหลักการเป็นสวัสดิการครูในการช่วยเหลือให้ครูมีเงินเพียงพอในการดำรงชีวิตโดยไม่แสวงหากำไรเกินสมควร ไม่กำหนดผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นการเพิ่มภาระแก่ครูหลายบัญชีบนฐานเงินเดือนเดียวกัน และต้องตรวจสอบภาระหนี้ครูที่มีอยู่ก่อนการอนุมัติให้กู้ของผู้บังคับบัญชาและของสหกรณ์ออมทรัพย์

ขณะเดียวกันที่ประชุมก็ได้มีมติเห็นชอบ การดำเนินการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาธิการ (สกสค.) ยื่นข้อเสนอขอความร่วมมือกับธนาคารออมสินในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา “นโยบาย 4 ไม่” (ไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย) และมีการลดอัตราดอกเบี้ย 1 % ให้กับครูส่งดี ซึ่งเป็นเงินเป็นประมาณ 1.6 พันล้านบาท โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงกับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันในการให้บริการทางวิชาการ ด้านการบริหารหรือวางแผนทางการเงินและการออมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินและกฎหมายแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาและดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ตกลงกัน

โดยเปิดรับลงทะเบียนโครงการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาทางกฎหมายให้ความช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษา นโยบาย 4 ไม่ ของธนาคารออมสินผ่าน OR CODE หรือ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. พร้อมทั้งจัดให้มีศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินและกฎหมายในสำนักงาน สกสค. ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นจุดบริการให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมการแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมทั้งเปิดเป็นเวทีเจรจาแก้ไขปัญหาของครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายสุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ให้มีการแจกแจงรายละเอียดสถิติหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา แบ่งเป็นระดับสี ได้แก่ ประเภทที่ 1 สีแดง ผู้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ประเภทที่ 2 สีเหลือง ผู้ที่หลังหักเงินเดือนคงเหลือตั้งแต่ 30% – 50% ประเภทที่ 3 สีเขียว ผู้ที่หักหนี้แล้วมีเงินคงเหลือมากกว่า 50% ขึ้นไปประเภทที่4 สีขาว ผู้ที่ไม่มีหนี้สิน และประเภทที่ 5 สีดำ ผู้ที่ไม่ให้ข้อมูล ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำข้อมูลสถิติตามข้อสั่งการข้างต้น รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ และรายงานข้อมูลมายังสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายในวันที่ 30 ของทุกเดือน เพื่อรวบรวมและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงวางแนวทางการบูรณาการขับเคลื่อนโยบาย

ทั้งนี้ เห็นควรให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในกลุ่มวิกฤต เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การกำหนดค่างวดเงินกู้ให้เหมาะสมกับรายได้ของผู้กู้ การใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้สวัสดิการได้ตามความจำเป็น

“นโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางกรอบและให้แนวทางสำรวจข้อมูลในทุกมิติ เพื่อการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และควรมีสหกรณ์กลางเพื่อเปิดโอกาสให้ครูกลุ่มวิกฤติในสังกัด ไปจนถึงใช้กระบวนการเชิงนโยบายร่วมเข้าไปคุยสถาบันการเงิน ขอปรับโครงสร้างหนี้และดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ” นายสุเทพ กล่าว

พบพร ผดุงพล / ข่าว

ณัฐพล สุกไทย / ภาพ

The post ปลัด ศธ. ‘สุเทพ’ นั่งหัวโต๊ะบอร์ดแก้หนี้ครู พร้อมเจรจาออมสินออก “นโยบาย4 ไม่” เล็งจัดตั้งสหกรณ์กลางช่วยกลุ่มวิกฤต appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post