30 กรกฎาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพหลักจัดการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2567 โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม กระทรวงศึกษาธิการ มอบของที่ระลึกที่มาจากฝีมือของนักเรียน นักศึกษาในสังกัด แก่นายกรัฐมนตรีและผู้เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมผลิตภัณฑ์ของนักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษ และบกพร่องทางการได้ยิน ตลอดจนนักศึกษาที่มีทักษะฝีมือดีเยี่ยม เป็นผลงานที่มีความน่าสนใจและสมควรได้รับการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงศักยภาพของเด็กไทยในทุกกลุ่ม ที่พร้อมได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่

“ผ้าห่มยักษ์” เป็นผลงานศิลปะจากนักเรียนโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งแรกของประเทศไทย ในโครงการ “ผ้าห่มยักษ์” ยักษ์ใหญ่ให้ยักษ์เล็ก ผลงานศิลปะของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินหรือหูหนวก เพื่อเป็นทุนการศึกษาและสร้างอาชีพให้กับนักเรียน ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ LEARN TO EARN เรียนดี มีความสุข ที่สนับสนุนให้นักเรียนได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าห่ม ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่จากจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนผู้พิการทางการได้ยิน ผู้สนใจสามารถสนับสนุนผลิตภัณฑ์ได้ทาง http://www.yak1818.com, เพจ Facebook Yak1818 และ Line @Yak1818

“ชาเลือดมังกร” ผลิตภัณฑ์ชาและกาแฟสูตรไม่ธรรมดาจากฝีมือเด็กพิเศษของโรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูล ที่เป็นโรงเรียนสอนเด็กพิเศษ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก ตั้งแต่ระดับปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเหล่านี้มีรายได้ระหว่างเรียน และเมื่อจบออกไปแล้วก็จะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยทางโรงเรียนได้ร่วมกับชุมชน และเครือข่ายภาคเอกชน ในการนำต้นเลือดมังกรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาเลือดมังกร เพื่อจำหน่ายในศูนย์ฝึกปฏิบัติงานอาชีพ ผู้สนใจสามารถสนับสนุนผลิตภัณฑ์ จากร้านกาแฟไม่ธรรมดาเชียงรายปัญญาฯ 2558 มีบริการจำหน่ายกาแฟสดและเครื่องดื่ม รวมทั้งสินค้าผลงานจากฝีมือนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ผู้สนใจสามารถสนับสนุนผลิตภัณฑ์ได้ทาง http://www.learntoearn.obec.go.th โทร 06-4346-1098, 08-1882-8550

“ผอบฟักทอง” (ฟักเงิน ฟักทอง) ผลิตภัณฑ์ “เครื่องถม” จากนักศึกษาวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “จงรักษาศิลปะของชาติอันนี้ไว้ให้ดี” ตรัสแก่นายจงรักษ์ มณีสุข ครูใหญ่โรงเรียนศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช (ชื่อในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2506 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สนองงานของพระองค์ และเป็นการทดแทนพระคุณของ พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช ) ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยฯ (เดิมชื่อ “โรงเรียนช่างถม”) โดยเห็นว่างานช่างที่เรียกว่า “เครื่องถม” จะหายไป จึงใช้เงินเดือนของตนจ้างครูสอน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2456 เปลี่ยนชื่อและสถานที่อีกหลายครั้ง เปิดการเรียนการสอนในงานช่างเครื่องโลหะรูปพรรณประเภทงานเครื่องถม งานแกะสลักดุน ซึ่งเป็นทักษะเชิงช่างชั้นสูง

เป็นเวลานับร้อยปีที่วิทยาลัยฯ ได้บ่มเพาะช่างไทยที่มีฝีมือในงานแขนงนี้จำนวนมากมาย นักเรียน นักศึกษาที่เรียนในสาขาเครื่องถมทุกคนมีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนองงานของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ในรูปแบบของการศึกษาเล่าเรียนเพื่ออนุรักษ์งานศิลป์ของแผ่นดินให้คงอยู่คู่ประเทศชาติ วิทยาลัยฯ โดยแผนกวิชาศิลปหัตถกรรม จึงได้ใช้ทักษะที่เล่าเรียนมานำมาสร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อว่า “ผอบฟักทอง” เป็นผลงานที่เกิดจากทักษะในการเรียนการสอนของนักเรียน นักศึกษา แผนกวิชาศิลปหัตถกรรม วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ผู้สนใจสามารถสนับสนุนผลิตภัณฑ์ได้ที่วิทยาลัยฯ โดยตรง โทร 075-846-007

“กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชาชนในทุกกลุ่ม และพร้อมที่จะร่วมส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความสามารถของเด็กและเยาวชน ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในกำลังใจ ร่วมสนับสนุนผลงาน ผลิตภัณฑ์ที่มาจากความสามารถของลูก ๆ เหล่านี้ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษาที่มีความสามารถ ทั้งที่มีความสามารถพิเศษ และที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา เพราะทุกคนล้วนเป็นประชาชนชาวไทย ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ “เราจะเดินหน้าไปพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รมว.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณรชัย ฉิมพาลี / ภาพ

The post นายกฯ “เศรษฐา” รับมอบผลิตภัณฑ์ฝีมือนักเรียนสังกัด ศธ. ชื่นชมเป็นผลงานที่น่าสนใจ ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post