17 กรกฎาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 27/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า ในการดำเนินงานภารกิจต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษานั้น ขอให้ทุกคนคิดไว้เสมอว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ต้องจับมือร่วมกันทำงาน สร้างความภาคภูมิใจ กระจายความมีคุณภาพร่วมกัน พัฒนาคน พัฒนาระบบให้รวมเป็นมิติเดียวกัน เชื่อว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของพวกเราทุกคน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ชื่นชมนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รับรางวัลชนะเลิศรายการ “Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่”

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับน้องนักเรียนจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่รับรางวัลชนะเลิศรายการ “Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่” ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 1,000,000 บาท ถือเป็นความภาคภูมิใจของ รมว.ศธ. และเป็นตัวแทนโรงเรียน ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องขอขอบคุณผู้ปกครอง ครู ผู้อำนวยการและผู้บริหารโรงเรียน ผู้ที่ร่วมให้การสนับสนุน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นส่วนสนับสนุนให้น้อง ๆ ได้เรียนอย่างมีความสุข ทำให้ผู้เรียนมีศักยภาพ ที่สามารถเป็นตัวแทนโรงเรียนและชนะในการแข่งขัน ขอให้เป็นแนวทางสำหรับโรงเรียนทุกแห่ง ในการมีส่วนช่วยส่งเสริม และพัฒนาความสามารถของนักเรียนต่อไป

โดยนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่ชนะรายการแข่งขันรายการ “Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่” ประกอบด้วย 1) นางสาวพิชยา กระจ่างวิทยา (เฟย์) ชั้น ม.5/1 2) นายอัยยา สุทธิกุลบุตร (วอร์ม) ชั้น ม.5/7 3) นายธีร์ธวัช อาวพิทักษ์ (นที) ชั้น ม.5/9 4) นายภีร์กวิน เจริญธรรมรักษา (ต้นข้าว) ชั้น ม.5/9 และ 5) นายพันธุ์ระพี เตียวสกุล (พีค) ชั้น ม.5/10 ในการนี้ รมว.ศธ. ได้มอบเหรียญกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเพิ่มขวัญและกำลังใจแก่นักเรียนและครูผู้ควบคุมทีมอีกด้วย

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

รมว.ศธ. กล่าวว่า ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบการทดสอบให้เป็นมิติเดียวกัน เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถนำข้อมูลไปพัฒนาต่อเนื่องได้ และการจัดทำหลักสูตรให้สอดรับกับการพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียน มีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงาน แสดงเป้าหมายที่ชัดเจนในการปรับปรุงและพัฒนา และรายงานผลการดำเนินการในภาพรวมของ ศธ. พร้อมทั้งสำรวจอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต หารือการใช้ระบบร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาอื่น หรือขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าใช้ระบบและลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งยังได้รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของนักเรียนตามแนวทางโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) โดย สพฐ. ได้จัดทำระบบ Computer Based Test (PISA Style) เป็นการสร้างความคุ้นเคยของการทำข้อสอบ ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนที่เข้าสู่ระบบ จำนวน 424,788 คน และรายงานผลการวิเคราะห์นักเรียนเข้าระบบถึงสาเหตุของการทำข้อสอบไม่ครบชุด อาทิ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ระยะเวลาการเข้าทดสอบ และความเสถียรของระบบ เพื่อนำมาวางแผนในการแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์เพื่อนำเสนอผลการจัดกลุ่มนักเรียนในการทำข้อสอบ เพื่อสร้างแรงจูงใจและการให้รางวัลตามความสนใจของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการเข้าสอบ ซึ่งจะเปิดหลักสูตรสำหรับกลุ่มเป้าหมาย (ตามความสมัครใจ) ได้แก่ ครูแกนนำตามแนวทางการประเมิน PISA และครูผู้สอนนักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย จะเปิดรับสมัครในวันที่ 19 – 23 ก.ค. 2567

รวมทั้งจัดทำหลักสูตร Workshop ระยะสั้น ในการพัฒนาครูผู้สอน เพื่อให้ครูมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อสอบ PISA และรูปแบบข้อสอบ Digital Platform ที่มีการนำเกมมาประยุกต์ใช้ (Gamification) สามารถออกแบบและปรับข้อสอบให้เป็นรูปแบบ Digital Platform ที่มีความเป็นเกม สามารถใช้เครื่องมือและเทคนิคในการจัดสอบและวิเคราะห์ผล และกิจกรรม PISA Challenge Thailand 2024 : Gameified Tournament เป็นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการประยุกต์ใช้ความรู้ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ สร้างความตื่นตัวและความสนใจในการเรียนรู้ ผ่านรูปแบบการแข่งขันทางแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการให้รางวัลยกย่องสำหรับนักเรียนที่มีคะแนนเกินมาตรฐาน และการสร้างแรงจูงใจในระดับเขตพื้นที่

สสวท. ร่วมกับ สพฐ. ในการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทาง PISA ของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) เพื่อพัฒนาครูผู้สอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณ รายงานความคืบหน้า รวมถึงการรายงานงบเหลือจ่ายให้ตรงตามเวลาที่กำหนด รวมถึงขับเคลื่อนโครงการ “สุขาดีมีความสุข” โดยเบื้องต้นขอให้สนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กก่อน โดยอาจจะใช้จ่ายจากเงินเหลือจ่าย โดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษาของให้มีการเร่งดำเนินการ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณสำหรับศูนย์เด็กเล็ก ขอให้ทบทวนและหาแนวทางในการพัฒนา ทั้งยังได้สั่งการให้ติดตามผลการดำเนินงานใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งงบประมาณปี 2567 และวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2568 มีการวางแผน ติดตาม ควบคุมการใช้จ่ายอย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัด มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เนื่องจากงบประมาณมีอย่างจำกัด ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงานจึงต้องบริหารงบประมาณด้านการศึกษาให้รอบครอบและมีประสิทธิภาพมากที่สุดได้ ขอให้ดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้ความจำเป็นเร่งด่วน

การประชุมสภาการศึกษานานาชาติ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้รับทราบแนวทางการประชุมสภาการศึกษานานาชาติ โดย เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เสนอโครงการฯ เรื่อง ความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2567 เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวการณ์ทางการศึกษาของโลก และสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศ จากหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ทั่วโลก

การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษาที่สะท้อนคิดเกี่ยวกับนโยบายทางการศึกษาระหว่างสภาการศึกษาของประเทศไทย สภาการศึกษาประเทศอื่น ๆ และหน่วยงานทางการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และจัดทำแนวคิดและข้อเสนอเชิงนโยบาย ในการพัฒนาการศึกษาไทยที่สอดคล้อง เหมาะสม และรองรับสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป มีองค์กรนานาชาติเข้าร่วมการประชุม 12 หน่วยงาน อาทิ UNESCO, UNICEF, SEAMES, WorldBank, OECD SEAMEO INNOTECH, Beijing Foreign University และวิทยากรจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 11 ประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน พร้อมด้วย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนักวิชาการ หน่วยงานระหว่างประเทศที่ทำงานด้านการศึกษา อาทิ UNESCO, UNICEF, OECD, World Bank, และ SEAMEO มาร่วมให้ความรู้

รูปแบบการจัดกิจกรรมลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ ทำดี ทำได้ ทำทันที

รมว.ศธ. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ ทำดี ทำได้ ทำทันที เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของลูกเสือ เนตรนารี สมาชิกยุวกาชาด และพนักงานส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) มีการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ โดยกิจกรรมบริจาคโลหิต ณ หอประชุมคุรุสภา นั้น ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการวางแผนการดำเนินงาน วางแผนระบบขนส่ง การเดินทาง และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรมทุกท่าน รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยทุกกิจกรรมต้องมีความปลอดภัยเป็นสำคัญ

ในส่วนของลูกเสือ เนตรนารี สมาชิกยุวกาชาด และพนักงานส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) ส่วนภูมิภาคให้จัดกิจกรรมในพื้นที่ ขอให้ร่วมแสดงออกถึงความเคารพ เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติแสดงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวกระทรวงศึกษาธิการ

ข้อสั่งการ รมว.ศธ.

การลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค
รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการลดใช้พลังงาน และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน มีการวางแผนการใช้พลังงานในสถานศึกษาหรือหน่วยงานอย่างเหมาะสม โดยมอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีและสารสนเทศ สป. ดำเนินการจัดทำ Dashboard สำหรับสำรวจการใช้สาธารณูปโภค เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบาย/มาตรการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดภาระการใช้จ่ายงบประมาณ โดยต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระบุคลากรและลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน

การเฝ้าระวังภัยและรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา
รมว.ศธ. กล่าวว่า ให้สถานศึกษาทุกแห่งมีการจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยรวมถึงเตรียมแผนเผชิญเหตุเพื่อความปลอดภัยสถานศึกษา เฝ้าระวังความปลอดภัยจากเหตุพายุฝนฟ้าคะนอง สำรวจอาคารเรียน อาคารสำนักงานต่าง ๆ เพื่อป้องกันเหตุอาคารถล่ม ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่มีความพร้อมและปลอดภัยสำหรับการใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ และเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และทรัพย์สินของทางราชการ มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกัน และขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ ภัยที่เกิดจากผลกระทบทางสุขภาวะทางกายและจิตใจ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันเฝ้าระวัง มีการวางแผนระบบการบริหารจัดการ หาแนวทางการป้องกันการดูแลนักเรียน มีมาตรการการลงโทษผู้กระทำผิด มีระบบการดูแลรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความปลอดภัยมากที่สุด

เชิญชวนบุคลากร ศธ. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริจาคโลหิต 10 ล้านซีซี เฉลิมพระเกียรติฯ
รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลเตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม และได้ดำเนินโครงการบริจาคโลหิต 10 ล้านซีซี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความจงรักภักดี และทำประโยชน์ในการช่วยเหลือต่อชีวิตและลมหายใจให้กับผู้อื่น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อมอบให้แก่สภากาชาดไทยสำหรับใช้เป็นโลหิตสำรองให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ

กระทรวงศึกษาธิการ ขอเชิญชวนผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากรในสังกัด ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมบริจาคโลหิตเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และส่วนภูมิภาค ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงาน สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด โรงพยาบาลในพื้นที่

“ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าขอให้พวกเราทุกคนทุกระดับทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการคิด เปลี่ยนวิธีการทำงาน บูรณาการการทำงานร่วมกัน มีการวางแผนการดำเนินงานให้เป็นมิติเดียวกันทั้ง ศธ. ขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายอย่างเหมาะสม สิ่งที่อยากจะขอความร่วมมือจากทุกคน อยากให้ช่วยกันทำงาน เพื่อให้งานมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ร่วมมือกัน จับมือกัน ทำให้ “กระทรวงศึกษาธิการ” เป็นกระทรวงที่เป็นแบบอย่างในด้านการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์
ณรชัย ฉิมพาลี / ภาพ

The post เสมา 1 ชื่นชมนักเรียน มวส. คว้ารางวัลชนะเลิศ “Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่” พร้อมย้ำสถานศึกษาทุกแห่งต้องมีมาตรการเฝ้าระวังภัยทุกรูปแบบ appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post