26 มิถุนายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 24/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า จากการดำเนินงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินงานหลากหลายภารกิจ ซึ่งมีภารกิจที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และบางภารกิจที่ต้องเร่งพัฒนา ฝากให้ทุกหน่วยงานมีการบูรณาการการทำงาน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และทุกหน่วนงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ปฏิบัติงานด้วยความร่วมมือร่วมใจ พัฒนาการสื่อสาร และเข้าใจบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อให้การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนแผนการยกระดับผลการประเมิน PISA ไปพร้อมกัน และขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และมีการรายงานผลอย่างต่อเนื่อง มอบหมายให้ สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขับเคลื่อนแผนการยกระดับผลการประเมิน PISA และบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาหลักสูตรและจัดทำข้อสอบให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทกับการสอบในครั้งต่อไปที่จะมาถึง รวมถึงการประเมินด้านวิทยาศาสตร์ของ PISA จะมีการเพิ่มเติมเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” (Green) ให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในบริบทหรือสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ในการจัดการกับประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

จากการขับเคลื่อนฯ ดังกล่าวข้างต้น จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีนายศิริเดช สุชีวะ ประธานอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานฯ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งหลักสูตรฯ มีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับครั้งล่าสุด เมื่อปี 2560  และจะมีการปรับอีกครั้งในปีนี้ และจะพิจารณาว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนชื่อให้มีความทันสมัยหรือไม่ แต่ทั้งหมดจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้เรียน

นอกจากนี้ ยังได้รับทราบการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของนักเรียนตามแนวทางโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) โดย สพฐ. มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ (ระยะยาว) การขับเคลื่อนการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในระดับสถานศึกษา โดยเป็นการพัฒนาความสามารถด้านการอ่านการเขียนและการคิดเลขตามแนวคิด Basic Literacy ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ เป็นความสามารถในการใช้ภาษา สื่อสาร และสามารถคิดคำนวณในระดับที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ

ประกอบด้วย ความสามารถในการอ่าน การเขียน การคิดเลข และการคิดแก้ปัญหา และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความเข้าใจในธรรมชาติ Functional Literacy ประกอบด้วยความเข้าใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสุขภาพและการดูแลตัวเอง สังคม และความเป็นอยู่ ศิลปะและดนตรีเพื่อความสุข มีกรอบแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 คือ ความฉลาดรู้พื้นฐานคือความสามารถพื้นฐานที่นักเรียนจำเป็นต้องมีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อยอดการเรียนรู้และจำเป็นต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมตามบริบท ทั้งด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการดูแลตัวเอง สังคมและความเป็นอยู่ ศิลปะและดนตรี

สำหรับการขับเคลื่อนการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในระดับสถานศึกษา ซึ่งเป็นชุดพัฒนาความฉลาดรู้ในการพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ การอ่านและการวิเคราะห์บทความ ตามกรอบการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียน โดย สสวท. ร่วมกับ สพฐ. ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับชาติ (PISA) ให้กับอาจารย์จากโรงเรียนสาธิตต่าง ๆ เพื่อชี้แจงให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ก.ค.ศ. ได้เสนอสาระสำคัญในการประเมินผลทางการศึกษาระดับนานาชาติ PISA ครั้งล่าสุดในปี 2022 เกี่ยวกับความคิดเชิงสร้างสรรค์ของ OECD ได้ทำการวัดทักษะความคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนอายุ 15 ปี เป็นครั้งแรก เป็นการทดสอบในบริบท 4 ด้าน ได้แก่ การแสดงออกทางการเขียน การแสดงออกทางการมองเห็น การแก้ไขปัญหาทางสังคม และการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับประเทศไทย คือ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมการทดสอบความคิดเชิงสร้างสรรค์ของ PISA 2022

จากผลการประเมินแสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยยังต้องการการสนับสนุนในการพัฒนาทักษะความคิดเชิงสร้างสรรค์เพิ่มเติม และการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียน การส่งเสริมความรู้หลากหลายสาขาวิชาจะมีผลดีต่อการพัฒนาความสามารถทางความคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนไทย ดังนั้นสิ่งที่ ศธ. ต้องเร่งดำเนินการ ในการปรับวิธีการประเมินครู, ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้แบบ Anywhere Anytime, Empower ครูและสถานศึกษา เน้นการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและอิสระ, เร่งการปรับหลักสูตรที่เน้น Competency-based Learning (การเรียนรู้ การศึกษาตามความสามารถ) และเร่งพัฒนาครูและปรับระบบการสอบ ONET ให้เป็นแนว PISA

ครม. เห็นชอบการปรับเงื่อนไขฯ ของนักเรียนทุน KOSEN

รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (นักเรียนทุน จ.ภ.) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุน จ.ภ. ระยะที่ 2 โดยผู้รับทุนจะเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานชดใช้ทุน หรือหน่วยงานของรัฐที่ผู้ให้ทุนกำหนด เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 เท่าของระยะเวลาที่ศึกษา 7 ปี (หน่วยงานชดใช้ทุน ให้หมายความรวมถึงภาคอุตสาหกรรมสถาบันไทยโคเซ็น และหน่วยงานของรัฐ) จากแต่เดิม 2 เท่า 14 ปี

รวมทั้งปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุน จ.ภ. ระยะที่ 1 โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขการปฏิบัติงานเพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุน จ.ภ. ระยะที่ 2 เนื่องจากเป็นการให้ทุนการศึกษาในลักษณะเดียวกันกับการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาต่อสำหรับนักเรียนทุน จ.ภ. ไปศึกษาต่อ ณ National Institute of Technology (KOSEN) ของประเทศญี่ปุ่น (สถาบันโคเซ็น)

แผนการขับเคลื่อนการพัฒนาผลการจัดอันดับ IMD ด้านการศึกษา ปี 2568 (IMD 2025)

รมว.ศธ. กล่าวว่า แผนการขับเคลื่อนการพัฒนาผลการจัดอันดับ IMD ด้านการศึกษานั้น มอบหมายให้ สกศ. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงาน โดยประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในสังกัด และให้เพิ่มกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นกรรมการ พร้อมทั้งปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับปฏิทินการเปิดภาคเรียน และจัดทำปฏิทินการดำเนินงานประจำปี ให้เห็น Timeline ให้ชัดเจน รวมถึงการสำรวจอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยมอบหมายให้ สกร. ดำเนินการสำรวจและหาแนวทางการดำเนินงาน ทั้งผู้ที่ไม่รู้หนังสือและผู้ที่ลืมหนังสือ

ทั้งนี้ได้รับทราบสรุปขีดความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการเปรียบเทียบสมรรถนะการศึกษาของประเทศไทยกับนานาชาติ โดยใช้ดัชนีของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) โดย IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ รวม 67 ประเทศ ซึ่งในภาพรวมประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น จากอันดับที่ 30 เป็นอันดับที่ 25 และมีอันดับด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 54 ซึ่งเท่ากับปีที่ผ่านมา

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการจัดทำแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาผลการจัดอันดับ IMD ด้านการศึกษาปี 2568 ซึ่งแผนในการขับเคลื่อน IMD นั้น มีเป้าหมายในการดำเนินการในระยะสั้นเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2568 มุ่งเน้นการพัฒนาระบบและการจัดเก็บข้อมูลทางการศึกษาให้เป็นปัจจุบันและถูกต้องตามนิยามความหมายของตัวชี้วัดให้มากที่สุด และส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาของประเทศให้ภาคเอกชน ซึ่งหลักการของแผนพัฒนาคือการจัดอันดับความสำคัญของตัวชี้วัดที่ต้องการพัฒนา และการกำหนดช่วงเวลาในการดำเนินการให้ทันและสอดคล้องกับการเก็บข้อมูลในแต่ละปี

สำหรับแนวทางแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาผลการจัดอันดับ IMD ด้านการศึกษา ปี 2568 มีแนวทางในการดำเนินการ 6 แนวทางคือ การพัฒนาตัวชี้วัดผลการทดสอบ PISA การพัฒนากลุ่มตัวชี้วัดอัตราส่วนนักเรียนต่อครู 1 คน อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป การพัฒนากลุ่มตัวชี้วัดงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา การพัฒนาตัวชี้วัดอัตราการเข้าเรียน และการพัฒนากลุ่มตัวชี้วัดการสำรวจความคิดเห็น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ มิ.ย. 2567 – ก.ค. 2568 และนอกจากนี้ยังมีองค์กร World Economic Forum (WEF) ยังได้กล่าวถึงการเตรียมคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการเตรียมคนให้มีความรู้ มีทักษะ มีความพร้อมในการพัฒนาอนาคตของประเทศไทย

SCB ร่วมกับ ศธ. ทำประกันให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ บริษัทไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด บริการจัดทำประกันอุบัติเหตุให้แก่ครูและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครูและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ

โดยดำเนินการจัดทำประกันชีวิตและอุบัติเหตุโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นสิทธิพิเศษสำหรับครูและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 3 เดือน 90 วัน เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป โดยสามารถเริ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์การประกันอุบัติเหตุ ได้ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถลงทะเบียนได้ที่ สกสค. ประจำจังหวัด

ข้อสั่งการ รมว.ศธ.

การประดับเข็มที่ระลึกฯ ตรวจสอบดูแลความเรียบร้อยของอาคารสถานที่ราชการ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอความร่วมมือผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ ประดับเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 คู่กับเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยเริ่มประดับ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติแสดงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวกระทรวงศึกษาธิการ

ตลอดจนขอให้ผู้บริหารและบุคลากรทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ตรวจสอบดูแลความเรียบร้อยของอาคารสถานที่ราชการในกำกับให้มีความเรียบร้อย พัฒนา ปรับปรุง หรือซ่อมแซมอาคารให้มีความปลอดภัย พร้อมใช้งาน รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่น น่าอยู่และมีความปลอดภัย เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องพื้นที่สำหรับเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

การจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ประจำปี 2567

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ประจำปี 2567
ที่จัดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยูู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 โดยกิจกรรมในปีนี้จัดที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2567 โดยในปีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในพิธีทบทวนคำปฏิญาณ และสวนสนามของลูกเสือ

นอกจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อม ความมีระเบียบวินัย และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแล้ว ขอให้บุคลากรทุกท่านเห็นความสำคัญและร่วมสร้างความตระหนักรู้ และเผยแพร่ สื่อสาร ถึงความสำคัญและคุณค่าของลูกเสือไทย

ปฏิทินการดำเนินการย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านระบบ TMS ประจำปี พ.ศ. 2567 รอบที่ 2

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการกำหนดปฏิทินการดำเนินการย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบ TMS : Teacher Matching System ประจำปี พ.ศ. 2567 รอบที่ 2 โดยเริ่มยื่นคำร้องขอย้ายในระหว่างวันที่ 5 – 26 กรกฎาคม 2567 โดยขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“สังคมภายนอก อาจจะมองว่าการศึกษาไทยไม่มีการกระจายอำนาจ ซึ่งความจริงแล้วกระทรวงศึกษาธิการ มีบุคลากรและหน่วยงานที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและการศึกษาในทุกระดับ ดังนั้น จึงขอฝากให้ผู้บริหาร ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา บุคลากรทุกคน ช่วยกันสื่อสารให้สังคมภายนอกได้รับรู้ถึงการดำเนินงาน การกระจายอำนาจ บทบาท หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ผมเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน จะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ออกมาดีและมีประสิทธิภาพ” รมว.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มญาติ / ภาพ

The post เสมา 1 รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เร่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของไทย พร้อมตั้งผู้ทรงคุณวุฒิขับเคลื่อนการปรับหลักสูตรแกนกลาง appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post