12 มิถุนายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 22/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกคนทำงานด้วยความสอดประสานกัน บูรณาการความร่วมมือ ร่วมใจกันปฏิบัติงานในทุกหน่วยงาน ทุกระดับ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อจะทำให้การทำงานมีความเชื่อมโยงได้ดีขึ้น เป็นการสื่อสารทำความเข้าใจในนโยบายต่าง ๆ ขอบคุณบุคลากรทุกคนที่ร่วมกันปฏิบัติงาน เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้ภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนแผนการยกระดับผลการประเมิน PISA ไปพร้อมกัน และขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงการจัดทำแผนในระยะต่อไป ที่ต้องร่วมมือกันผลักดัน ต่อยอดแนวทางการดำเนินงานในอนาคต

ทั้งนี้ ได้รับทราบแนวทางการติดตามการนำเอกสารชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในสถานศึกษา ซึ่งเป็นชุดพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านคณิตศาสตร์ ตามกรอบการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียน โดยบูรณาการการเรียนการสอนร่วมกับรายวิชาพื้นฐาน และรับทราบแผนการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ระยะที่ 2 โดย สสวท. ได้นำเสนอกิจกรรมการดำเนินงานในการพัฒนานักเรียนชั้น ม.3 ม.4 และ ปวช.1 ภาคเรียนที่ 1 ในปีการศึกษา 2568

โดยมีกิจกรรมอบรมครูเพื่อสร้างให้เป็นผู้สร้างข้อสอบ ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตามแนว PISA กิจกรรมการนำแบบฝึกที่จัดทำโดย สสวท. และ สพฐ. ส่งให้ต้นสังกัด เพื่อให้โรงเรียนนำไปฝึกใช้กับนักเรียน มีคะแนนเป็นแรงจูงใจ และร่วมกันจัดทำหลักสูตรและจัดประชุมครูแกนนำเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมนักเรียน โดยจัดอบรมในรูปแบบ Onsite และจัดประชุมผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน เพื่อชี้แจงแนวทางการจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมนักเรียน จัดอบรมในรูปแบบ Online

สำหรับการเตรียมการระยะยาวสู่การประเมิน PISA สพฐ. ได้เตรียมการปรับข้อสอบทุกระดับชั้นให้เป็นแนว PISA (ฝึกการอ่านจับประเด็นและคิดวิเคราะห์) ปรับภาษาข้อสอบให้เหมาะกับเด็ก ซึ่งจะมีการจัดทำหนังสือชี้แจงแนวทางการปรับรูปแบบข้อสอบที่ใช้สถานศึกษาในทุกระดับชั้น ให้สอดคล้องกับรูปแบบข้อสอบตามแนว PISA ในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนในสถานศึกษาทุกระดับชั้น การจัดหาและพัฒนาข้อสอบที่มีรูปแบบข้อสอบตามแนวคิด PISA เพื่อให้บริการสถานศึกษาผ่านระบบคลังข้อสอบมาตรฐาน (Standardize Item Bank System : SIBS)

การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานติดตามผลการเบิกจ่ายและผลการใช้จ่ายงบลงทุน 2567 ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่มีสถานศึกษาในสังกัด หรือเขตพื้นที่การศึกษา ขอให้เร่งรัดการดำเนินงาน และติดตามการจัดซื้อจัดจ้าง รายจ่ายงบลงทุนอย่างใกล้ชิด ให้มีความถูกต้อง และให้คำปรึกษาแก่หน่วยงาน/สถานศึกษาในสังกัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รายงานงบลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำเสนอข้อมูลในภาพรวมได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการเร่งรัด ก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเฉพาะงบลงทุน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2567 โดยหากหน่วยงานประสบปัญหาในการดำเนินการไม่ทันตามกำหนด ขอให้แจ้งสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะได้ประชุมสรุปผลการใช้จ่ายงบประมาณต่อไป โดยการดำเนินงานต้องคำนึงถึงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยึดแนวทางการทำงานด้วยความถูกต้อง และต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระเจ้าหน้าที่และบุคลากรในองค์กร

ครม. กำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย เนื่องจากการไหว้ของไทย ถือเป็นการแสดงออกทางสังคมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้มีการเสนอการไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 โดย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา พิจารณาและเห็นชอบในหลักการแล้ว

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ และเน้นย้ำผู้บริหารทุกท่านร่วมกันถ่ายทอดเจตนารมณ์ ในการอนุรักษ์เอกลักษณ์ประจำชาติไทย เพื่อให้เกิดการสืบทอดการแสดงความเคารพแบบไทยให้คงอยู่ตลอดไป โดยขยายผลไปยังสถานศึกษา จัดทำสื่อ วีดิทัศน์ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการไหว้ เพื่อปลูกฝังเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วัฒนธรรมการไหว้ที่ถูกต้อง

ลักษณะการไหว้ของไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ จึงได้เสนอให้การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ โดยเป็นการสร้างเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งแนวปฏิบัติในเรื่องของการไหว้นั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดระดับของการไหว้ไว้ 3 ระดับ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และใบหน้าเป็นตัวกำหนดตำแหน่ง

การไหว้ระดับที่ 1 ใช้สำหรับไหว้พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมถึงโบราณสถาน โบราณวัตถุทางพุทธศาสนา ในกรณีที่เราไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว นิ้วชี้สัมผัสส่วนบนของหน้าผาก
การไหว้ระดับที่ 2 ใช้สำหรับไหว้ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์และผู้ที่มีเราเคารพนับถืออย่างสูง โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้สัมผัสระหว่างคิ้ว
การไหว้ระดับที่ 3 ใช้สำหรับไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่มีวัยวุฒิสูงกว่าเราไม่มากนัก รวมถึงใช้แสดงความเคารพผู้ที่เสมอกันหรือเป็นเพื่อนกันได้ด้วย โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง นิ้วชี้สัมผัสบริเวณปลายจมูก

การตรวจสอบและดูแลความเรียบร้อยของอาคารสถานที่ราชการในกำกับ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่ได้มีข้อสั่งการให้ผู้บริหารหน่วยงานตรวจสอบดูแลความเรียบร้อยของอาคารสถานที่ราชการในกำกับให้มีความเรียบร้อย พัฒนา ปรับปรุง หรือซ่อมแซมอาคารให้มีความปลอดภัย พร้อมใช้งาน รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่น สร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการทำงาน เน้นย้ำให้ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดูแลอาคารสถานที่พื้นที่ในกำกับอย่างต่อเนื่อง และกำชับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในการตรวจตราความเรียบร้อยของอาคารสถานที่อย่างทั่วถึง รวมถึงให้สำรวจทรัพยากรที่แต่ละหน่วยงานมี สามารถนำมาใช้ร่วมกันกับหน่วยงานอื่นใน ศธ. อาทิ วัสดุ ครุภัณฑ์ อาคาร สถานที่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

ต้องขอชื่นชมหน่วยงานที่ได้นำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการนำปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ในหน่วยงาน อาทิ การปรับปรุงห้องน้ำตามโครงการ “สุขาดี มีความสุข” ซึ่งหน่วยงานมีการปรับปรุงห้องน้ำเพื่อให้บุคลากรทุกคนได้ใช้ห้องน้ำที่สวยงาม สะอาด (แห้ง หอม) สะดวก สบาย และถูกสุขลักษณะ การปรับปรุงภูมิทัศน์ศาลา 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ดำเนินกิจกรรมอาชีวะพัฒนาศาลา 100 ปีและภูมิทัศน์กระทรวงศึกษาธิการ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตามโครงการ 72 กิจกรรม ศึกษาธิการ เทิดไท้องค์ราชัน 72 พรรษา มหามงคลฯ ซึ่งได้ดำเนินการซ่อมแซมศาลา 100 ปี ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม ชำรุด ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ งดงามทรงคุณค่ามีความปลอดภัยและปรับปรุงภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมบริเวณในกระทรวงศึกษาธิการ

ขอความร่วมมือให้ผู้บริหารและบุคลากรทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน โดยไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะทำให้หน่วยงานของเราสะอาด ร่มรื่น น่าอยู่และมีความปลอดภัย เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องพื้นที่สำหรับเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

การสำรวจความต้องการเพื่อเตรียมการปรับปรุงที่พักอาศัยครู

รมว.ศธ. กล่าวว่า เรื่องที่พักอาศัยครู ศธ. ได้เตรียมแผนสำหรับการสร้างหรือปรับปรุงบ้านพัก/ที่พักครู โดยมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจทรัพยากรและความต้องการในแต่ละพื้นที่ ทั้งข้อมูลบ้านพัก/ที่พักครู ทั้งในโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงค่ายลูกเสือจังหวัด บ้านพักบุคลากรลูกเสือ บ้านพักผู้เข้าอบรม เพื่อเตรียมการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนา ปรับปรุง หรือซ่อมแซมอาคารสถานที่ให้มีความปลอดภัย พร้อมใช้งาน รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อเป็นการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ

ศธ. จะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะดำเนินการสร้างจาก “บ้านพักครู” เป็น “แฟลตพักครู” หรือการนำอาคารเรียนที่ไม่ได้ใช้งานจากสถานศึกษาบางแห่งที่ถูกยุบรวมไป ก็สามารถนำมารีโนเวทเป็นบ้านพักครูโฉมใหม่ เพื่อให้ครูได้อยู่ร่วมกันเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยการระดมทรัพยากรและความร่วมมือกับทุกภาคส่วนหรือภาคเอกชนมาร่วมกันสนับสนุน และเตรียมหารือแนวทางในการเสนอขอรับงบประมาณต่อไป

ข้อสั่งการของ รมว.ศธ. ในที่ประชุมฯ

การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่ได้มอบหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการการพัฒนาการศึกษาในระดับจังหวัด ในการขับเคลื่อนการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษาระดับพื้นที่ โดยส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด ในพื้นที่ 9 จังหวัดนำร่อง จัดทำแผนการศึกษาจังหวัด คือแม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นราธิวาส สระแก้ว ชัยนาท และสระบุรี โดยมอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ และพัฒนาให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมขยายผลทั่วประเทศในระยะต่อไป

การสอบเพื่อบรรจุเข้ารับราชการหรือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า ในการสอบเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ หรือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในทุกตำแหน่งนั้น ขอทุกท่านโดยเฉพาะผู้อำนวยการสอบทุกสนามสอบ ยึดถือความถูกต้อง ยุติธรรม หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการสอบเป็นหลัก ต้องมีความเสมอภาค เพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น

ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการสอบเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีเหตุการณ์การเจ็บท้องหรือคลอดลูกระหว่างการสอบ ในหลายเขตพื้นที่ฯ ที่จัดสอบ ต้องขอชื่นชมผู้เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีจำเป็นเร่งด่วนในการให้การช่วยเหลือผู้เข้าสอบที่ตั้งครรภ์และมีภาวะใกล้คลอด และคณะกรรมการดำเนินการสอบฯ ได้อำนวยความสะดวก โดยส่งผู้กำกับห้องสอบและนำข้อสอบและแบบทดสอบมาให้ผู้เข้าสอบ ณ โรงพยาบาล เพื่อให้ได้สอบเสร็จสิ้นตามกระบวนการ

ขอให้ผู้บริหารกำชับแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการสอบแข่งขันในทุกตำแหน่ง ให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนและอยู่บนพื้นฐานของกฎ ระเบียบ ข้อกฎหมาย และความถูกต้องเป็นหลัก หากเกิดเหตุหรือปัญหาเฉพาะหน้าก็ขอให้ใช้ดุลยพินิจและพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อป้องกันการถูกร้องเรียนหรือสร้างข่าวเชิงลบ กระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบการสอบแข่งขันของกระทรวงศึกษาธิการ

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
พีรณัฐ ยุชยทัต / ภาพ

The post เสมา 1 หารือผู้บริหารในสังกัด รับลูก ครม. ชู การไหว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ พร้อมสำรวจความต้องการ เตรียมปรับปรุงที่พักครูทั่วประเทศ appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post