29 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 20/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินงานและมีกิจกรรมหลายภารกิจด้วยกัน ขอขอบคุณความร่วมมือของชาวกระทรวงศึกษาธิการทุกคน ที่ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานทำให้งานสำเร็จ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการป้องกันระวังภัย และมีการเตรียมแผนรับมือเป็นอย่างดี ขอเน้นย้ำการทำงานในเชิงรุก สอดประสานการทำงานร่วมกัน และการรับผิดชอบในบทบาทภาระหน้าที่ของทุกคนเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการสอบ PISA และร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ มีแผนการดำเนินงานและแผนการติดตามการดำเนินงานในทุกเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัด พร้อมทั้งจัดทำแผนระยะยาวเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาความรู้ เสริมสร้างศักยภาพของผู้บริหาร ครูแกนนำ ครูพี่เลี้ยง รวมถึงผู้ออกข้อสอบ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ฝากแนวคิดในการพัฒนาการสอบของเด็กนักเรียนตั้งแต่วัยประถม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการสอบ PISA และการสอบอื่น ๆ ที่สำคัญ เน้นการพัฒนาข้อสอบให้มีการเน้นการคิด การวิเคราะห์ เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจในรูปแบบของข้อสอบเพื่อการสอบในอนาคต รวมถึงการสร้างค่านิยมหรือแรงจูงใจที่จะผลักดันให้เด็กนักเรียนเห็นความสำคัญ และเห็นคุณค่าของการสอบ ดังนั้น นอกจากการปรับกระบวนการออกข้อสอบแล้ว ต้องมีการปรับเนื้อหาข้อสอบให้มีความทันสมัย เข้าใจง่าย ใช้ภาษาสื่อสารที่เข้ากับยุคสมัยใหม่ หรือสิ่งที่วัยรุ่นวัยเรียนใน Gen Z คือ คนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2541 -2565 (1998 – 2024) มีความสนใจ ซึ่งต้องดำเนินการในสถานศึกษาทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาอื่น ๆ ทั้งประเทศ

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สสวท. และ สพฐ.วางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรอบรม การใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา ติดตามกลุ่มเป้าหมาย มีการกระตุ้นให้ทุกกลุ่มเป้าหมายให้ความสำคัญและเข้ารับการอบรมระบบออนไลน์ฯ เน้นการสำรวจข้อมูลในเชิงลึก จัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบและวาง Timeline ให้ชัดเจน วางแผนการบริหารจัดการสำหรับผู้ที่มีการขยายผลและได้ผลลัพธ์ที่ดี และหาวิธีการสำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการอบรม โดยนอกจากการแจ้งผลคะแนนแล้วควรมีการปรับปรุงพัฒนาในระยะต่อไปด้วย

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ติดตามผลการดำเนินงานเบิกจ่ายงบประมาณ งบรายจ่ายลงทุน โดยไม่มีเงินคงค้างหรือเหลือจ่าย วางแผน ติดตาม ควบคุมการใช้จ่ายอย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัด กำหนดปฏิทินการดำเนินงานให้แล้วเสร็จทุกขั้นตอนภายในเดือนมิถุนายน และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านงบประมาณต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด มีการนำ KPI (Key Performance Indicator) มาใช้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน เพื่อประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Thailand Zero Dropout

รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) โดยมี 4 มาตรการสำคัญคือ
1) มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
2) มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม
3) มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง
4) มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15-18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เหมาะสมตามศักยภาพและมีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา

การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ จะขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัด Thailand Zero Dropout รวม 25 จังหวัด เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ จำนวน 20,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และจะครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

โดย ศธ. ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เร่งสำรวจเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาทั้งประเทศ ดำเนินการสำรวจในพื้นที่ 77 จังหวัด และสาเหตุที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษา 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ความจำเป็นทางครอบครัว การย้ายถิ่นฐาน และสาเหตุจากผู้เรียนเอง โดยจากการสำรวจเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ต้องกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด

ร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและตระหนักถึงการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากมีการแพร่ระบาดในสถานศึกษาส่งผลกระทบต่อเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ทุกคนร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยที่ ศธ. มีพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) มีโดยบทบาทหน้าที่สำคัญในการป้องกัน ปลูกฝัง ป้องปราม ด้านการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ตามมาตรการความปลอดภัยสถานศึกษา ที่มุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยต่อนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าได้

กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ดำเนินการประสานขอความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็น “พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522” เพื่อให้มีอำนาจและหน้าที่ยึด หรืออายัดเอกสาร หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 17 (3) ในเขตพื้นที่ของสถานศึกษานั้น ๆ ซึ่งต้องมีการวางแผนการและหารือการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

นโยบายของ รมว.ศธ.

รมว.ศธ. กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้มีการขับเคลื่อนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพ และสมรรถนะที่สำคัญจำเป็น “เรียนดี มีความสุข” ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน ดังที่กล่าวไว้ว่า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ทั้งนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และนโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนและดำเนินนโยบายได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ รมว.ศธ. ยังได้มีนโยบายเพิ่มเติมในส่วนของการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา คือนโยบายยกเลิกครูเวร : ชีวิตและความปลอดภัยของครูสำคัญกว่าทรัพย์สิน จัดหานักการภารโรง การปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน และในส่วนของการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง มีการเพิ่มนโยบายอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส ผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งอาจยกเว้นเครื่องแบบ-รองเท้านักเรียน อาจใช้ชุดและรองเท้าอื่นได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ซึ่งนโยบายที่กล่าวมานั้นมีการขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือร่วมใจของคนและทุกที่เกี่ยวข้อง

“ขอให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ และทบทวนภารกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายที่ยังต้องเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา อาจจะต้องมีการทบทวนกฎหมาย ประสานหน่วยงานทางการเงินในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เห็นผลเป็นรูปธรรม นโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ระยะที่ 2 ในการเพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. และพัฒนาไปสู่สถานศึกษาทุกสังกัดของ ศธ. สิ่งที่สำคัญคือการขยายเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น“

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ

The post เสมา 1 ย้ำ หน่วยงานในสังกัดทำงานเชิงรุก พร้อมขยายเครือข่ายความร่วมมือ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post