23 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 19/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานเชิงรุก เพื่อให้งานต่าง ๆ ขับเคลื่อนไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงการปฏิบัติงานประจำของหน่วยงาน ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะและการสนับสนุนการทำงานของทีมงาน สร้างความตื่นตัวในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายทำงานไปด้วยกัน ทำให้ดี ทำให้ได้ และร่วมมือกันทำในทันที ตามแนวทางการทำงาน “ทำดี ทำได้ ทำทันที”

แนวทางการทำงาน “ทำดี”

การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน

รมว.ศธ. กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน ทำให้เห็นถึงการพัฒนาและเป็นการสำรวจคุณภาพของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ ซึ่ง ศธ. มีนโยบายยกระดับและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในทุกระดับ ขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมมือร่วมใจพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ เป็นการ “ทำดี” เพื่อนักเรียนทุกคน

ขอชื่นชมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ได้มีความพยายามในการบริหารจัดการ แสวงหาทุนการศึกษา โดยการระดมทรัพยากรและความร่วมมือกับชุมชนและจากภาคเอกชน มาร่วมกันจัดการศึกษา อาทิ โรงเรียนในชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าอาวาสวัดและประชาชนในท้องถิ่น มาร่วมสนับสนุนทุนและทรัพยากรให้แก่นักเรียน ถือมิติด้านคุณภาพการศึกษาในเรื่องของความร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อให้การศึกษาของนักเรียนในชุมชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในส่วนของ ศธ. ก็พร้อมและยินดีที่จะสนับสนุนการศึกษาในทุกระดับ

โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง

รมว.ศธ. กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพวิชาการของโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งมีแนวทางพัฒนาโรงเรียนชั้นนำของประเทศให้สามารถเป็นต้นแบบในการบริหารงานวิชาการแก่โรงเรียนมัธยมศึกษาอื่น ๆ ในเครือข่ายได้ ซึ่งมีการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน โดยใช้มาตรฐานคุณภาพเดียวกัน นำกระบวนการทำงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครู ผู้เรียน และผู้ปกครองได้ร่วมกันพัฒนาความรู้และนวัตกรรมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ผ่านเครือข่าย “โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง” และได้มอบหมายให้ สพฐ. ศึกษาและสังเคราะห์ข้อมูลโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง และโรงเรียนในกลุ่มเครือข่าย และ Best Practice ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบ กลุ่มโรงเรียนเทพศิรินทร์ และกลุ่มโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยการศึกษาสังเคราะห์ในเรื่องที่สำคัญ เช่น ด้านหลักสูตรการศึกษาด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยศึกษาแนวทางที่มีความสอดคล้องร่วมกัน ระหว่างโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องและโรงเรียนในกลุ่มเครือข่าย และทำการสื่อสารสร้างความเข้าใจผ่านช่องทางต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา ถือเป็นการร่วมกัน “ทำดี” แบ่งปันสิ่งที่ดีให้แก่กัน

แนวทางการทำงาน “ทำได้”

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA และ O-NET

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานมีการสื่อสารการทำงาน แนวทางการดำเนินการ รวมถึงการกระตุ้นให้มีการเรียนรู้และขยายผลไปยังทุกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนและครบทุกมิติ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานตามสถานการณ์และความเหมาะสม โดยเชื่อว่าทุกหน่วยงานสามารถ “ทำได้”

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สสวท. วางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรอบรมการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา ภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาเปิดลงทะเบียนรุ่นที่ 1 ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 โดยเน้นการสำรวจข้อมูลในเชิงลึก จัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบและวาง Timeline ให้ชัดเจน และให้การทำงานมี Feedback เพื่อช่วยให้รับทราบแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

สำหรับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรอบรมการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษานั้น นอกจากบุคลากรของ ศธ. และยังรวมถึงหน่วยงานในสังกัด อว. กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้จัดทำระบบแบบออนไลน์แล้ว ควรมีการจัดสรรข้อมูลผู้ลงทะเบียนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การใช้อีเมลเพื่อการติดตามข้อมูล การขยายผลของผู้ลงทะเบียน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ อัปเดตข้อมูลของผู้ลงทะเบียนเข้าอบรมและให้มีข้อมูลแยกรายโรงเรียน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนใดยังไม่มีผู้ลงทะเบียน และแจ้งมายังกลุ่มผู้บริหารเพื่อให้ผู้บริหารแต่ละหน่วยงาน ไปดำเนินการให้บุคลากรภายในสังกัดลงทะเบียนเข้าอบรมต่อไป

ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล โดย สพฐ. ร่วมกับ สสวท. ในการจัดหลักสูตรการอบรมการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษารุ่นที่ 1 เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ การกำหนดภาระงานและชิ้นงานในการเรียนรู้ และรายละเอียดของสมรรถนะและแนวทางการทำแบบทดสอบ และแนวทางการใช้ระบบทดสอบ Computer Based Test Online/Offline เพื่อเป็นการพัฒนาวิทยากรพี่เลี้ยง และแกนนำในระดับเขตพื้นที่ ได้รับการพัฒนาจนสามารถออกแบบการดำเนินการขับเคลื่อนลงสู่การปฏิบัติในห้องเรียนได้ และสามารถเติมเต็มองค์ความรู้เพิ่มเติมได้จากหลักสูตรออนไลน์ที่จัดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่การพัฒนาองค์ความรู้และแนวทางการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ พี่เลี้ยงและแกนนำระดับเขตพื้นที่ และผู้สนใจได้รับความรู้ในภาพรวม ซึ่ง สพฐ. จะมีการติดตามการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยการยกระดับผล PISA & O-NET ตลอดทั้งปีการศึกษาจนถึง ปี พ.ศ. 2568 ซึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาจะเริ่มตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัย จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มเป้าหมายนักเรียนชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 โดยจับคู่พัฒนาร่วมกันระหว่างโรงเรียนที่มีผลคะแนน O-NET ต่ำ กับโรงเรียนพี่เลี้ยง ที่มีผล คะแนน O-NET สูง รวมถึงการพัฒนาคลังข้อสอบมาตรฐาน โดยต้องครอบคลุมทั้ง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตรงตามมาตรฐานและตัวชี้วัด ครอบคลุมทุกทักษะ ผ่านการทดลองจากสถานศึกษาทั่วประเทศ และผ่านการวิเคราะห์คุณภาพของข้อสอบ ซึ่งมีการขับเคลื่อนและขยายผลจากแกนนำ 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET มอบหมายให้ สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักในการสำรวจแนวทางในการใช้ผลการสอบ O-NET เพื่อการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เพื่อนำข้อมูลมาสู่การวางแผนการดำเนินงาน โดยขอให้มีการประเมินความเสี่ยง และหากระบวนการจัดการความเสี่ยง เพื่อให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องมีเครื่องมือในการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงาน และหาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวในการบริหารจัดการเรื่องการสอบ O-NET เพื่อเสนอแนวทางในการปรับปรุง พัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งความสำเร็จของการนำนโยบายไปปฏิบัติขึ้นอยู่กับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

แนวทางการทำงาน “ทำทันที”

การสำรวจข้อมูลเด็กที่ออกกลางคัน หลุดจากระบบการศึกษาทั่วประเทศ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำรวจข้อมูลเด็กวัยเรียนทั่วประเทศ อายุ 6 – 15 ปี ที่ออกกลางคัน หลุดจากระบบการศึกษาทั้งประเทศ โดยให้ “ทำทันที” เพื่อมาร่วมกันบริหารจัดการให้เด็กที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและมีที่เรียน เพื่อคุณภาพที่ดีในอนาคต โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ดำเนินการสำรวจในพื้นที่ 77 จังหวัด พบว่าสาเหตุที่เด็กออกกลางคันฯ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ความจำเป็นทางครอบครัว การย้ายถิ่นฐาน และสาเหตุจากผู้เรียนเอง โดยจากการสำรวจเด็กออกกลางคันฯ เหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องการรับการสนับสนุนด้านการศึกษา ด้านการประกอบอาชีพ และด้านการดำรงชีพ

ข้อมูลจากผลการสำรวจยังไม่ครบกลุ่มเป้าหมาย จึงขอให้ทุกภาคส่วนให้การสนับสนุน และให้ความร่วมมือในการสำรวจข้อมูลในครั้งนี้ มีการทำงานเชิงรุก ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเข้าถึงข้อมูล และเชื่อมั่นว่าถ้าทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันจะสามารถนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ พร้อมหาแนวทางในการขอรับการสนับสนุนและความร่วมมือ ในการจัดสรรทรัพยากรให้กับผู้เรียนที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาทุกคน โดยให้รายงานผลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ให้ตนทราบภายในวันที่ 10 มิ.ย. นี้

คนรุ่นใหม่ ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกคนร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และขอให้ “ทำทันที” เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนรู้เท่าทันพิษภัย และการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ให้สอดรับกับระดับการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละช่วงวัย เพื่อสร้างค่านิยมคนรุ่นใหม่ ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเผยแพร่องค์ความรู้โทษจากอันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า ขอความร่วมมือเผยแพร่คลิป สื่อสารให้เกิดอิทธิพลกับ นักเรียน และผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนทุกคน ได้รับรู้รับทราบในการตระหนักถึงการป้องกันภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ศธ. ยังมีแนวทางการบูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ในการดำเนินการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ตามที่กระทรวงพาณิชย์มีประกาศ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งต้องมีการวางแผนการและหารือการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

ข้อสั่งการของ รมว.ศธ.

โครงการ “สุขาดี มีความสุข” ตามที่ได้มีนโยบายในการปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียนตามโครงการ “สุขาดี มีความสุข” ขอชื่นชม สพฐ. ที่เป็นหน่วยงานนำร่องในการปรับปรุงห้องน้ำ โดยขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ 100% ภายในเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่อจากนี้จะได้มีการทบทวนแนวทางการดำเนินการต่อเนื่องในระยะต่อไป รวมถึงการสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานของ ศธ. นำแนวทางไปปรับปรุงห้องน้ำในหน่วยงาน อาทิ การปรับปรุงครุภัณฑ์อุปกรณ์ที่ชำรุด การทำ 5ส. “สะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทุกคน

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขอให้ติดตามผลการดำเนินงานเบิกจ่ายงบประมาณ งบรายจ่ายลงทุน ซึ่งพบว่าผลการเบิกจ่ายมีความล่าช้า และต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด จึงขอให้กำหนดปฏิทินการดำเนินงานให้แล้วเสร็จทุกขั้นตอนภายในเดือนมิถุนายนนี้ และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และมอบหมายผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านงบประมาณดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้า และตรวจสอบรายการขอการเงินไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีว่ามีงบประมาณใดตกค้าง โดยให้กำกับดูแลและติดตามไม่ให้งบประมาณถูกพับไป

การวางแผนงานเชิงระบบ ฝากให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานโดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนของ ศธ. มีการวางแผนงานเชิงระบบ ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานให้มีแบบแผน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานซึ่งจะช่วยลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนและประหยัดเวลา เพื่อลดภาระผู้ปฏิบัติงานทุกคน ตามที่ รมว.ศธ. เน้นย้ำอยู่เสมอว่า “ทำดี ทำได้ ทำทันที”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
สมประสงค์ ชาหารเวียง / วีดิทัศน์
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ

The post เสมา 1 เร่งสำรวจนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา พร้อมร่วมมือเครือข่ายสร้างค่านิยมคนรุ่นใหม่ ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post