เสมา 1 ลุยบุรีรัม
จังหวัดบุรีรัมย์ – ...
23 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 ทั้งในด้านความปลอดภัยและการจัดการเรียนการสอน โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ ผู้อำนวยการสถานศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม จำนวน 650 คน ณ ห้องประชุมฉัตรแก้ว โรงเรียนสตรีนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting กว่า 21,002 คน และรับชมถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง OBEC Channel จำนวน 20,905 คน รวมทั้งสิ้นกว่า 42,557 คน
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้สื่อสารนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้แก่ผู้บริหารเขตพื้นที่และสถานศึกษา ซึ่งทุกคนเป็นเป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญในการเชื่อมต่อนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ ตัวผู้เรียน ทำอย่างไรให้ “เรียนดี มีความสุข” ทั้งนี้ ศธ. มีกำหนดเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 จึงขอให้สถานศึกษาดำเนินการในด้านต่าง ๆ ได้แก่
ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา ให้คำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียน ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียนจนออกจากโรงเรียน และเดินทางถึงบ้านพักนักเรียน
ด้านการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น การจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน กิจกรรมเสริมทักษะเพิ่มเติม เป็นต้น
ด้านเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือ สถานศึกษาประสานเครือข่ายและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมเสริมทักษะชีวิต บูรณาการความร่วมมือการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กนักเรียน เป็นต้น
“ก่อนเปิดภาคเรียนปีนี้ก็จะมีความแปลกใหม่เล็กน้อย ซึ่งทุกท่านก็คงทราบอยู่แล้ว เรื่องของการจ้างนักการภารโรง ขณะนี้อยู่ในกระบวนการสรรหาบุคคล ซึ่งตามแผนแล้วจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ และจะเริ่มจ้างในวันที่ 1 พฤษภาคม วันนี้เราจึงมาประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจกันก่อน และมอบนโยบายการปฏิบัติงานทุกเรื่อง ไม่ว่าจะในมิติของเรื่องสภาพแวดล้อม สถานที่ ด้านวิชาการ การรักษาความปลอดภัยในการดูแลเด็ก ๆ ผมและ รมช.ศธ.ก็ได้ถือโอกาสมาให้กำลังใจทุกท่าน โดยจากที่ติดตามการทำงานมาตลอดก็เห็นว่า เลขาธิการ กพฐ.และผู้บริหารระดับสูงทุกท่านล้วนมีความพร้อมในการขับเคลื่อน ซึ่งการประชุมวันนี้มีผู้เข้าร่วมรับฟังในแต่ละช่องทางจำนวนมาก เราก็จะให้สแกน QR Code เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สื่อสารกลับมาว่าการรับรู้การถ่ายทอดวันนี้เป็นอย่างไร มีสิ่งใดที่สงสัย หรือไม่เข้าใจก็สามารถแจ้งเข้ามา เราจะติดตามนำข้อคำถาม คำแนะนำต่าง ๆ มาพัฒนาให้ดีที่สุด” รมว.ศธ. กล่าว
รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องการสร้างความเท่าเทียมในการใช้ห้องน้ำ ที่ให้ครูกับนักเรียนเข้าห้องน้ำร่วมกันได้โดยไม่แบ่งแยกนั้น ก็เป็นข้อแนะนำของรัฐมนตรี ซึ่งก็แล้วแต่ความเหมาะสมของโรงเรียนที่จะดำเนินการ ไม่ได้เป็นข้อสั่งการหรือข้อบังคับให้ปฏิบัติทุกโรงเรียน โดยประสบการณ์ของรัฐมนตรีเองที่เคยทำงานมา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ประชาชน นักเรียน ข้าราชการ พ่อค้าหรือใครก็ตาม สามารถใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกกัน
การที่เน้นย้ำเรื่องของห้องน้ำเพราะว่าห่วงใยเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย สิ่งนี้สำคัญมากกว่าประเด็นที่ครูใช้ห้องน้ำของนักเรียน หรือนักเรียนใช้ห้องน้ำของครูแล้วจะทำให้เกิดความไม่เคารพกัน หากเราสามารถมาใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ ก็เป็นมิติหนึ่งที่สามารถทำได้ที่ครูได้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ซึ่งบางทีครูเข้าไปในห้องน้ำนักเรียน อาจจะได้เห็นว่ามีอุปกรณ์ชำรุดก็จะได้เร่งซ่อมแซม หรือแม้แต่หากเกิดมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ เช่น การกลั่นแกล้งบูลลี่กัน การแอบสูบบุหรี่หรือสารเสพติด ครูก็จะรับรู้และช่วยแก้ไขได้ ทั้งนี้ก็เป็นดุลพินิจของโรงเรียนว่าจะแยกห้องน้ำหรือไม่แยกก็ได้ แต่กำชับว่าห้องน้ำครูและห้องน้ำนักเรียนต้องมีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ อุปกรณ์ที่ใช้ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน
“ดังนั้น ในห้วงเวลาก่อนการเปิดภาคเรียนใหม่นี้ จึงขอความร่วมมือจากทุกท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่กำกับดูแลสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนดูแลนักเรียนเป็นจำนวนมาก ได้ร่วมกันในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ทั้งในด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงด้านความปลอดภัย อาคารสถานที่ อุปกรณ์ ฯลฯ เพื่อให้การปฏิบัติงานต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จ นำไปสู่การสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาครอบคลุมทุกด้าน เป็นประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ได้กล่าวแสดงความห่วงใยครูและนักเรียน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน จะเห็นได้ว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ สามารถลดภาระครูได้อย่างชัดเจนและสร้างความสุขให้ครูได้ไม่น้อย แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างความสุขให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเท่านั้น เพราะจากนี้ไปพวกเราจะมาช่วยกันทำให้ความสุขเหล่านั้นมากยิ่งขึ้นในการร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครู ผู้ปกครอง นักเรียน รวมทั้งขอย้ำว่านโยบาย ศธ. จะมีแต่นโยบายที่ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา จะไม่มีนโยบายไหนที่ออกไปแล้วสร้างภาระนอกเหนือจากการสอนให้กับครูและบุคลากรของเรา หรือภาระที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงมีแต่จะต้องโดนลดลงไป
การเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 นี้จะเป็นปีแรกจริง ๆ ที่จะดำเนินการตามแนวทาง “เรียนดี มีความสุข” ดังนั้นนโยบายที่กำลังออกมาเรื่อย ๆ จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องคุณภาพการศึกษา สภาพแวดล้อม สถานที่การจัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 29,000 กว่าแห่ง อีกเรื่องหนึ่งคือ ห้องสุขา ก็เป็นนโยบายที่ รมว.ศธ.ให้ความสำคัญ ซึ่งมาจากเสียงสะท้อนของเด็กนักเรียน เราก็นำมาขับเคลื่อนแก้ปัญหา เพื่อให้ลูก ๆ นักเรียนได้ใช้สุขาที่สะอาด ถูกสุขอนามัย รวมถึงสภาพแวดล้อมด้านอื่น เช่น บรรยากาศของห้องเรียน การปรับภูมิทัศน์สถานที่ในโรงเรียนให้ดูสดชื่นสวยงาม ตลอดจนขอให้เฝ้าระวังความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งช่วงเปิดเทอมใหม่ก็จะเกิดความวุ่นวายอย่างแน่นอน ทั้งการย้ายโรงเรียน การเข้าเรียนใหม่ การเดินทางอาจจะต้องใช้เวลาสัก 2-3 เดือนในการปรับตัว หลังจากเปิดเทอมไปแล้ว รวมถึงการสอดส่องเฝ้าระวังบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาทำอันตรายกับทั้งครูและนักเรียน ด้านการใช้สื่อออนไลน์เช่นกันที่พวกเราต้องช่วยกันเฝ้าระวัง
นอกจากนี้ยังขอชื่นชมสิ่งที่พวกท่านทำได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่อยากขอเน้นย้ำก็คือ เรื่องของอาหารกลางวัน อยากให้มีความเหมาะสมตามหลักโภชนาการ วันนี้โรงเรียนขยายโอกาสก็กำลังจะได้รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน แต่จะยังไม่ใช่เทอมนี้ โดยจะไปเริ่มต้นในเทอม 2 เนื่องจากเราใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 ซึ่งระหว่างนี้น่าจะทำให้ท่านบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ดีขึ้น
จากนั้น ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบนโยบายสู่การปฏิบัติ เรื่อง “ลดภาระครู ลดภาระนักเรียน และลดภาระผู้ปกครอง” ก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 และผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้นำเสนอการขับเคลื่อนงานตามนโยบายฯ “OBEC ONE TEAM” ได้แก่
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู การยกระดับผลการประเมิน PISA ระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต การมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) การจัดการศึกษาเรียนรวม และการวัดผล เทียบโอน
นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่อง การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา การจ้างนักการภารโรง และการพัฒนาภาษาอังกฤษ
นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่อง การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ความปลอดภัยในสถานศึกษา กิจกรรมพิธีไหว้ครู Soft Power และอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส
นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เรื่อง การปรับภูมิทัศน์ การปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำโรงเรียน และโรงเรียนคุณภาพ
นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เรื่อง การเรียนรู้ ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)
ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว
สมประสงค์ ชาหารเวียง/ถ่ายภาพ
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
The post ศธ. นัดผู้บริหาร สพฐ. และ 245 เขตพื้นที่ มอบนโยบายเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน 1/2567 เดินเครื่อง “เรียนดี มีความสุข” เต็มรูปแบบ appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.