ราชกิจจานุเบกษา
ราชกิจจานุเบกษา (30 เ...
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ชี้แจงในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567 ณ อาคารรัฐสภา
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการนำไปขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องที่ดำเนินการไปแล้วในด้านการลดภาระครู ได้แก่ ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา นำครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ รวมถึงเรื่องที่เพิ่มเติมจากนโยบายที่ได้แถลงไป คือ การยกเลิกเวรครู ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า “ชีวิตและความปลอดภัยของครูสำคัญกว่าทรัพย์สิน” การจัดหานักการภารโรง และปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ส่วนการลดภาระนักเรียนที่ดำเนินการแล้ว คือ การมีรายได้ระหว่างเรียน จบมามีงานทำ และอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส
การลดภาระครู ได้ดำเนินการ ดังนี้
1. ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอน ปริมาณเอกสาร (paperless) และเปิดช่องทางต่าง ๆ นำระบบประเมินวิทยฐานะผ่านระบบออนไลน์ Digital Performance Appraisal : DPA มาใช้ในกระบวนการประเมินทุกขั้นตอน ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ว่าเรื่องอยู่ในขั้นตอนใด ได้รับการพิจารณาหรือยัง ซึ่งระบบ DPA ใช้เวลาประเมินเร็วสุดหลังจากยื่นผลงาน 17 วัน ค่าเฉลี่ยเวลาการประเมินไม่เกิน 3 เดือน ประหยัดงบประมาณได้มากถึง 10 เท่า และปิดช่องทางการทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์จากครู และลดภาระครูในการผลิตเอกสารที่เสียค่าใช้จ่ายมากมายอีกด้วย
2. ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ได้มอบนโยบายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. จัดทำระบบการย้ายสับเปลี่ยนผ่านระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matching System : ระบบ TMS) เพื่อให้การบริหารจัดการย้ายครูเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โดยครูที่ต้องการย้ายสับเปลี่ยนสามารถมาลงข้อมูลในระบบ จากนั้นระบบจะจับคู่ให้ตามความต้องการ ซึ่งครูสามารถเข้ามาติดตามดูผลได้ตลอด สำหรับครูที่จับคู่ย้ายได้แล้ว สำนักงาน ก.ค.ศ. จะส่งรายชื่อไปให้ สพท. ปลายทางที่ผู้ขอย้ายประสงค์จะไปดำรงตำแหน่ง เพื่อนำเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณา ส่วนครูที่ยังจับคู่ย้ายไม่ได้ เราก็จะทราบข้อมูลและหาทางช่วยเหลือให้สามารถย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมได้ตามต้องการ
3. แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ศธ.แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. เป็นประธาน ได้วางมาตรการ 9 อย่าง ได้แก่ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ยกระดับการหักเงินเดือนและควบคุมยอดหนี้ ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู ปรับโครงสร้างหนี้ ใช้ ช.พ.ค.เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ติดอาวุธให้ความรู้และทักษะด้านการเงิน จัดทำ MOU กับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในส่วนกลางและภูมิภาค
มีการแบ่งครูออกเป็น 3 กลุ่ม คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง ตามสภาพคล่องที่สามารถชำระหนี้ได้ นอกจากแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้ว ยังจัดให้ให้ความรู้ด้านการเงิน โดยได้รับความร่วมมือจากโค้ชหนุ่ม นายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ The money coach และคณะ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ และระยะต่อไปจะมีการนำความรู้ด้านการบริหารเงินและหนี้สินขยายผลไปสู่กลุ่มนักเรียนด้วย
4. จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ จัดหาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลด้านระบบคอมพิวเตอร์สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล จัดหาซอฟท์แวร์สำเร็จรูป การเช่าระบบคลาวด์ระดับ และการเช่าเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนรู้ Tablet, Notebook หรือ Chromebook
5. ยกเลิกครูเวร ทราบกันดีอยู่แล้วว่าครูมีภาระงานที่ต้องสอนหนังสือเป็นหลัก แต่ก็ยังมีภาระหน้าที่อื่น ๆ ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ทั้งงานธุรการ ดูแลรักษาความสะอาด โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กมีบุคลากรค่อนข้างน้อย ครูอาจทำหน้าที่หลายด้าน รวมถึงการอยู่เวรนอกเวลาราชการที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของครูและบุคลากรทางการศึกษา
“ผมมีความเชื่อว่า ชีวิตและความปลอดภัยของครู สำคัญกว่าทรัพย์สิน จึงได้ขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ให้ยกเลิกครูอยู่เวร เป็นการพิจารณาเรื่องของการป้องกันรักษาความเสียหายจากเหตุภัยอันตรายในชีวิตและร่างกายครู พร้อมทั้งขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานศึกษา” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
6. จัดหานักการภารโรง ศธ.มีนโยบายจัดหาตำแหน่งนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน ซึ่งที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบหลักการในการจ้างนักการภารโรง ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 25,370 อัตรา เป็นเงิน 2,739,960,000 บาทเพื่อจ้างนักการภารโรงให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ
ส่วนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อยู่ระหว่างการขออนุมัติใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน หรือ พ.ศ. 2567 แล้วแต่กรณี เพื่อเป็นค่าจ้างนักการภารโรงในโรงเรียนที่ขาดแคลน จำนวน 13,751 อัตรา
7. ปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ลดภาระการประเมินของสถานศึกษา มีการ ลด/เลิก โครงการ กิจกรรม ตัวชี้วัดที่ซ้ำซ้อน การเก็บข้อมูลจาก สพท. สถานศึกษา การรายงานในรูปแบบกระดาษ การเขียนด้วยลายมือ การจัดเตรียมการเพื่อรองรับการติดตามประเมินผล ลดปริมาณข้อมูลที่จัดเก็บและประเด็นที่ประเมิน และลดความซ้ำซ้อน ความถี่ของการติดตามประเมินผล
ในส่วนของมิติการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ศธ.ได้ดำเนินการ ดังนี้
1. เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ได้จัดทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทางออนไลน์ และสื่อการเรียนรู้ที่ครอบคลุมโดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ว่านักเรียนจะอยู่ในพื้นที่ไหน ก็สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยได้รับความเห็นชอบงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2567 มาดำเนินการในเบื้องต้นแล้ว และ ศธ. จะเสนอของบประมาณประจำปี พ.ศ.2568 มาดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป
2. 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ โรงเรียนคุณภาพ 1 โรงเรียน ต่อ 1 อำเภอ โดยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สื่อ อุปกรณ์และงบประมาณในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและบริบทของโรงเรียน ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ปัจจุบัน ซึ่งโรงเรียนคุณภาพประจำอำเภอก็จะมีบทบาทเป็นโรงเรียนแม่หรือโรงเรียนหลัก ไปขยายผลสร้างโรงเรียนเครือข่ายในรัศมีของพื้นที่ เพื่อจะได้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงผู้อำนวยการและคุณครูของโรงเรียนคุณภาพ ก็จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูในโรงเรียนเครือข่ายด้วย
3. ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนรู้ทิศทางของตนเองว่าควรจะไปเรียนหรือทำงานด้านใดต่อ รวมถึงพัฒนาครูแนะแนว เพื่อการให้การปรึกษาและดูแลสุขภาพจิตนักเรียน
4. การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบวิชาชีพ และระบบธนาคารหน่วยกิต
5. การจัดทำระบบวัดผล เทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาในระบบ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ผู้เรียนบางกลุ่มที่ขาดโอกาส ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี อาจจะไปเรียนนอกระบบหรือเรียนจากแพลตฟอร์ม Anywhere Anytime ก็จะเปิดโอกาสให้เข้ามาสอบเทียบวัดผลได้เช่นกัน
6. มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ โดยส่งเสริมและพัฒนาด้านอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการแก่ผู้เรียนอาชีวศึกษา ให้นักเรียนได้ฝึกประสบการณ์ทำงานจริงในช่วงปิดภาคเรียน รวมถึงการพัฒนาผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและประชาชนตามความถนัด ให้สามารถสร้างรายได้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะใหม่ (New-Skills) เพิ่มสมรรถนะ (Up-Skills) หรือทบทวนทักษะ (Re-Skills)
7. อนุมัติงบอาหารกลางวันแก่โรงเรียนขยายโอกาส ศธ. ได้เสนอขอมติ ครม.อนุมัติงบอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาสทุกสังกัด รวมงบประมาณ 2,955,752 บาท อนุมัติให้สูงสุด 36 บาท ซึ่งเมื่อเด็กนักเรียนของเราได้รับอาหารกลางวันที่ดี มีคุณภาพแล้ว จะตั้งใจเรียน ให้นักเรียน เรียนดี มีความสุข ให้มากยิ่งขึ้น
ส่วนประเด็นท้าทายที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ เช่นผลการประเมิน PISA ศธ.จัดตั้งคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ และคณะทำงานขับเคลื่อน PISA โดยมี ดร.ธงชัย ชิวปรีชา อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นประธาน ซึ่งมิติการขับเคลื่อน PISA ไม่ได้อยู่แค่ในหน่วยงานของ ศธ.เท่านั้น เนื่องจากโรงเรียนแต่ละแห่งก็กระจายกันอยู่ในสังกัดอื่นด้วย จึงเป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาและผลประเมิน PISA
“โดยข้อหนึ่งที่เราทำ คือ นำโรงเรียนที่มีผลการประเมินดีมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่น ๆ เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้พัฒนาคุณภาพ กระบวนการอ่าน คิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง แสดงออกทางความคิดได้อย่างเป็นระบบ ผ่านตัวอย่างข้อสอบ ตลอดจนผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผอ.โรงเรียน ครู ก็ต้องมาฝึกทำตัวอย่างข้อสอบด้วย เพื่อเรียนรู้ร่วมกันและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน”
ขณะที่การยกระดับภาษาอังกฤษ ได้จัดโครงการครูและนักเรียนให้มีสมรรถนะด้านการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เช่น ในวันนี้มีการประชุมสัมมนาศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศ ซึ่งผมจะไปรับฟังข้อสรุปด้วยตัวเอง เพื่อนำประเด็นสำคัญไปขับเคลื่อนร่วมกันทั้งระบบ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ในท้ายที่สุดนี้ ขอฝากนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข”ส่วนข้อเสนอของทุกท่านเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดียิ่งขึ้นหากทุกคนเห็นสิ่งที่ดีและคิดว่าสามารถทำได้ อยากให้ลงมือทำทันที คือ “ทำดี ทำได้ ทำทันที”
ต่อมา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ได้ชี้แจงว่า จากข้อห่วงใยเกี่ยวกับการจัดจ้างนักการภารโรง ขอเรียนว่า ศธ. ได้ขอรับงบประมาณประจำปี พ.ศ.2568 จาก ครม. แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการผ่านมาสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อดำเนินการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 หวังว่าสภาแห่งนี้จะให้ความเห็นชอบวงเงินที่ได้เสนอไป
ส่วนข้อห่วงใยว่าเงินที่จะนำมาจัดจ้างในปี 2567 หายไปไหน จึงขอย้ำว่า ศธ. ได้ทำเรื่องของงบประมาณปี พ.ศ. 2567 เป็นงบเพิ่มเติม แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร แต่เราก็ยังพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างทำเรื่องของบกลางปี พ.ศ. 2567 เนื่องจากนักการภารโรงเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่จะช่วยโรงเรียนในการลดภาระครู รวมถึงช่วยดูแลความปลอดภัย โดยหวังว่า ครม. จะพิจารณาเห็นชอบ เพื่อไปจ้างนักการภารโรงคืนให้กับโรงเรียนกว่า 14,000 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยจะเริ่มจ้างตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 – 30 กันยายน 2567 และใช้งบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อเพื่อให้สามารถจ้างนักการภารโรงที่ยังมีอัตราว่างกว่า 25,000 อัตรา ต่อเนื่องในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ในงบประมาณ 1,900 กว่าล้านบาท และเราจะของบประมาณทุกปี เพื่อให้มีนักการภารโรงคืนไปสู่โรงเรียนที่ขาดแคลนทุกโรงเรียน
ส่วนประเด็นข้อห่วงใยเรื่องอาหารกลางวัน ศธ. ขอบคุณ ครม. ที่มีมติเห็นชอบโครงการอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้กับเด็กโรงเรียนขยายโอกาสในระดับชั้น ม.1 – ม.3 ซึ่งโรงเรียนขยายโอกาส หมายถึง โรงเรียนที่สอนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษารวมกันซึ่ง เด็กระดับประถมศึกษาได้รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน แต่เด็กมัธยมศึกษาไม่ได้รับ จึงเป็นการบริหารจัดการที่ยากลำบากของ ผอ.โรงเรียน และครูในโรงเรียนขยายโอกาส กับโจทย์จะทำอย่างไรให้เด็กประถมกับเด็กมัธยมทานข้าวด้วยกันได้ โดยกรอบวงเงินโครงการค่าอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาสจะส่งผลให้เด็กมัธยม 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาส 5 แสนกว่าคน ใน 7 พันกว่าโรงเรียน ได้รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน
นอกจากนี้ ศธ. ยังคิดไปถึงว่าทำอย่างไรที่จะให้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันกับโรงเรียนปกติและให้ไปถึงชั้น ม.6 ด้วย แต่ด้วยกรอบงบประมาณที่ยังเป็นข้อจำกัดอยู่ ทั้งนี้ก่อนที่จะทำไปถึงโรงเรียนมัธยม เราต้องคิดว่าจะสร้างภาระให้กับครูเพิ่มหรือไม่ ที่ผ่านมาเคยมีโอกาสถามโรงเรียนมัธยมหลายแห่งว่า เอาเงินอุดหนุนอาหารกลางวันไหม ครูหลายโรงเรียนบอกว่ายังไม่อยากได้ ทำให้กลับมาคิดว่าเราต้องวางระบบให้ดี ไม่ใช่โยนงบประมาณเข้าไปแล้วให้เขาไปรับผิดชอบเรื่องอาหารกลางวัน ต้องไปจัดซื้อจัดจ้าง ต้องไปจ่ายตลาด ทำกับข้าวตอนเช้า ทำครัวเอง แบบนั้นเราจะไม่ทำ
“ขอยืนยันว่านโยบายของกระทรวงศึกษาธิการยุคนี้ จะไม่มีนโยบายไหนที่เพิ่มภาระให้กับครูโดยไม่ใช่เนื้องานการสอนโดยตรงอีกต่อไป หมดยุคที่จะสั่งงานแล้วไปสร้างภาระอื่นนอกจากการสอนให้กับครูและบุคลากรการศึกษา นโยบายของเราต่อไปนี้จะเป็นแต่นโยบายที่ลดภาระครู และช่วยลดภาระงานให้กับครู ให้ครูได้มีเวลาสอนมากขึ้น ตั้งแต่รับตำแหน่งมาเราได้ทำโพลสำรวจกับครูทั่วประเทศว่าเนื้องานไหน ภาระงานไหนที่ครูอยากให้ยกเลิกไป ผลสำรวจพบข้อคิดเห็น 400 กว่ารายการ ที่ครูอยากให้ยกเลิก ซึ่งตอนนี้ ศธ.ยกเลิกไปแล้วกว่า 200 รายการ”
อีกความตั้งใจในการลดภาระครูและคืนครูให้กับโรงเรียน คือ การยกเลิกเวรยามให้กับครู ซึ่งก็มีความห่วงใยจากหลายฝ่ายว่าเป็นการยกเลิกทิพย์หรือไม่ ศธ. ยืนยันว่าเรามีเจตนาที่จะให้ยกเลิกเวรยามครูยามอย่างแท้จริง หากโรงเรียนไหนมีการเลี่ยงบาลีหรือใช้เทคนิคต่าง ๆ ให้ครูยังเข้าเวรอยู่ ขอให้แจ้งเข้ามาได้ เพราะการยกเลิกเวรรักษาการณ์ของครูจะทำให้ครูมีเวลาเตรียมการเรียนการสอนมากขึ้น มีเวลาในการพัฒนาตัวเอง มีเวลาให้กับนักเรียนมากขึ้น แล้วก็จะสร้างประสิทธิภาพในการสอนมากขึ้น นั่นคือความมุ่งหวังของเรา
การยกเลิกเวรรักษาการณ์ครั้งนี้อยู่บนพื้นความรู้สึกของคณะรัฐมนตรีทุกคน ที่เห็นความสำคัญของชีวิตความเป็นมนุษย์ ความปลอดภัยของครู มากกว่าทรัพย์สิน เราจะเป็นห่วงอะไรกับทรัพย์สิน ในเมื่อชีวิตครูสำคัญกว่า จะกังวลทำไมว่าใครจะไปเฝ้าของ ใครจะไปดูแลโรงเรียนตอนครูไม่อยู่ ซึ่ง ศธ. คิดว่าถ้าครูปลอดภัยและโรงเรียนรักษาทรัพย์สินโดยไม่มีความประมาท ล็อคอย่างดีแล้ว ดูแลทรัพย์สินอย่างดีแล้ว ยังโดนโจรไปงัดขโมยของอยู่ ถ้าไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อ ไม่มีความผิดแน่นอน แต่หากไม่ดูแลหรือประมาทเลินเล่อ อันนั้นก็คือความผิด ดังนั้นอยากให้โรงเรียนทุกโรงเรียนสบายใจว่าการที่ท่านปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ยังเกิดเหตุการณ์สุดวิสัยนั้นไม่ใช่ความผิด
ขณะเดียวกัน ศธ.ได้ประสานความร่วมมือไปกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง ให้มาช่วยดูแลความปลอดภัย แต่การเตรียมการลำดับต่อไป คือ ให้โรงเรียนสำรวจโครงสร้างห้องเก็บของสำคัญ ห้องไหนดูแล้วไม่แข็งแรง ก็ของบประมาณเข้ามา เพื่อเสริมความแข็งแรงให้ห้องนั้นไม่โดนโจรกรรมง่าย ๆ หรือหากจำเป็นต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดที่เสี่ยง จุดที่จำเป็นก็ต้องทำ และการคืนและการภารโรงก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง โดยนักการภารโรงไม่ได้มาแทนครูเวร แต่อย่างน้อยนักการภารโรงนอกจากจะมาแบ่งเบาภาระครูแล้ว ก็ยังทำงานในหน้าที่ทำดูแลความปลอดภัยเสริมช่วยครูด้วย
รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่า เรื่องของโรงเรียนคุณภาพก็ได้มีความกังวลว่าจะมีการเลือกแต่โรงเรียนใหญ่ ๆ โรงเรียนที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ทำให้โรงเรียนที่ดีอยู่แล้วดียิ่งขึ้นไปอีก โรงเรียนที่ขาดแคลนหรือโรงเรียนขนาดเล็กก็จะแย่ลงไป อันที่จริงแล้วการพิจารณาโรงเรียนคุณภาพนั้น พิจารณาบนพื้นฐานดังนี้
1) มีสถานที่กว้างพอ เพราะถ้าไปเลือกพื้นที่โรงเรียนที่มีขนาดเล็กเกินไป เราไม่สามารถพัฒนาคุณภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานได้เลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องตึก สนามกีฬา อาคาร โรงอาหาร หรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักเรียนในการเรียนการสอน
2) เป็นจุดที่สามารถเดินทางไปมาสะดวก เป็นศูนย์กลาง เพราะโรงเรียนคุณภาพต่อไปจะเป็นโรงเรียนที่ต้องแบ่งปันทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน และสามารถให้เด็กในโรงเรียนขนาดเล็กมาร่วมเรียนกับโรงเรียนคุณภาพเหล่านี้ได้ การเดินทางเป็นสิ่งที่จำเป็น โรงเรียนคุณภาพจะมีการอุดหนุนค่าเดินทาง หรือแม้แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่บางวิชาไม่มีครูก็สามารถส่งเด็กมาเรียนกับโรงเรียนคุณภาพโดยเบิกค่าใช้จ่ายการเดินทางได้
หากเรามีโรงเรียนคุณภาพครบทุกอำเภอ จะช่วยให้โรงเรียนประจำจังหวัดที่มีการแข่งขันสูง ลดความแออัดลง เพราะโรงเรียนคุณภาพตามหัวมุมอำเภอจะเป็นสถานที่ที่ผู้ปกครองไว้ใจและให้ลูกหลานไปเรียน
สำหรับเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวของโรงเรียนต่าง ๆ ยังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ยิ่งเล็กเงินอุดหนุนจะยิ่งทำอะไรไม่ได้เลย วันนี้ ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำลังทำเรื่องถึงคณะรัฐมนตรีอีกเช่นกัน ในการเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาเงินอุดหนุนรายหัว โดยจะยังคงอยู่ แต่จะมีเงินให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นเงินตั้งต้น จากการคำนวณค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายประจำ เป็นจำนวนเท่าไหร่ของค่าเฉลี่ยโรงเรียนทั่วประเทศ ให้เป็นเงินก้อนหนึ่งที่จะอุดหนุนโรงเรียนขนาดเล็กไปก่อนเลย จากนั้นจึงค่อยอุดหนุนรายหัวตาม เพื่อให้โรงเรียนเหล่านั้นอยู่ได้
“ขอยืนยันว่าการแก้ปัญหาหลายเรื่อง ไม่ใช่ว่าสถานการณ์พาไป เพราะหลายเรื่องที่มีปัญหานั้น ไม่ได้เกิดในช่วง 7 เดือนที่รัฐบาลนี้เข้ามา ปัญหาการยกเลิกอยู่เวรครูมีมา 20 กว่าปีแล้ว การขาดแคลนนักการภารโรงที่มติ ครม.ให้อัตรากำลังลูกจ้างประจำหายไปก็มีมายาวนานแล้วเช่นกัน แต่รัฐบาลชุดนี้แก้ปัญหาที่ยาวนานได้หลายเรื่อง เพราะได้รับความใส่ใจจากผู้บริหาร และ ศธ.จะมุ่งมั่นแก้ไขอีกหลายเรื่องเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป” นายสุรศักดิ์ กล่าว
ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว-กราฟิก
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
The post ‘เพิ่มพูน’-’สุรศักดิ์’ ชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไป นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” คืบหน้าต่อเนื่อง ลดภาระครู-นักเรียน-ผู้ปกครองชัดเจน หยุดนโยบายเพิ่มภาระครูที่ไม่ใช่การสอนโดยตรงอีกต่อไป appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.