มติ ครม.ที่เกี่ย
สรุปมติคณะรัฐมนตรี ...
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 132 ปี วันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” กล่าวยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์ ข้าราชการพลเรือนดีเด่น และบุคลากร ศธ. เป็นส่วนที่สำคัญยิ่งในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับ ศธ. พร้อมยกเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน
สำหรับการจัดงานในปีนี้ เริ่มเวลา 07.09 น. โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสิริพงศ์ อังคสกลุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. รวมทั้ง นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ. ตลอดจนครูอาวุโส ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร ศธ. ร่วมประกอบพิธีบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ ศธ.ที่ล่วงลับไปแล้ว และตักบาตรพระสงฆ์ สามเณร จำนวน 133 รูป ณ บริเวณสนามหน้า ศธ.
จากนั้น รมว.ศธ. และคณะ ได้ประกอบพิธีสักการะพระพุทธรูปประจำกระทรวงศึกษาธิการ “พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์ สยามิศรจักรีสัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์” รวมทั้งพระภูมิหรือพ่อปู่ชัยมงคล และพระพุทธรูปประจำสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตลอดจนประกอบพิธีพราหมณ์บวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ตามลำดับเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมคุรุสภา – รมว.ศธ. เป็นประธานในพิธีมอบเข็ม “เสมาคุณูปการ” และประกาศเกียรติคุณบัตรแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้ ศธ. ประจำปี 2567 จำนวน 135 ราย/รูป และมอบเข็ม “กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2567” แก่ครูผู้เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง จำนวน 5 ราย รวมทั้งมอบเข็ม “เชิดชูเกียรติ” และประกาศเกียรติบัตรให้กับข้าราชการพลเรือนดีเด่น ศธ. ประจำปี 2566 จำนวน 12 ราย
รมว.ศธ. กล่าวว่า ในโอกาสวันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี นับเป็นวันสำคัญของข้าราชการ และบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับ ที่ได้รับผิดชอบภาระหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพของคน ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศ และการที่จะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงในทางที่เจริญก้าวหน้า ที่เรียกว่า “การพัฒนา” นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นที่ “การพัฒนาคน” เป็นลำดับแรกก่อน
การวางรากฐานด้านการพัฒนาคน เพื่อรองรับความเจริญของประเทศในอนาคต รัฐบาลได้กำหนดนโยบายสำคัญที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เอาไว้หลายประการ ซึ่งได้แก่ การมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ การเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนตามความถนัดเพื่อสร้างอนาคตและสร้างรายได้ การกระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ โดยมีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน และการสร้างผู้เรียนให้มีความพร้อม ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกสมัยใหม่
กระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทที่จะต้องพิจารณาดำเนินการให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ได้ตั้งเอาไว้ ประการสำคัญคือรัฐบาลจะมุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งอาจถือว่าเป็นแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงวางจุดเน้นการทำงานไปที่การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิด “การเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime)
โดยพยายามเร่งส่งเสริมบทบาทของทุกภาคส่วนให้เข้ามาสนับสนุนและจัดการศึกษา จัดหาสื่อดิจิทัลและแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทุกท่าน ณ ที่ประชุมแห่งนี้จะสามารถช่วยเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญต่อภารกิจดังกล่าว ดั่งแนวทางการทำงานของ ศธ. “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”
ที่จะขาดไปไม่ได้ต้องขอบคุณผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการประจำปี 2567 ครูผู้เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง และข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2566 ซึ่งทุกคนเป็นผู้มีความสำคัญยิ่งในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน อีกทั้งยังเสมือนเป็นตัวแทนของผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษาคนอื่น ๆ ที่มีเป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศอีกด้วย
ปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในชื่อว่า “กระทรวงธรรมการ” มีหน้าที่ในการจัดการพระศาสนา การศึกษา การพยาบาลและพิพิธภัณฑ์ นับถึงวันนี้มีอายุครบ 132 ปี สู่การเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ในโลก Digital Transformation ซึ่งยังคงทำหน้าที่สำคัญ ในการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษา ถ่ายทอดความรู้ พัฒนาจิตใจและสติปัญญาของผู้เรียนทุกระดับทุกประเภท เพื่อสร้างบุคคลของประเทศให้เจริญเติบโต มีความเจริญงอกงามรอบด้าน
การจัดงานในวันนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนากระทรวงศึกษาธิการขึ้น และรำลึกถึงผู้ทำคุณประโยชน์ที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมทั้งเป็นการเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2567 อีกด้วย
ทั้งนี้ ในวันที่ 1 เมษายน 2567 ยังเป็น “วันข้าราชการพลเรือน” ซึ่งเป็นวันสำคัญของเหล่าข้าราชการพลเรือนทุกท่าน และเป็นวันที่ได้มีการประกาศใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2472 และเป็นเครื่องแสดงถึงความกตเวทิคุณสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ทรงวางรากฐานระเบียบข้าราชการพลเรือนไทยสมัยใหม่ขึ้นมา
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราโชวาท เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่พระราชทานแก่ข้าราชการ ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งประชาชนทั่วไปมาเผยแพร่ เพื่อเป็นข้อคิดและเครื่องเตือนใจให้แก่ปวงชนชาวไทยได้น้อมนำไปยึดถือปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ความว่า
“หน้าที่ของข้าราชการทุกฝ่ายนั้น อาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือการปฏิบัติงานตามภาระรับผิดชอบของตน ให้สำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพ อีกส่วนหนึ่งคือ การร่วมกับชาวไทยทุกคน ในอันที่จะจรรโลงรักษาความดีงามในชาติบ้านเมือง จึงขอให้ข้าราชการทุกคนทุกฝ่าย ตั้งใจขวนขวายปฏิบัติหน้าที่ทั้งนั้นให้ครบถ้วนสมบูรณ์”
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
วันที่ 25 มีนาคม พุทธศักราช 2567
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
สมประสงค์ ชาหารเวียง / วีดิทัศน์
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ, พีรณัฐ ยุชยะทัต, ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
The post วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.