29 มีนาคม 2567 – นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเวทีเสวนาหัวข้อ “สรุปทิศทางการพัฒนาลูกเสือไทย” ในการประชุมสภาลูกเสือไทย ประจำปี 2567 ภายใต้คำขวัญ  “ทำดี ทำได้ ทำทันที” โดย นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และนางสาววันเพ็ญ บุญสูงเนิน ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ร่วมสรุปประชุม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

สำหรับการเสวนาหัวข้อ “สรุปทิศทางการพัฒนาลูกเสือไทย” ในครั้งนี้ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายคมกริช จันทร์ขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นางวรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้แทน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมสะท้อนมุมมองกิจการลูกเสือในสังกัด โดยนายเมทนี บุรณศิริ (นีโน่) เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือไทย และผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่าย จำนวน  250 คน เข้าร่วม

ปลัด ศธ. กล่าวว่า บทบาทภารกิจของสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน จะเน้นเรื่องการส่งเสริม สนับสนุน วิจัยและพัฒนาหลักสูตรให้และตอบโจทย์วิชาลูกเสือในอนาคตข้างหน้าให้สอดคล้องบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ดูแลสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนวิชาลูกเสือ และมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ดึงภาคีเครือข่ายสโมสรลูกเสือเข้ามาร่วมมือในการเชื่อมโยงกิจการลูกเสือสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยสภาลูกเสือจะกำหนดแนวนโยบายและกิจกรรมส่งตรงไปยัง ศธจ. ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการลูกเสือในพื้นที่ต่อไป

ในฐานะรองประธานคณะกรรมการบริหารลูกเสือ ที่ดูแลภาพรวมและเชื่อมโยงกิจการลูกเสือ ต้องการเน้นย้ำผู้บริหารสถานศึกษาให้ความสำคัญกับกิจกรรมลูกเสือ และคุณครูผู้มีบทบาทสำคัญกับผู้เรียนต้องเข้าใจกิจกรรมลูกเสือ อย่างน้อยต้องผ่านหลักสูตรอบรมขั้นความรู้ทั่วไปและขั้นความรู้เบื้องต้น ทั้งผู้กำกับลูกเสือสำรอง (C.B.T.C.), ผู้กำกับลูกเสือสามัญ (S.B.T.C.), ผู้กำกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (SS.B.T.C.) และผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ (R.B.T.C.) เพื่อให้รู้พื้นฐานในกิจกรรมลูกเสือ ปลูกฝังค่านิยมที่เกิดประโยชน์ เข้าใจลึกซึ้งถึงเจตนารมย์และอุดมการ ไปขับเคลื่อนในสถานศึกษาของตนเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในวิชาที่มีการเรียนการสอนแต่ในทุกเวลาจะต้องมีจิตอาสา “ทำดี ทำได้ ทำทันที”

อีกเรื่องที่เป็นกระแสสังคมเสมอคือเรื่อง “เครื่องแบบลูกเสือ” ซึ่งตอนนี้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้มีการปรับรูปแบบการสอนลูกเสือให้เครื่องแบบเป็นเรื่องของพิธีการ ส่วนกระบวนการเรียนอนุโลมให้ใช้ผ้าผูกคอและหมวกเพียง 2 สิ่งได้ ผ้าพันคอใช้เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของกิจกรรมลูกเสือ และหมวกใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการเรียน และสิ่งสำคัญคือวิทยากรที่พัฒนาเด็กหลายช่วงวัย การจิตวิทยาที่ใช้อบรมก็ต้องแยกกลุ่มให้ชัดเจน พยายามพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องสังคมปัจจุบัน ความเบื่อหน่ายของเด็กก็จะหายไปเพราะกิจกรรมสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน

ทั้งหมดนี้คือกรอบที่จะทำต่อไปในภายภาคหน้า รวมถึงระดมการมีส่วนร่วมเครือข่ายในแต่ละระดับ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนจังหวัด เพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และในอนาคตจะปรับให้ ศธจ. ดูแลเพื่อจัดกิจกรรมลูกเสืออย่างครบถ้วนทุกมิติ ทั้งหน่วยงานในสังกัด รวมถึงท้องถิ่น สโมสรลูกเสือและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนภาคีเครือข่ายสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ส่วนของกิจกรรมลูกเสือตรงจุดนี้ด้วย นี่คือทิศทางการพัฒนาในอนาคตข้างหน้าที่วางไว้

“ลูกเสือหมายถึงเด็กและเยาวชนที่สมัครเป็นลูกเสือทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยลูกเสือหญิงให้เรียกว่าเนตรนารี สำหรับวันนี้จะเป็นจุดหลักในการพลิกโฉมงานลูกเสือยุคปัจจุบัน ที่จะลดภารกิจให้ไม่ซ้ำซ้อน สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมรวมทั้งด้วยกันทั้งหมด เรามีสภาลูกเสือไทยต้องเข้าถึงให้ได้มากที่สุด เพราะทุกฝ่ายเป็นกำลังในการขับเคลื่อนกิจการลูกเสือ และขอให้คำมั่นสัญญาว่าสิ่งที่ภาพรวมทุกอย่างที่สะท้อนภายในวันนี้ จะเห็นผลภายในในปีนี้อย่างแน่นอน” นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กล่าว

“กิจการลูกเสือไทยในวันนี้เป็นความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องช่วยขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อพัฒนากิจการลูกเสือไทยไปด้วยกัน ที่สำคัญในยุคนี้ต้องมี Brand Ambassador เพื่อเป็นบุคคลชูภาพลักษณ์องค์กรซึ่งในวันนี้ได้รับเกียรติ จากคุณนีโน่ เมทนี บุรณศิริ มาสร้างการรับรู้ให้สังคมตระหนักเห็นความสำคัญของลูกเสือไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณลักษณะให้เด็กไทยพร้อมด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และสติปัญญา และเชื่อมั่นว่าวันนี้ทุกคนจะเข้าใจบริบทการทำงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติอย่างชัดเจน

ทิศทางการพัฒนาลูกเสือไทยควรเริ่มต้นที่ครอบครัวและครูผู้จัดการเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะให้ผู้เรียน ปรับกระบวนทัศน์ทางความคิดเพื่อพิชิตความสำเร็จ “เริ่มที่พ่อ ก่อที่แม่ แก้ที่ลูก ปลูกที่โรงเรียน แล้วมาปรับเปลี่ยนที่พวกเรา” ก้าวไกลสู่สากล ก้าวพ้นขีดจำกัด และก้าวข้ามกับดักที่ทำไม่ได้
ร่วมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน สร้างความตระหนักรู้สู่ความพยายามจนเกิดความสำเร็จ นำมาซึ่งการปรับภาพลักษณ์ขององค์กร โดยเริ่มต้นที่เราก่อน แล้วจึงขยายขยายไปสู่เครือข่ายให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนสูงสุด” นางสาววันเพ็ญ บุญสูงเนิน ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กล่าว

พบพร ผดุงพล / ข่าว
สมประสงค์ ชาหารเวียง / Facebook live
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ , พีรณัฐ ยุชยะทัต , ณัฐพล สุกไทย / ภาพ

The post ศธ. สรุปทิศทางการพัฒนาลูกเสือไทย มั่นใจทุกเสียงสะท้อน Turn On การเปลี่ยนแปลงปีนี้แน่นอน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post