22 มีนาคม 2567 / นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมบรรยายพิเศษ “คุณค่าการขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษา ผ่านธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา” ภายในงานการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา เรื่องการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษาด้วยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่ : เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า

เด็กที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงศึกษาธิการมีหลายช่วงวัยด้วยกัน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษานอกระบบ นอกจากในสถานศึกษาแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษารูปแบบทวิภาคี ที่ต้องโยงไปถึงผู้เรียนที่ฝึกอาชีพในสถานประกอบการด้วย รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน ก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการสุขภาพ ดังนั้นจึงต้องดูแลคนทุกช่วงวัยด้วยเช่นกัน นี่คือภาพรวมของบริบทที่แตกต่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

หากดูให้ดีจะเห็นว่าธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา เกี่ยวข้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในทุกประเด็น ซึ่งกรรมการสถานศึกษาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องนำภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานเดียว แต่ต้องเกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในบริบทในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้เรียน ให้มีสุขลักษณะที่ดี มีสุขภาวะรอบด้านครบถ้วน พร้อมพัฒนาตนเองในการเรียนรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพ เพื่อเป็นพลเมืองที่ดีรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคตข้างหน้า

ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาที่แท้จริง คือการมีข้อตกลงร่วมกันพัฒนาสุขภาพผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย สังคม สติปัญญา และจิตใจ นอกเหนือจากยาเสพติด อาหาร และสุขภาพแล้ว ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้เรียนในโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนผ่านจาก VUCA world เป็น BANI world เกิดความผันผวนอย่างรวดเร็ว สื่อที่เข้ามาในมือของเด็กมีหลากหลายช่องทางทั้งคุณและโทษ ถ้าผู้เรียนนำไปใช้ในทางที่ดีก็จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้ารับมาโดยไม่มีภูมิคุ้มกันในเรื่องการกลั่นกรองก็จะเป็นโทษกับตัวเด็กได้

จากสถานการณ์ข่าวหลายเดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าผู้เรียนมีภาวะเครียด มีปัญหาสุภาพจิต โรคซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง หนักไปจนถึงแก่ชีวิตก็มี ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของผู้นำในสถานศึกษา จึงต้องทำให้ผู้เรียนมีภูมิคุ้มกันในเรื่องของการรับสื่อต่าง ๆ และธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาต้องเกิดขึ้นทุกระดับในอนาคต โดยที่รูปแบบไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขอเพียงให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ตอบสนองกับวัยของผู้เรียนที่แตกต่างกัน ทั้งเด็กประถม เด็กมัธยม และเด็กนอกระบบ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ จะมีกระบวนการทำตัวชี้วัดให้ทุกฝ่ายสะท้อนกลับมาในทุกมิติ มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าสิ่งที่ทำมีประโยชน์กับผู้เรียนและสถานศึกษา

สิ่งสำคัญในอนาคตคือต้องขับเคลื่อนโดยไม่ชี้นำ ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และต้องแสวงหาความร่วมมือ ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาจะต้องเกิดจากข้อตกลงร่วมกัน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมาเชื่อมโยงในทุกมิติ สอดคล้องกับบริบทสภาพภูมิประเทศ วัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้นด้วย

สุดท้ายนี้ คาดหวังว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้ จะเกิดแนวทางที่เป็นประโยชน์กับภาคีเครือข่าย ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกัน ในการขับเคลื่อนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา สามารถนำไปถ่ายทอดและดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปใช้ได้จริงทั่วประเทศ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้มีสุขภาพที่ดี สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” อย่างยั่งยืน

พบพร ผดุงพล / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ

The post ปลัด ศธ. เสริมคุณค่าการขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษา หนุนภาคีพื้นที่รับมือทุกสถานการณ์ ดูแลผู้เรียนอย่างยั่งยืน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post