6 มีนาคม 2567/พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ. กล่าวในที่ประชุมว่า การทำงานทุกด้านขอให้เห็นเป็นมิติภาพรวม ว่าแต่ละหน่วยงานทำอะไรไปแล้วบ้าง เช่น หน่วยงานในพื้นที่รายงานมาที่เขต เขตรายงานมาที่องค์กรหลัก เป็นต้น พร้อมทั้งให้มีการแถลงความก้าวหน้าเป็นระยะ เพิ่มการประชาสัมพันธ์ ให้กลุ่มเป้าหมายทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษา ประชาชนทั่วไป ให้ได้รับทราบความคืบหน้าภารกิจของกระทรวงอยู่ตลอด

ส่วนเรื่องใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในการประชุมครั้งนี้ คือ การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อรองรับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ “IGNITE THAILAND จุดพลังรวมใจไทยต้องเป็นหนึ่ง” ของรัฐบาล โดยให้ความสำคัญในเรื่องของความเท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพ และโอกาสทางการศึกษาที่จะต้องได้รับการพัฒนา โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานเปิดช่องทางการเรียนรู้ใหม่ ๆ สร้างกลไกที่เอื้อให้เอกชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่การพัฒนา Content การทำ Play-base learning พร้อมทั้งผลักดันเด็กไทยอ่านภาษาอังกฤษ ต่อยอดภาษาต่างประเทศได้ ซึ่งในส่วนของการทำงานด้านการศึกษาของ “IGNITE THAILAND จุดพลังรวมใจไทยต้องเป็นหนึ่ง” ก็จะให้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเพิ่มไปได้เลย เพื่อลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ทั้งนี้ขอฝากผู้บริหารทุกท่านว่า “เมื่อคิดเรื่องอะไรแล้วต้องรีบทำ ทำให้เป็นเรื่องหลัก ทำให้เห็นผลชัดเจน รวดเร็ว ถูกต้อง และสุจริต”

โดยที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าภารกิจต่าง ๆ ดังนี้

1. คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษา

คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ ศธ. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างมีหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารับรองร่างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โดยการรับรองจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 มีนาคม 2567 และกำหนดวัน เวลา ลงนามบันทึกข้อตกลงต่อไป

ขณะที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) มีหนังสือแจ้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้จำแนกหนี้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ในหนี้วิกฤต (แดง) หนี้ใกล้วิกฤต (เหลือง) และหนี้ปกติ (เขียว) เป็นรายจังหวัดและสรุปข้อมูลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของหน่วยงานในสังกัด มายัง สป.ศธ. ภายในวันที่ 30 ของทุกเดือน พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารสงเคราะห์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นรายจังหวัดเพื่อขอข้อมูลสถิติหนี้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ในหนี้วิกฤต (แดง) เพื่อสรุปผลในภาพรวมและนำไปวิเคราะห์นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

2. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime แพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต

เรื่องการเชื่อมต่อข้อมูล Content สู่ Platform ในระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2567) จะดำเนินการด้านระบบบริหารจัดการผู้ใช้งาน ระบบสนับสนุนผู้เรียน ระบบสนับสนุนครูผู้สอน ระบบบริหารจัดการการจัดการเรียนรู้แห่งชาติ และระบบบริหารจัดการเนื้อหาองค์ความรู้แห่งชาติ
เรื่องการพัฒนาระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต มีการวางแผนโครงการและกิจกรรมในปีงบประมาณ 2567 ได้แก่ การจัดทำหลักสูตรและพัฒนาครูแนะแนวแกนนำและการ Coaching (ครู ศน. และนักจิตวิทยา), การประกวดคลิบวีดีโอ Tik Tok ด้านสุขภาพจิต ด้านการทำความดี และด้าน Coaching อาชีพ, บอร์ดเกมอาชีพ, การจัดค่ายแนะแนวสุขภาพจิตและทักษะชีวิต, การพัฒนาแพลตฟอร์ม Coaching, การวัดแววความถนัดพหุปัญญาของนักเรียน การจัดมหกรรมแนะแนวการเรียนและอาชีพ, ค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ใฝ่เรียนดี มีความสุข และการประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรม พสน.ศธ.
เรื่องการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านการสื่อสารสุขภาพจิตโรงเรียนเชิงบวก “HELLO GOOD DAY” รูปแบบการนำเสนอเป็นรูปภาพและข้อความให้กำลังใจเชิงบวก ในช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์กลุ่ม LINE ผู้บริหาร,ครูแนะแนว, Fackbook Fanpage ศธ.360 องศา, Fackbook Fanpage แนะแนว สพฐ. โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ สร้างความตระหนักและการรับรู้ การมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพจิตครู นักเรียนและคนรอบข้างร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เกิดมุมมอง แนวคิดในการประยุกต์ใช้ดูแลสุขภาพจิตในสถานศึกษา ส่วนผู้ที่ได้รับ HELLO GOOD DAY ก็รู้สึกดีและได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตด้วย

3. คณะอนุกรรมการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn)

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินงานภายใต้ชื่อ การจัดการศึกษาเพื่อปวงชน Education for All ขณะนี้กำลังจัดทำแนวทางการเชื่อมโยงหลักสูตรแต่ละระดับตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ในส่วนของอาชีวศึกษาและการศึกษาตามอัธยาศัย
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดโครงการทวิศึกษาแนวใหม่ มีนักเรียนจำนวน 4,560 คน เข้าร่วมโครงการฯ และโครงการส่งเสริมให้นักเรียนทำงานหารายได้ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนปี 2567 โดยได้ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ไปยัง สพม.กทม.เขต 1 เขต 2 โรงเรียนสังกัด สพฐ.ในเขตพื้นที่ กทม.และหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศธ.เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดย กอศ. เห็นชอบหลักสูตร ปวช. พ.ศ.2567 จำนวน 66 สาขาวิชา และ ปวส. พ.ศ.2567 จำนวน 105 สาขาวิชา และโครงการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอาชีวศึกษามีแผนการดำเนินการ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ e-commerce 1 + x และโครงการ RRR Awards 2024
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนนอกระบบที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยได้หลักสูตรโรงเรียนนอกระบบจำนวน 26 หลักสูตร และโครงการเสริมสร้างทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 นำแผนงานไปสู่การปฏิบัติ
กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้ร่างหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพหรือคุณวุฒิวิชาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติจำนวน 4 หลักสูตร

4. คณะอนุกรรมการจัดทำระบบการวัดผล เทียบระดับการศึกษา ประเมินผลการศึกษา และธนาคารเครดิตแห่งชาติ

ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านระบบการวัดผล เทียบระดับการศึกษา ประเมินผลการศึกษา และธนาคารเครดิตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติให้ สกศ. ดำเนินการนำร่องการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ เริ่มดำเนินการในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า และระดับ ปวช. ทั้งในและนอกระบบ ซึ่ง สกศ. จะจัดประชุมเชื่อมโยงและการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ในวันที่ 11 มีนาคม 2567

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมาย สพฐ. พิจารณาแนวทางปรับตัวชี้วัด จำนวนหน่วยกิต และจำนวนชั่วโมงเรียนให้มีความยืดหยุ่น และสามารถนำวิชาหรือผลการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากหลักสูตรที่สถานศึกษาเตรียมไว้ให้ สามารถนำมาเทียบโอนและสะสมหน่วยกิตเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในภาคปกติได้ รวมทั้งมอบหมาย สกร. ให้ดำเนินการเรื่องการสอบเทียบ โดยให้พิจารณาขับเคลื่อนในกรณีรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ขัดแย้งกับกฎระเบียบ นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นว่าทุกหน่วยงานควรจัดทำประกาศ หลักเกณฑ์ แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อความชัดเจนในการสื่อสารได้ตรงกัน และเตรียมแถลงข่าวการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตร่วมกับหน่วยงานหลักของ ศธ. ในช่วงเดือนมีนาคมนี้

จากนั้นได้รายงานแผนการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานอาชีพ ระยะเร่งด่วนเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2567 โดยได้กำหนดตัวชี้วัดหนึ่งศูนย์ทดสอบฯ 1 จังหวัด ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบแล้ว 72 จังหวัด คงเหลือ 5 จังหวัด มีจังหวัดที่อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอรับรองจำนวน 4 จังหวัด (นนทบุรี นราธิวาส พังงา และชัยภูมิ) จังหวัดที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเปิดศูนย์ทดสอบฯ จำนวน 1 จังหวัด (ชัยนาท) รวมทั้งประกาศแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ทดสอบฯ อย่างต่อเนื่อง กำกับติดตามการดำเนินงานของศูนย์ทดสอบฯ โดย สอศ. สอจ. และสถาบันการอาชีวศึกษา ตลอดจนดำเนินการประกาศจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ 72 จังหวัด และสร้างการรับรู้ ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เข้ารับการทดสอบมาตรฐานอาชีพจากศูนย์ทดสอบฯ

5. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา

ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษา ซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายฯ ได้มีมติเห็นชอบที่ ศธ.จะดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษา คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาฯ จึงมอบหมาย สป.ศธ. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำ MOU พร้อมทั้งหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ข้อสรุปว่า ศธ. จะดำเนินการยกร่าง MOU 2 ฉบับ คือ ศธ. กับ กกพ. และ ศธ. กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทั้งนี้ได้จัดส่งร่าง MOU ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็น คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 และจะสามารถทำพิธีลงนาม MOU ได้ในภายในเดือนเมษายนนี้

ส่วนเรื่องข้อมูลกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. คณะอนุกรรมการฯ มีมติให้หน่วยงานใน ศธ. ตรวจสอบกฎหมายลำดับรองที่ยังไม่ดำเนินการพร้อมจัดทำแผน และตรวจสอบกฎหมายลำดับรองที่เห็นควรยกเลิก/ปรับปรุง ซึ่งฝ่ายเลขานุการคณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมายฯ ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานสำรวจข้อมูลกฎหมายลำดับรองเรียบร้อยแล้ว จากการสำรวจกฎหมายลำดับรองทั้งหมดมีจำนวน 624 ฉบับ

ปารัชญ์ ไชยเวช/สรุป
พัรณัฐ ยุชยะทัต/ถ่ายภาพ

The post เสมา 1 ถกบอร์ดขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของ ศธ. ฝากผู้บริหาร คิดแล้วรีบทำ ทำให้เห็นผลชัดเจน รวดเร็ว ถูกต้อง และสุจริต appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post