ชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย จัดประชุมระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อให้สมาชิกชมรมฯ ได้มีโอกาสประชุมระดมความคิดเห็นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปฏิบัติงานระหว่างกัน ตลอดจนเป็นการสร้างความร่วมมือ ความสามัคคีในการทำงานอย่างต่อเนื่อง

โดยโครงการคุรุทายาท เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มดำเนินการคัดเลือกคนดี คนเก่งและมีเจตคติที่ดี มาศึกษาในคณะครุศาสตร์/คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2530 ต่อเนื่อง จำนวน 13 รุ่น จากนั้นมีตำแหน่งให้บรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปัจจุบันผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาท เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาในตำแหน่งหลากหลาย ได้แก่ ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ นอกจากจะจัดประชุมเสวนาวิชาการแล้ว ชมรมคุรุทายาท จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงานที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม และโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีด้วย

ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี (คุรุทายาทรุ่นที่ 1) ประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศได้แนวคิดมาจากชมรมแพทย์ชนบท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการ ข้อคิดเห็น มุมมองเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา และรวมกันเสนอแนวคิดสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาไทย ในการจัดงานรวมพลคุรุทายาทแต่ละครั้งจะมีประเด็นหารือร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษา เช่น กระบวนการผลิตครูอย่างมีคุณภาพ การช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจน ขาดแคลน โรงเรียนที่ขาดแคลน และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นต้น ชมรมคุรุทายาท เป็นองค์กรที่เน้นการมีส่วนร่วมจากสมาชิกและเครือข่ายอื่น ๆ ในการขับเคลื่อนการศึกษาตามนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เกิดผลดีต่อการศึกษา ตัวแทนสมาชิกจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศเสียสละเงินส่วนตัวมาร่วมประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2557

โดย ดร.วีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกลุ่มคุรุทายาทแกนนำริเริ่มดำเนินการ โดยพยายามทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสะท้อนประเด็นความต้องการจำเป็นของสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษาสู่ผู้บริหารระดับสูง เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายในการพัฒนาได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะการจัดการศึกษาที่เน้นโรงเรียนเป็นฐาน เพราะเป็นภารกิจที่อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด “ผมมีความเชื่อว่าสนามรบที่แท้จริงของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่โรงเรียนและห้องเรียน หากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงให้กลับไปที่ห้องเรียน ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการและผู้เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนด้านบุคลากร งบประมาณให้โรงเรียนอย่างเพียงพอ” ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ กล่าวสรุปการสัมมนา

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. (คุรุทายาทรุ่นที่ 3) กล่าวว่า การที่ชมรมคุรุทายาทจัดกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำทุกปี เป็นการสร้างความร่วมมือในการพัฒนางาน และเป็นเวทีการเสนอประเด็นในการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ต่อผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่าปัญหาของระบบการศึกษาของประเทศไทยที่มีปัญหาอยู่ 4 เรื่องใหญ่ คือ 1. ผลลัพธ์การศึกษาไทยอยู่ในระดับต่ำมาก 2. เด็กไทยไม่รู้เป้าหมายของตัวเอง 3. ขาดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และ 4. ระบบพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคลโดยตรง ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติ ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาจากงานวิจัย ตลอดจนแนวปฏิบัติทั้งในและต่างประเทศเพื่อนำมาสู่การพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลให้มีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาลโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

โดยในปัจจุบันได้ดำเนินงานสำคัญหลายประการที่สอดคล้องตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบการประเมินวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ ว.PA จะลดภาระครู ลดค่าใช้จ่ายในการประเมิน และทำให้การประเมินวิทยฐานะรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน และนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิด วิธีสอน วิธีปฏิบัติงานที่คุ้นชินเดิม ๆ และนำไปสู่เปลี่ยนระบบการเรียนรู้ของ ผอ.โรงเรียนและคุณครูด้วย 2. การพัฒนาระบบการย้ายครูกลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนา จะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และ 3. การพัฒนาระบบการกำหนดวิชาเอกและอัตรากำลังในสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา

ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (คุรุทายาทรุ่นที่ 2) กล่าวว่า โครงการผลิตครูระบบปิดของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้แก่ โครงการเพชรในตม โครงการคุรุทายาท โครงการครูพันธุ์ใหม่ โครงการครูพัฒนาท้องถิ่น โครงการครูรักษ์ถิ่น โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ซึ่งโครงการผลิตครูทุกโครงการล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การคัดเลือก คนดี คนเก่ง และมีอุดมการณ์ในความเป็นครู เข้ามาเรียนครู เมื่อจบแล้วกระจายไปทำงานในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศไทย และสร้างผลงานอย่างหลากหลาย ชาวคุรุทายาทจึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับทุนของกระทรวงศึกษาธิการทุกประเภท โดยเฉพาะคุรุทายาทที่มีจำนวนมากกระจายอยู่ทุกพื้นที่ในประเทศ ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนางานเพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฝากแง่คิดแนวทางในการดำเนินงานในอนาคต ดังนี้

ควรจัดทำระบบฐานข้อมูลปัจจุบันของผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาทและโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันให้สมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อให้สามารถสื่อสารและประสานความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาอย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง ประโยชน์ ประหยัด
ควรนำเสนอผลงานของผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาทและโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันต่อสาธารณชนผ่าน Platform ต่าง ๆ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ทั้งนวัตกรรมการเรียนการสอน และการบริหารการศึกษา เพื่อให้สังคมได้รับทราบผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการผลิตครูระบบปิด และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา
นอกจากการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ราชการตามกฎหมายกำหนดแล้ว ผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาทและโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ควรจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาท้องถิ่นหรือพัฒนาสังคมด้วยวิธีการหลากหลาย ได้แก่ การกลับไปพัฒนาโรงเรียนที่เคยเรียนหรือเคยปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ รวมทั้งเป็นแบบอย่างในการสร้างสิ่งดีงามต่อถิ่นกำเนิดและอาจเผยแพร่สิ่งดี ๆ ที่ได้ทำเพื่อเป็นแบบอย่างต่อสาธารณชนผ่าน Platform หลากหลาย
ควรมีการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาทและโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันด้วยวิธีการหลากหลาย ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ผลงานการศึกษาและพัฒนาสังคมมิติต่าง ๆ โดยอาจมีรางวัลที่มอบโดยกระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานต้นสังกัด
ควรยึดแนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” โดยผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาทและโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันควรจัดกิจกรรมร่วมกัน บูรณาการความร่วมมือร่วมกันในด้านต่าง ๆ ได้แก่ เข้าร่วมเป็นชมรมหรือสมาคมเดียวกัน พัฒนาบุคลากรร่วมกันหรือ จัดประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่หรือจัดโดยส่วนกลาง ทั้งนี้เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการและการขับเคลื่อนงานอย่างเต็มตามศักยภาพ

The post ชมรม “คุรุทายาท” รวมพลที่เชียงราย ประชุมเสวนาพัฒนาคุณภาพการศึกษา พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post