21 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 8/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้

ความก้าวหน้าเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA 2025

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ที่เป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ ถือเป็นความท้าทายในการปฏิบัติภารกิจของ ศธ. จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานอย่างจริงจัง ในการจัดทำข้อมูลให้มีความถูกต้อง ตรงเป้าหมาย ตรงประเด็น และตรงกัน เพื่อให้การแก้ปัญหาให้ตรงจุด มีความเป็นเอกภาพ สร้างมาตรฐานการศึกษาให้มีความเสมอภาค เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงาน

ศธ. จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ซึ่งล่าสุดได้แต่งตั้ง นายธงชัย ชิวปรีชา อดีตผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการยกระดับผลการประเมิน PISA 2025 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาของประเทศ และสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาของประเทศในทุกภาคส่วนให้ประสานความร่วมมือกัน มีการจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA 2025 บูรณาการการทำงานและมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานแต่งตั้งคณะทำงานภายในเพื่อนำแผนการขับเคลื่อนไปดำเนินงานกับครูและนักเรียนในสังกัดของตนเอง

ผลการประเมิน PISA 2022 พบว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยลดลง ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน จากโรงเรียนทุกสังกัดการศึกษา จำนวน 279 แห่ง ที่ถูกสุ่มเพื่อเป็นตัวแทนนักเรียนไทยอายุ 15 ปี จำนวน 8,495 คน จากประชากรนักเรียนทั้งประเทศ จำนวนประมาณ 600,000 คน ซึ่งผลเฉลี่ยของประเทศไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ในทุกด้าน จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ผลเฉลี่ยการประเมิน PISA ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ให้เทียบเท่าหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD

เบื้องต้นได้มีการดำเนินการจัดทำรายงานผลการประเมิน PISA 2022 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน ในประเด็นการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล การดำเนินการวิจัย PISA ผลการประเมินและการเปรียบเทียบคะแนน PISA และ O-NET จำแนกตามกลุ่มโรงเรียน จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมีมาตรการเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินงาน

“ปัจจัยความสำเร็จของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษา ต้องให้ความสำคัญกับต้นน้ำก่อน คือ การพัฒนาครูให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยต้องหันกลับพิจารณาว่าระบบการผลิตและพัฒนาครูมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดเป็นอันดับแรก ต่อมาคือการทบทวนหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น ตอบสนองความต้องการของนักเรียน เพื่อให้ทุกคนได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองเต็มตามศักยภาพ” รมว.ศธ. กล่าว

ศธ. จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนระดับ 3 คือ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ต้องสามารถเชื่อมโยงเป้าหมายและตัวชี้วัดในเชิงนโยบายให้ได้ตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทฉบับต่าง ๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาลไปสู่แผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการดำเนินการให้ผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนด KPI (Key Performance Indicator : ดัชนีชี้วัดผลความสำเร็จของงาน) เพื่อลดภารกิจที่ต้องดำเนินงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการพัฒนา รวมทั้งโครงการที่จะมาสนับสนุนการดำเนินการเพื่อปิดช่องว่างของค่าเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้แผนระดับ 3 ดังกล่าว ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนการขับเคลื่อนยกระดับผลการทดสอบ PISA 2025 การดำเนินงานเพื่อพัฒนานักเรียนสู่การเรียนการสอน

สำหรับแผนระยะสั้น คือ เร่งพัฒนาสื่อนวัตกรรมเพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทั้งในรูปแบบของ Paper-based Testing และ Computer-based Testing

ส่วนแผนระยะยาว คือ ต้องพัฒนาความสามารถด้านการอ่านให้กับนักเรียนในทุกระดับชั้น ทั้งในกลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการฝึกฝนสมรรถนะด้านการอ่านเชิงคิดวิเคราะห์ โดยใช้เนื้อหาที่มีความหลากหลายและซับซ้อนตามช่วงวัย และระดับการศึกษาของผู้เรียน ขณะเดียวกันยังมีการขับเคลื่อนด้วยคู่พี่เลี้ยงโรงเรียนวิทยาศาสตร์พลังสิบกับโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โดยมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ช่วยในการพัฒนาเครื่องมือและวิทยากรหลัก เป็นพี่เลี้ยงพัฒนาให้กับเขตพื้นที่ประถมศึกษา และครูแกนนำวิทยาศาสตร์พลังสิบ

“การประเมิน PISA เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยยังคงมีเหลื่อมล้ำอยู่ ตนจึงอยากลดหรือขจัดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้หมดไป ด้วยการสร้างมาตรฐานการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุด ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนที่จัดการศึกษา”

ชื่นชมนักเรียนโรงเรียนสิชลประชาสรรค์ นำความรู้วิชาลูกเสือ มาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ และปฐมพยาบาล ในสถานการณ์จริง

รมว.ศธ. กล่าวชื่นชม นายพลายเงิน ดีอ่อน อายุ 15 ปี นักเรียนโรงเรียนสิชลประชาสรรค์ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช  ผ่านการประชุม ZOOM ในครั้งนี้ ที่ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุเพลิงไหม้รถยนต์เสียหาย โดยได้รีบเข้าไปช่วยเหลือคนขับออกจากรถ และช่วยขนสัมภาระในรถออกมาอย่างปลอดภัย ก่อนที่เพลิงจะลุกไหม้รถเสียหายทั้งคัน

“เป็นเรื่องที่น่ายินดีและรู้สึกดีใจที่นักเรียนในสังกัด ศธ. ได้ทำคุณงามความดี และมีความกล้าหาญ ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ยังรักษาความปลอดภัยให้ตัวเองได้โดยไม่ได้รับอันตราย ถือเป็นการใช้ความรู้จากการเรียนวิชาลูกเสือ ทั้งการปฐมพยาบาล การควบคุมสติในการเผชิญเหตุมาใช้ในสถานการณ์จริง ขอขอบคุณโรงเรียน คณะครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้อบรมสั่งสอน ทั้งทักษะวิชา และทักษะชีวิต “ทำดี ทำได้ ทำทันที” จนนักเรียนสามารถนำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้อื่นได้

ขอให้นักเรียนและคณะครูทุกคนรักษาความดี และตระหนักถึงความสำคัญและส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะติดตัว สามารถนำไปบำเพ็ญประโยชน์เพื่อตนเองและส่วนรวม”

กำชับผู้บริหารเกี่ยวกับแนวทางการลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม

รมว.ศธ. กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจราชการนั้น ขอให้ยึดถือข้อสั่งการและแนวทางปฏิบัติของ ศธ. คือ ให้เฉพาะผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับการตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม โดยให้ดำเนินการอย่างเรียบง่ายและประหยัด เช่น ไม่ต้องติดป้ายต้อนรับ ไม่มีของที่ระลึกหรือของฝากในการลงพื้นที่ของ รมว.ศธ. เช่น การลงพื้นที่ ครม. สัญจร หรือการตรวจเยี่ยมส่วนราชการ หากสิ่งใดที่สามารถลดภาระของบุคลากร ลดการใช้งบประมาณได้ ก็ให้ดำเนินการตามแนวทางการทำงาน “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด”

หลักเกณฑ์และวิธีย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับให้การย้ายมีผล 1 เมษายน

รมว.ศธ. กล่าวว่า สำหรับการโยกย้ายครูที่กำลังจะเกิดขึ้น ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เร่งดำเนินการด้วยความรอบครอบและรวดเร็ว และได้มอบหมายให้ ก.ค.ศ. ดำเนินการจัดทำระบบการย้ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (Teacher Rotation System หรือ TRS) เพื่อให้การย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษา มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ โดยการย้ายทุกกรณีต้องยื่นคำร้องขอย้ายผ่านระบบ TRS เท่านั้น และเห็นชอบให้ปรับปฏิทินการย้ายครูฯ จากเดิมที่ให้การย้ายมีผลวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นให้การย้ายมีผลวันที่ 1 เมษายน เพื่อให้สามารถบรรจุครูทดแทนที่ย้ายได้ทันที ทำให้มีอัตราว่างและโรงเรียนสามารถหาครูมาบรรจุทดแทนได้ทันการเปิดภาคเรียน ในวันที่ 16 พฤษภาคม

โดยการย้าย แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1) การย้ายกรณีปกติ คือ การย้ายตามคำร้องขอย้าย เพื่อกลับภูมิลำเนา หรือเพื่อดูแล บิดา มารดา ผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือเพื่ออยู่รวมกับคู่สมรส หรือการย้ายสับเปลี่ยน หรือการย้ายด้วยเหตุผลอื่น 2) การย้ายกรณีพิเศษ คือ การย้ายตามคำร้องขอย้าย เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือถูกคุกคามต่อชีวิต หรือเพื่อดูแลบิดา มารดา ผู้อุปการะเลี้ยงดู คู่สมรส บุตร ซึ่งเจ็บป่วยร้ายแรง หรือทุพพลภาพ หรือเพื่อติดตามคู่สมรส และ 3) การย้ายกรณีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ คือ การย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือการย้ายเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการในสถานศึกษา หรือการย้ายเพื่อเกลี่ยอัตรากำลังของสถานศึกษา

การแต่งกายของข้าราชการและบุคลากร ศธ. จันทร์-เสื้อเหลือง อังคาร-เครื่องแบบกากี

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. กล่าวว่า ขอความร่วมมือบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าไทยสีเหลือง ประดับเข็มที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 หรือประดับตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ ฯ (กรณีไม่มีเข็มที่ระลึกพระราชพิธีฯ หรือตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าไทยสีเหลือง) แทนการแต่งกายปกติ ในทุกวันจันทร์ที่เป็นวันทำการ และในวันหรือในโอกาสอื่นที่เหมาะสม

และแต่งกายเครื่องแบบกากี ในทุกวันอังคารที่เป็นวันทำการ รวมทั้งเชิญชวนให้องค์กร หน่วยงาน ภาคเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดีด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าไทยสีเหลือง หรือเสื้อสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้เหมาะสม ถูกต้อง โดยพร้อมเพรียงกัน

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ

The post เสมา 1 ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำ สร้างมาตรฐานการศึกษาอย่างเท่าเทียม พร้อมชื่นชม “น้องพลายเงิน” ใช้ทักษะที่ได้จากวิชาลูกเสือ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันเวลา “ทำดี ทำได้ ทำทันที” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post