8 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 17/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการนั้น มีภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการในหลายภารกิจ จึงขอให้ทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือในการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งพัฒนาความรู้และพัฒนาสมรรถนะ สร้างความตระหนักและมีความตื่นตัวในการปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ โดยขอให้ทุกหน่วยงานยึดนโยบายการทำงานด้วยความ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” ไปเป็นแนวทางในทุกภารกิจที่ดำเนินการอยู่

นโยบายการทำงานด้วยความ “ถูกต้อง”

การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานทั้งหน่วยงานในสังกัด ศธ. และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาเชิงรุก ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การดำเนินงานของสหกรณ์ และวาระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยยึดแนวทางการทำงานด้วยความ “ถูกต้อง”

โดย สพฐ. ได้จัดทำระบบบริหารงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการทางการเงินและสร้างองค์ความรู้ พร้อมทั้งนำความรู้ไปขยายผลส่งต่อความรู้สู่ผู้อื่นได้ โดยมีแนวทางในการดำเนินการ คือการคลายทุกข์ด้วยการเติมความรู้ในการบริหารจัดการการเงิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสร้างความตระหนักในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง และยังมีการดำเนินการกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากร ประสานเจรจา ขอความร่วมมือ ปรับปรุง แก้ไขระเบียบ กฎหมาย และกำหนดแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหา พร้อมสนับสนุนสถานีแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 แห่ง ให้มี OBEC Money Coach ที่จะสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาสมรรถนะด้านการเงินของครู บุคลากรและนักเรียนทุกคน

การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567

รมว.ศธ. กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานวางแผนการดำเนินงาน กำกับ ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของทุกหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งหาจัดทำแนวทางการนำระบบสารสนเทศด้านการรายงานผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดสามารถเข้ามากรอกข้อมูลผลการดำเนินงานเป็นรายโครงการในแต่ละสัปดาห์ โดยการจัดทำแอปพลิเคชันหรือระบบในการจัดทำงบประมาณและการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานในสังกัด โดยนำเสนอในรูปแบบ Dashboard ซึ่งต้องมีการพัฒนาขยายหน่วยงานผู้เข้าใช้ระบบงานให้ครอบคลุมทั้ง ศธ.

โดยการดำเนินงานต้องคำนึงถึงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยึดแนวทางการทำงานด้วยความ “ถูกต้อง” และต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระเจ้าหน้าที่และบุคลากรในองค์กร ฝากผู้บริหารทุกคนต้องมีการขับเคลื่อน เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินการผลการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

นโยบายการทำงานด้วยความ “รวดเร็ว”

การปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า การปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 เห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการปรับอัตราเงินเดือนใหม่พร้อมกันในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิ เป็นกลุ่มของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่บรรจุใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และ 1 พฤษภาคม 2568 และ กลุ่มที่ 2 การปรับเงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นกลุ่มของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับ (วันที่ 1 พ.ค. 67 และ 1 พ.ค. 68) และได้รับอัตราเงินเดือนไม่เกินอัตราสูงสุดที่กำหนดให้ได้รับการปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละคุณวุฒิ

ซึ่งได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งตรวจสอบคุณวุฒิให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดด้วยความถูกต้อง และ “รวดเร็ว” เร่งออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยย้ำว่า “ทุกหน่วยงานต้องไม่มีการตกเบิก” หรือถ้ามีการตกเบิกต้องเป็นเฉพาะรายเท่านั้น ซึ่งขอให้เร่งดำเนินการและรายงานให้ รมว.ศธ. ทราบถึงสาเหตุของการตกเบิกทันที

การยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA และ O-NET

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายด้วยความ “รวดเร็ว” ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA การสอบ O-NET รวมถึงการสอบในประเภทต่าง ๆ นั้น ถือเป็นความท้าทายของผู้บริหารทุกคน เป็นมิติของนักบริหารจัดการ คือการคิดและบริหารขับเคลื่อนให้การยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานสอดประสานกันและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และต้องมีการสื่อสารแนวทางการดำเนินการ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้สังคมด้วยความรวดเร็วและชัดเจน

สิ่งที่สำคัญอีกประการคือการทำให้นักเรียน มองเห็นถึงความสำคัญและมีความมุ่งมั่น ในการเข้ารับการทดสอบในทุกประเภท เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนและผลระดับผลการทดสอบระดับประเทศ ต้องสร้างแรงจูงใจ สร้างความสนใจ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการสอบ ให้แก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษาทุกคน

ทั้งนี้ ได้รับทราบการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมิน PISA สำหรับวิทยากรแกนนำของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดย สพฐ. ร่วมกับ สสวท. ในการพัฒนาแกนนำ PISA เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้ศึกษานิเทศก์และครูแกนนำมีแนวทางในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และระดับสถานศึกษาที่ชัดเจนพร้อมลงสู่การปฏิบัติ

การใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา เพื่อการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา โดยที่ สสวท. จัดทำระบบการรายงานผลการดำเนินงานของหลักสูตรอบรมโดยใช้ระบบออนไลน์ ที่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลจำนวนผู้ลงทะเบียนและผู้เข้ารับการอบรม โดยได้ดำเนินการตามข้อสังการของ รมว.ศธ. ที่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลจำนวนผู้ลงทะเบียนและผู้เข้ารับการอบรม ข้อมูลกลุ่มอาชีพ ข้อมูลหน่วยงานหรือสังกัดของผู้ลงทะเบียนและผู้เข้ารับการอบรม รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นหน่วยงานภายนอก อาทิเช่น กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนจำนวน 11,339 คน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลที่นำไปสู่การกำหนดแนวทางในการพัฒนา เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

แผนการยกระดับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET โดย สพฐ. ได้มีการจัดทำแผนระยะยาว ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ของนักเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นการส่งเสริมและจัดกิจกรรมตามความเหมาะสมกับแต่ละระดับการศึกษา โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นการจับคู่พัฒนาร่วมกันระหว่างโรงเรียนที่มีผลคะแนน O-NET ต่ำ กับ โรงเรียนพี่เลี้ยง ที่มีผลคะแนน O-NET สูง และได้มีการจัดทำระบบคลังข้อสอบมาตรฐาน สพฐ. (Standardized Item Bank System : SIBS) โดยจะเป็นคลังข้อสอบที่ครอบคลุมทั้ง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตรงตามมาตรฐานตัวชี้วัด ครอบคลุมทั้งทักษะการคิดขั้นพื้นฐานและทักษะการคิดขั้นสูง ผ่านการทดลองจากสถานศึกษาทั่วประเทศ และผ่านการวิเคราะห์คุณภาพของข้อสอบ เพื่อให้นักเรียนและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ และทดลองทำข้อสอบได้ทุกคน

เน้นย้ำให้มีการติดตาม เร่งรัด การผลิตและจัดส่งหนังสือเรียนให้ทันก่อนช่วงเปิดภาคเรียน

รมว.ศธ. ได้สั่งการให้องค์การค้าของ สกสค. เร่งรัดการผลิตและจัดส่งหนังสือเรียนให้ทันก่อนช่วงเปิดภาคเรียน และกำชับเรื่องกระบวนการจัดส่งหนังสือเรียน เนื่องจากช่วงเวลาการจัดส่งแบบเรียนอยู่ระหว่างปิดภาคเรียน ดังนั้นจะต้องมีระบบติดตามการจัดส่งหนังสือเรียนให้ได้มาตรฐานและไม่ตกหล่น พร้อมสั่งการให้พัฒนาระบบการจัดซื้อ-ส่งหนังสือที่มีมาตรฐาน และมีความถูกต้อง “รวดเร็ว”

โดยองค์การค้าของ สกสค. ได้มีการติดตามและประเมินผลการผลิต จัดจำหน่าย และขนส่งหนังสือเรียนขององค์การค้าของ สกสค. ร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยดำเนินการติดตามและประเมินผลการผลิตหนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 ในการผลิตหนังสือเรียนของแต่ละโรงพิมพ์ทุกสัปดาห์ มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของหนังสือเรียนและความพร้อมในการจัดส่งให้แล้วเสร็จ สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และมีเป้าหมายในการจัดส่งหนังสือเรียนให้ทันก่อนเปิดภาคเรียน และได้จัดทำโปรแกรมเพื่อดำเนินการติดตามสถานะการผลิตและการจัดส่งของหนังสือเรียนแต่ละโรงพิมพ์แบบรายวัน (Real Time) และติดตามเร่งรัดการจัดพิมพ์หนังสือเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

นโยบายการทำงานด้วย “ประโยชน์”

โครงการสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ. กล่าวว่า โครงการสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2567 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการจัดการในครั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570 ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา กำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินงานด้านการศึกษา การร่วมมือในการบูรณาการและสร้างภาคีเครือข่ายการบริหารจัดการศึกษาตามนโยบายของ รมว.ศธ. ซึ่งขอให้ทุกหน่วยงานนำสรุปผลการสัมมนาฯ มาพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาของหน่วยงานในสังกัด ให้บรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570 และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป

ขอให้ผู้บริหารทุกท่านนำความรู้และเนื้อหาสาระที่ได้จากการสัมมนาฯ นำไปใช้พัฒนาเพื่อ “ประโยชน์” ต่อองค์การ และนำมาขับเคลื่อนในองค์กรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา พร้อมไปกับการพัฒนาสมรรถนะผู้บริหารและบุคลากรในองค์กรไปพร้อม ๆ กัน ส่งเสริมการ Upskill การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่เรามีให้ดีกว่าเดิม และการ Reskill การสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน เพราะการทำงานทุกงานนั้นจะสำเร็จได้ ก็เมื่อทุกคนในองค์กรร่วมมือร่วมใจปฏิบัติงาน และขับเคลื่อนนโยบายไปพร้อม ๆ กัน

การขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมรับทราบการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป้าประสงค์หลักของการจัดทำ MOU ฉบับนี้ คือส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัย เข้าใจและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย มีรากฐานจิตสำนึกรักความเป็นไทย มีคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยม และหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติบ้านเมืองและสถาบันสำคัญของชาติเป็นพลเมืองที่ดี รวมทั้งกำหนดคุณลักษณะของผู้สมัครเข้ารับราชการ เพื่อให้ได้ข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน มีจิตสำนึกรักและภูมิใจในความเป็นไทย มีจิตอาสา คุณธรรมจริยธรรม และจรรยาข้าราชการ ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนส่งเสริมให้ข้าราชการบรรจุใหม่ และข้าราชการ บุคลากร ทุกระดับ ทุกประเภท เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีของแผ่นดิน มีจิตสำนึก จิตอาสา คุณธรรมและจริยธรรม ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม ประพฤติตนเป็นข้าราชการที่ดีตามรอยพระยุคลบาท และสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม

โดยการจัดทำ MOU ฉบับนี้ มีนโยบาย ทิศทาง กรอบแนวทางการขับเคลื่อนงานที่สำคัญ คือ การเสริมสร้างความรู้และตระหนักในความสำคัญของคุณธรรมจริยธรรมตั้งแต่ระดับปฐมวัย การเสริมสร้างความรู้และตระหนักในความสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย การสร้างคุณค่า ความสำคัญของค่านิยม ความเข้าใจและภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ตนเอง ในความเป็นไทย และการสนับสนุนการพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม สติปัญญา และจิตใจ

รมว.ศธ. สั่งการให้ทุกหน่วยงานนำนโยบาย ทิศทาง กรอบแนวทางการขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ ไปกำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนงานของ ศธ. เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิด “ประโยชน์” สูงสุด โดยส่วนราชการสามารถนำไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยงาน

Kick Off “สุขาดี มีความสุข” ทุกโรงเรียน ทั่วประเทศ

ตามที่ รมว.ศธ. มีนโยบายในการปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียน ห้องน้ำโรงเรียนต้อง “สะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม” เป็นหนึ่งในภารกิจเพื่อให้สถานศึกษาได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 โดยให้โรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซม ทั้งสุขภัณฑ์ในห้องน้ำให้สะอาดและถูกสุขลักษณะ รวมถึงระบบน้ำประปา การติดตั้งระบบไฟฟ้า ไฟแสงสว่างภายในให้เพียงพอ และปลอดภัย การทาสีห้องน้ำ จัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกให้เหมาะสมถูกสุขลักษณะ เพื่อให้ห้องน้ำโรงเรียนสะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ และสวยงาม

สิ่งสำคัญได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารดำเนินการกำกับ ติดตาม และเร่งรัดให้ทุกโรงเรียนดำเนินการสำรวจข้อมูลสภาพห้องน้ำทุกโรงเรียน และวางแผนดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมห้องน้ำโรงเรียน โดยต้องมีความ “สะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม” และดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อไม่ให้กระทบต่อกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน โดยปรับปรุงทาสี จัดหาอุปกรณ์ให้พร้อมใช้ สวยงาม เหมาะสม พร้อมทั้งบันทึกภาพทั้งก่อนและหลังการดำเนินการแล้วเสร็จ และรายงานผลการดำเนินงานก่อนเปิดภาคเรียนเพื่อ “ประโยชน์” แก่บุคลากรทุกคนในโรงเรียน

นโยบายการทำงานด้วยความ “ประหยัด”

การบริหารทรัพยากรของกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ของหน่วยงาน ไม่ว่าเป็นห้องประชุม ห้องปฏิบัติงาน ครุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์และไม่ได้ใช้งาน นำมาดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม เพื่อนำกลับมาใช้งาน หรือแบ่งปันให้กับหน่วยงานอื่นได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นการช่วย “ประหยัด” ค่าใช้จ่าย และงบประมาณฯ ถือเป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มในการดำเนินงาน ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน อาทิ ระบบบริหารจัดการเอกสาร MOE DO ระบบประชุม e-Meeting เพื่อช่วยลดการทำงานที่ไม่จำเป็น “ประหยัด” งบประมาณ “ประหยัด” และลดระยะเวลา และช่วยในการวางแผน เพื่อประโยชน์ในการควบคุม การบริหารจัดการข้อมูล ให้สามารถดำเนินการได้ถูกต้องก่อให้เกิดการบริหารจัดการข้อมูลที่ดี ส่งผลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ

 

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
นัทสร ทองกำเหนิด / ภาพ

The post เสมา 1 มั่นใจ เงินเดือนครูขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศไร้ตกเบิก เน้นย้ำนโยบายการทำงาน ศธ. “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post