โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ – 2 สิงหาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา แถลงภาพรวมความคืบหน้าการประชุมสภาการศึกษานานาชาติ ประเด็นบทเรียนความสำเร็จและแนวนโยบายที่ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ในรูปแบบการประชุมโต๊ะกลม (Round Table)

นายอรรถพล สังขวาสี เปิดเผยว่า การประชุมฯ รูปแบบ Round Table เป็นความร่วมมือระหว่างสภาการศึกษาไทย กับ UNESCO, UNICEF SEAMES, World Bank, OECD SEAMEO INNOTECH, Beijing Foreign University, British Council, สภาหอการค้าไทย สถานทูตฟินแลนด์ อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ ลาว ประจำประเทศไทย หอการค้าไอซ์แลนด์ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่าง ๆ วิทยากรด้านการศึกษาจากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในระบบออนไซต์และออนไลน์ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องบทเรียนความสำเร็จและแนวนโยบายที่ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เพื่อเป็นการรวบรวม แลกเปลี่ยนแนวคิดประสบการณ์ในด้านการศึกษาที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในด้านสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี และความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป

การจัดการศึกษาให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการดูแลและส่งเสริมให้ครู นักเรียน ครอบครัวและผู้มีส่วนได้เสีย ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตร ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต ซึ่งการจัดการศึกษาในอนาคตนั้น ควรจะมีการจัดการศึกษาด้วยหลักสูตรที่ยืดหยุ่น มีการผ่อนผันกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ รวมถึงการมุ่งเน้นให้มีการสร้างกรอบความคิดให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้ที่ชาญฉลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและพัฒนาให้ยั่งยืน รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมทักษะในการปกป้องสิ่งแวดล้อม

นอกจากการพัฒนาผู้เรียนแล้ว ควรมีนโยบายเพื่อการพัฒนาและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ครูผู้สอน รวมถึงปัญหาภาระงานเกินกำลังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัญหาภาระงานครูที่นอกจากการสอน ภาระงานประเมิน ภาระงานครูที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ครูไม่มีเวลาในการเอาใจใส่นักเรียนได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถพัฒนาทักษะความรู้เพิ่มเติมให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องอาศัยการปรับปรุงโครงสร้างจากภาครัฐ ทั้งด้านนโยบาย งบประมาณ การร่วมมือจากชุมชน ตลอดจนการปรับแก้โครงสร้างของระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับนโยบายการลดงานครูและบุคลากรทางการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาให้เป็นไปตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ในการสร้างแรงผลักดันและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 4 คือการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกช่วงวัย ประกอบกับนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ที่มีเป้าประสงค์หลักเพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นอยู่ที่ดี และทำให้ผู้เรียนมีความสุข โดยมีแนวคิดในการจัดการศึกษา 2 ข้อหลัก คือการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต

ถือเป็นความท้าทายในการพัฒนาให้ “ภายในปี 2030 ผู้เรียนทุกคนจะได้รับความรู้ และทักษะที่จำเป็นต่อการส่งเสริมการพัฒนา อาทิ สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคหญิงชาย สันติวัฒนธรรม และการไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองโลก ความชื่นชมต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา ด้วยการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาวิถีชีวิตที่ยั่งยืน”

สำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในชั้นเรียน การศึกษาไทยและทั่วโลกในอนาคตนั้น จะมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการเรียนการสอนและจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ครูผู้สอนมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น มีส่วนช่วยครูในการลดขั้นตอนการทำงาน สามารถใช้ในการออกแบบการสอน วางแผนการสอน เพื่อความสะดวก ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป เพราะฉะนั้นครูผู้สอนจึงต้องมีการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอน และสิ่งสำคัญคือการพัฒนาการใช้ AI ควบคู่กับการพัฒนาคุณธรรม ซึ่งถ้าผู้ใช้ไม่มีหลักคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยีแล้ว ย่อมก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต เป็นสิ่งที่ผู้บริหารการศึกษาต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาทำอย่างไรให้การพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาผู้ใช้อย่างมีจริยธรรม

สิ่งที่น่ากังวลคือปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 20% สวนทางกับอัตราการเกิด ผู้สูงอายุจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวต่อความผันผวนของโลกได้ และขาดทัศนคติในการเรียนรู้ ดังนั้นจึงต้องมีการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ของผู้สูงวัย เพื่อเข้าสู่ระบบการทำงานที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ประเทศรัฐบาลได้มีการส่งเสริมการประกอบอาชีพในผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ภายใต้สภาวะที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพ และยังช่วยลดปัญหาการขาดแรงงานที่มีทักษะ เพราะผู้สูงอายุเหล่านี้ยังมีทักษะฝีมือที่พัฒนาตามประสบการณ์ในการทำงาน ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทยภาครัฐจึงควรร่วมมือกับภาคเอกชน ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพในผู้สูงวัย มีการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับช่วงวัย มีการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อช่วยลดปัญหาในการใช้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งทางด้านสาธารณสุขและสังคม สิ่งสำคัญคือการจัดทำแผนการส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ในทุกระดับ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ยังต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนแผนการพัฒนาผลการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย IMD ด้านการศึกษาปี 2568 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบและการจัดเก็บข้อมูลทางการศึกษาและส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาของประเทศให้ภาคเอกชน การพัฒนาตัวชี้วัดการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA การเตรียมคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตามที่ World Economic Forum (WEF) กำหนด ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการในการเตรียมคนให้มีความรู้ มีทักษะ มีความพร้อมในการพัฒนาอนาคตของประเทศไทย

“การประชุมสภาการศึกษานานาชาติในครั้งนี้ จะกระตุ้นให้ทุกท่านได้เห็นภาพทางการศึกษาของโลกได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ระบบการศึกษาของต่างประเทศที่ทุกคนเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย การพัฒนาด้านการศึกษาไทยจะต้องทัดเทียมนานาชาติ เพราะเรามีมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ ที่จะสามารถกำหนดการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้นให้มีคุณภาพ เป็นแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาให้เทียบเท่าสากล สิ่งสำคัญคือทุกหน่วยงานทางการศึกษาต้องร่วมมือกันจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อคุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิต คุณภาพเศรฐกิจ และคุณภาพสังคมไทย ในสภาวะที่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
พีระณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ

The post เลขาธิการ สกศ. “อรรถพล” มั่นใจ ทั่วโลกพร้อมยอมรับคุณภาพการศึกษาไทย วางเป้าหมายครอบคลุม เท่าเทียม ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกช่วงวัย appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post