23 สิงหาคม 2567 Chang Arena Ballroom ชั้น 2 สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์/ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียนได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการของอาเซียน ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย เข้าร่วมการประชุม และมีผู้แทนจากติมอร์- เลสเต เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซียนเข้าร่วมประชุมฯ รวม 90 คน

พิธีเปิดการประชุมเริ่มต้นขึ้นในเวลา 09.00 น. โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน กล่าวเปิดการประชุม โดยย้ำความสำคัญของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 19 (19th ASEAN Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED) ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ รวมถึงอภิปรายประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาในอาเซียน พร้อมทั้งกล่าวถึงความสำคัญของ “การศึกษา” ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบการศึกษาของอาเซียน นำมาซึ่งความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับของการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน การพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานดิจิทัล การเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือการเคลื่อนย้ายระหว่างระดับการศึกษา

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียนในการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษา และสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับผู้เรียน เพื่อพัฒนาอนาคตของการศึกษา โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาของอาเซียนภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล” ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความก้าวหน้าของแผนการศึกษาของอาเซียน ปี 2021-2025 และการจัดทำแผนการศึกษาอาเซียนหลังปี 2025

นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานของสมาชิกตามแผนการศึกษาของอาเซียนดังกล่าว โดย สปป. ลาว ได้นำเสนอผลลัพธ์จากการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยที่นครหลวงเวียงจันทน์ รวมถึงการจัดทำแถลงการณ์เวียงจันทน์ว่าด้วยความเสมอภาคในการเข้าถึงและสิ่งแวดล้อม : การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวรับกับสภาพภูมิอากากาศของเด็กปฐมวัยในอาเซียน (Vientiane Statement of Equity Access and Environment: Advancing Climate Resilience in Early Childhood Settings in ASEAN) ซึ่งสนับสนุนและให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น การวิจัย การพัฒนาครูและผู้บริหารการศึกษา บทบาทของผู้ปกครอง ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ

ในการประชุมครั้งนี้ Mr. Ekkaphab Phanthavong รองเลขาธิการอาเซียน ได้นำเสนอโครงการทุนที่จัดสรรให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน (Intra-ASEAN Scholarship Program for ASEAN Nationals) รวมถึงการจัดทำเวทีการศึกษาเพื่ออนาคตของเสาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ที่ประชุมยังได้พิจารณาความร่วมมือที่สำคัญต่อการจัดการศึกษาของอาเซียนและองค์การซีมีโอในปี 2024 และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประชุมประสานความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการซีมีโอ รวมถึงแถลงการณ์ร่วมมือระหว่างอาเซียนและซีมีโอ ในปฏิญญาร่วมว่าด้วยพื้นที่ร่วมด้านอุดมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN-SEAMEO Joint Declaration on the Common Space in Southeast Asian Higher Education) ซึ่งผ่านการรับรองจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียน และเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ตลอดจนมีโครงการความร่วมมือภายใต้กองทุนอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เกี่ยวกับการติดตาม และพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอาเซียน รวมถึงโครงการวัดผลการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการประชุมคณะทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายการอุดมศึกษาที่จัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นผู้แทนจากมหาวิทยาลัยอาเซียนได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมของ AUN ที่สนับสนุนแผนการศึกษาอาเซียน (AWPE) และแผนปฏิบัติการการศึกษาอาเซียนบวกสาม (APT WPE) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาภูมิภาค และความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งร่วมกันพิจารณาข้อริเริ่ม และแผนที่นำทางในการสนับสนุนปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกแห่งการทำงาน (Initiatives in Support of the ASEAN Declaration on Human Resources Development for the Changing World of Work and its Roadmap) ตามด้วยสิงคโปร์ในฐานะประธานสภาด้านการศึกษาและการฝึกอบรมของอาเซียน (ASEAN TVET Council : ATC) ได้รายงานความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการ ATC ด้วย

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เสนอความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาของอาเซียนปี ค.ศ. 2021-2025 โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการการเคลื่อนย้ายด้านการศึกษาเทคนิคและอาชีวศึกษาของอาเซียน โครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อปรับปรุงคุณภาพตลาดแรงงานในการจัดการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม โครงการการศึกษาสำหรับสตรีและเด็กผู้หญิงในอาเซียน การเชื่อมโยงระหว่างประชาชนภายใต้อาเซียน-สหภาพยุโรปเพื่อความเชื่อมโยงอย่างยั่งยืน และโครงการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจัดสรรงบประมาณการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย (Catalyzing Change: ASEAN Paths to ECCE Financing) เป็นต้น

ทั้งนี้การประชุมฯ ได้สะท้อนความมุ่งมั่นและปณิธานของสมาชิกอาเซียนที่จะผนึกพลังความร่วมมือด้านการศึกษา ในการพัฒนาการเรียนการสอนของอาเซียนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้พลเมืองทุกคนของอาเซียน

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.ศธ./สรุป
กลุ่มสารนิเทศ สำนักอำนวยการ สป.ศธ./ถ่ายภาพ

The post เริ่มแล้ว SOM-ED ครั้งที่ 19 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย นำประเทศสมาชิกอาเซียนขับเคลื่อนการพลิกโฉมการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนสู่อนาคตที่ยั่งยืน ก่อนเสนอที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 13 ให้การรับรอง appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post