“เมืองใจดี”ขอเช
A5 เมืองใจดี-10ขั้นตอน ...
25 ธันวาคม 2567 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยข้อเตือนภัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีครูและบุคลากรทางการศึกษา ถูกมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกคลิกลิงก์กรอกข้อมูลส่วนตัว โดยอ้างว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษหรือเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าว
โฆษก ศธ. เปิดเผยว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับทราบข่าวเกี่ยวกับการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จากการที่มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทางการศึกษา หลอกให้ผู้เสียหายซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูวัยเกษียณคลิกลิงก์กรอกข้อมูลส่วนบุคคล โดยส่งข้อความหรืออีเมลที่ดูเหมือนมาจากกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานทางการศึกษา พร้อมแนบลิงก์ที่ชวนคลิกเพื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือให้โอนเงินเพื่อรับสิทธิ์ แต่เมื่อคลิกลิงก์ไปแล้วผู้เสียหายอาจตกเป็นเหยื่อของการขโมยข้อมูลหรือแม้กระทั่งสูญเสียเงินจากการโอนเงินตามคำขอของมิจฉาชีพ
หนึ่งในวิธีการหลอกลวงที่พบได้บ่อยคือการให้เหยื่อคลิกลิงก์และไปยังเว็บไซต์ที่ทำหน้าตาทางการเหมือนเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ โดยขอให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ – นามสกุล เลขที่บัญชีธนาคาร ใช้ข้อความที่น่าสนใจเช่น “ท่านมีสิทธิ์ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวง” หรือ “ประกาศรายชื่อครูที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการพิเศษ” หรือแม้กระทั่งรหัสผ่านที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงิน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อโจรกรรมหรือเข้าถึงบัญชีของผู้เสียหาย
กระทรวงศึกษาธิการขอเตือนภัยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ระมัดระวังการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ วิธีป้องกันตัวเองจากภัยมิจฉาชีพคือไม่คลิกลิงก์จากแหล่งที่ไม่รู้จักรือไม่น่าเชื่อถือ พร้อมตรวจสอบแหล่งที่ให้แน่ชัดว่ามาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้จริง และควรหลีกเลี่ยงเว็บไซต์ขอข้อมูลส่วนตัวหรือการโอนเงิน ถ้าสงสัยให้ติดต่อสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันข้อมูลก่อนดำเนินการใด และหากตกเป็นเหยื่อควรแจ้งความที่สถานีตำรวจร้อมแจ้งธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อระงับการทำธุรกรรมให้เร็วที่สุด
“ขอเน้นย้ำว่ากะทรวงศึกษาธิการไม่มีนโยบายส่งลิงก์ที่เกี่ยวข้องกับการขอข้อมูลทางการเงินผ่านข้อความส่วนตัว ที่สำคัญภัยมิจฉาชีพสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา มีการปรับรูปแบบการหลอกลวงให้ซับซ้อนและน่าเชื่อถือมากขึ้น โปรดตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งที่มาเสมอ อย่าคลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก และหากมีข้อสงสัยอย่าลังเลที่จะตรวจสอบก่อนเสมอ การตระหนักรู้และระมัดระวังในการรับข้อมูลต่าง ๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและการสูญเสียทรัพย์สิน ” โฆษก ศธ. กล่าว
พบพร ผดุงพล / ข่าว
ธรรมนารี ชดช้อย / กราฟิก