ราชกิจจานุเบกษา
ราชกิจจานุเบกษา (22 ม...
2 ตุลาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 34/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting
โดยก่อนเริ่มการประชุมฯ คณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการได้ยืนสงบนิ่ง 1 นาที เพื่อไว้อาลัยและแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ไฟไหม้รสบัสนักเรียนจากอุทัยธานี ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. และนางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการ คส. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การช่วยเหลือเยียวยาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
รมว.ศธ. กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิต ผู้ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ ครู นักเรียน และนักศึกษาฝึกงาน ที่เดินทางไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งผู้บาดเจ็บทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ในเบื้องต้นสั่งการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง และเขตพื้นที่การศึกษา ลงพื้นที่ทั้งสถานที่เกิดเหตุ และโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี เพื่อช่วยดูแลครูและนักเรียน รวมถึงผู้ปกครองของนักเรียนที่เสียชีวิต ครอบครัวผู้ประสบอุบัติเหตุ และครอบครัวของนักเรียนที่เดินทางไปร่วมทัศนศึกษา สิ่งสำคัญคือการดูและสภาพจิตใจ พร้อมประสานหน่วยงานเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด
ศธ. เตรียมการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวครูและนักเรียนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยดำเนินการใน 2 มิติ คือ ด้านการช่วยเหลือเยียวยาในทันที และการตั้งกองทุนช่วยเหลือ โดย สพฐ. เตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวครู นักเรียน และนักศึกษาฝึกงาน รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการประสานขอพระราชทานเพลิงในพิธีฌาปนกิจ
นอกจากนี้ยังสั่งการให้ประสานในส่วนของการตรวจสอบการชดใช้ค่าสูญเสีย จากกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งประกันชีวิต อุบัติเหตุของกลุ่มของครูและนักเรียน และประกันรถยนต์ที่คุ้มครองผู้ขับขี่และผู้โดยสาร (บุคคลที่ 3) รวมถึงการประสานกับมหาวิทยาลัยในเรื่องการประกันภัยของนักศึกษาฝึกสอน ทั้งนี้ในส่วนของโรงเรียนได้จัดทำประกันหมู่ทั้งปีการศึกษา
สิ่งสำคัญตอนนี้คือต้องเร่งทบทวน ปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานสถานศึกษา (ระเบียบฉบับเดิม ประกาศใช้ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2562) ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นและประกาศบังคับใช้ทั้งสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษาที่อยู่ในกำกับดูแล หรืออยู่ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการด้วย
เพิ่มมาตรการความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเฉพาะการพิจารณาคัดเลือกเส้นทางการเดินทาง การควบคุมยานพาหนะให้เป็นไปตามลำดับหมายเลขตามเส้นทางที่กำหนด และการใช้ความเร็วของยานพาหนะ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยจราจรอย่างเคร่งครัด ยานพาหนะต้องอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงพนักงานขับรถต้องมีความรู้ ความชำนาญเป็นอย่างดี ซึ่ง ศธ. มี ระเบียบฯ ที่ครอบคลุมทุกประเด็น แต่เมื่อเกิดเหตุที่ร้ายแรงเช่นนี้ก็ต้องเร่งทบทวนระเบียบอย่างรวดเร็วที่สุด
ทั้งนี้ เตรียมให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ แก่ข้าราชการซึ่งเสียชีวิตหรือได้รับอันตราย เพราะเหตุปฏิบัติราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณี เลื่อน 3 ขั้นเงินเดือน รวมทั้ง สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พิจารณามอบรางวัล “รางวัลครูถิรคุณ” ให้แก่ครูผู้เสียชีวิต ตามหลักเกณฑ์ “ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือประกอบวิชาชีพจนได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายหรือสูญเสียอวัยวะ หรือถึงแก่ชีวิต โดยเหตุเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือในการประกอบวิชาชีพ หรือเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่เป็นกรณีพิเศษจนเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำ หรือเพราะเหตุปฏิบัติตามหน้าที่ หรือได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกรณีพิเศษ เว้นแต่การประสบเหตุนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจากความผิดของตน หรือจากเหตุที่ตนมีส่วนร่วมในการกระทำนั้นด้วย”
พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานและทุกสถานศึกษา มีการเตรียมแผนเผชิญเหตุความปลอดภัยในหน่วยงานและสถานศึกษา และมีการซ้อมแผนเผชิญเหตุทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นเหตุเพลิงไหม้ อุทกภัย ไฟป่า รวมถึงเรื่องอุบัติเหตุจากยานพาหนะและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งจัดทำมาตรการชั่วคราว โดยในเบื้องต้นเรื่องที่ต้องดำเนินการทันที คือ 1. งดการทัศนศึกษาที่ไม่จำเป็นมีผลทันทีไม่มีกำหนด 2. จัดทำมาตรฐานการศึกษาด้านความปลอดภัย และในระยะยาวดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมถอดบทเรียนและร่วมกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยในหน่วยงานและสถานศึกษา
“ศธ. ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การช่วยเหลือและร่วมแสดงความอาลัยต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ และมอบหมายให้ สป. จัดทำหนังสือขอบคุณเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจ และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการสร้างการรับรู้และสื่อสารให้กับประชาชนได้รับทราบ ทั้งในส่วนของพื้นที่ มอบหมาย ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหาย ให้รับทราบถึงความห่วงใย และกระบวนการในการช่วยเหลือเยียวยา และการสื่อประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับทุกเหตุการณ์และทุกชีวิตของทุกคน“
การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA
รมว.ศธ. กล่าวว่า การพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนขอให้พัฒนาด้วยกันในทุกมิติ ทั้งมิติในด้านของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ก็ขอให้มีการส่งเสริมการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งทาง สพฐ. ก็เริ่มดำเนินการมาในระยะหนึ่ง ซึ่งมีผลการดำเนินงานไปในทิศทางที่ดี อีกส่วนหนึ่งคือมิติด้านการนำไปฝึกปฏิบัติ รมว.ศธ. เชื่อว่า การลงมือปฏิบัติจะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ในสถานการณ์จริงได้ดี มากกว่าการเรียนรู้เพียงทฤษฎีเพียงอย่างเดียว ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมมือการพัฒนา การประเมินสมรรถนะ PISA ซึ่งในปีงบประมาณใหม่นี้ ก็ขอให้ร่วมมือกันผลักดันคุณภาพการสอบ PISA ของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ได้รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของนักเรียน ตามแนวทางโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการติดตามการประชุมถอดบทเรียนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเขตพื้นที่ ด้วยชุดพัฒนาความฉลาดรู้และ Computer Based Test ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือให้แก่ครูนำ นำไปใช้ประกอบการวางแผนและออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ในการพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ซึ่งจากการถอดบทเรียนพบว่า สถานศึกษานำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในการเรียนการสอนครบ 100% มีครูแกนนำ 3 โดเมน ที่นำชุดพัฒนาไปใช้ในห้องเรียนครบทุกด้าน (ด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์) ซึ่งผลสะท้อนจากการถอดบทเรียนจะนำไปสู่การวางแผน ปรับปรุง แก้ไข และวิธีดำเนินการนำไปใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สสวท. ได้จัดกิจกรรมการอบรมออนไลน์ การสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระหว่างวันที่ 7 – 8 ตุลาคม 2567 โดยมีแนวทางการอบรมคือ ต้องเป็นครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ที่จัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ หรือวิชาภาษาไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบการประเมินและลักษณะของข้อสอบ PISA และมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างข้อสอบแบบเลือกตอบ และข้อสอบแบบเขียนตอบ นอกจากนี้ยังมีการอบรมครูด้วยระบบออนไลน์หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อการจัดทำกรอบแนวคิดรวบยอดที่จำเป็น และสมรรถนะที่จำเป็น ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งอบรมด้วยระบบออนไลน์ เรื่องการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
“มิติที่ รมว.ศธ. เสนอให้มีการเพิ่มเติมในเรื่องของการนำทฤษฎีระบบ System Theory มาใช้ในการดำเนินงาน โดยการมองภาพรวม มีการพิจารณา วิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา ทั้งปัจจัยต่าง ๆ กระบวนการ และความสำเร็จของการดำเนินงาน ตามที่ สสวท. มีการจัดกิจกรรมการอบรมออนไลน์ในการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ขอให้ดำเนินการโดยระบบคู่ขนาน ทำ Google Classroom เพิ่มเนื้อหาในทุกมิติ ทั้งในส่วนของ สพฐ. ทุกเขตพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานในสังกัด สอศ. สช. และประสานไปยัง อว. และ อปท. ปรับเปลี่ยนรูปแบบชุดการเรียนการสอนแบบ E-Book หรือรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นมิติที่อยากให้เพิ่มเติมเพื่อประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น”
กิจกรรม ศธ. บำเพ็ญประโยชน์เพื่อฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ
รมว.ศธ. กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน ร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายยุวกาชาดในจังหวัดเชียงราย ร่วมกันจัดโครงการยุวกาชาดบำเพ็ญประโยชน์เพื่อฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรม ศธ. จิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์เพื่อฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ โดยมีบุคลากรจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ ร่วมดำเนินการจิตอาสาภัยพิบัติ อาทิ การซ่อมแซมความเสียหายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำความสะอาดโรงเรียนหลังน้ำลด และการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าของประชาชนในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นำศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center ไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมทุกพื้นที่ โดยนักศึกษาอาชีวะของ สอศ. มีความพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้แก่ประชาชน และการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานศึกษา และอาคารบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดย รมว.ศธ. กล่าวขอบคุณและขอให้คำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญด้วย
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการบริหารงาน
รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่ได้มอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของ ศธ. ได้ให้ความสำคัญต่อการติดตามงานและรายงานผล โดยให้มีการติดตามงานอย่างเข้ม ต่อเนื่อง เพื่อให้มีการขับเคลื่อนอย่างไม่หยุดนิ่ง เน้นการบูรณาการระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงาน มุ่งเน้นแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ มีการนำผลการประเมินมาใช้ในการตัดสินใจในการปฏิบัติงาน วิเคราะห์จุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา โดยต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
มีการสื่อสารทุกช่องทาง เพื่อเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับฟังข้อมูลย้อนกลับเพื่อนำมาปรับเปลี่ยนและพัฒนางานการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของการตรวจราชการ ขอให้มีการบูรณาการการทำงานกับทุกหน่วยงาน รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารงาน การปฏิบัติงานและบริหารจัดการ
มีแพลตฟอร์มรองรับการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ
โดยในส่วนของ สป. ได้มีการเร่งติดตามผลการดำเนินงานในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน และเป็นการสร้างความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เน้นถึงการเร่งพัฒนาระบบดิจิทัล การจัดทำปฏิทิน Timeline ปฏิบัติงานที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ในทุกขั้นตอน ดำเนินการด้วยความเป็นกลาง โดยเฉพาะการสำรวจจำนวนผู้สมัครสอบหรือขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการมากยิ่งขึ้น
“กระทรวงศึกษาธิการ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์เพลิงไหม้รถทัศนศึกษา ของครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี และขอร่วมไว้อาลัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องสูญเสีย “ครู” ผู้เป็นบุคลากรแม่พิมพ์ของชาติ และ “นักเรียน” ผู้ที่จะเติบโตเป็นอนาคตของประเทศ ตนและบุคลากรทุกระดับพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างให้กำลังใจครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาอันยากลำบากเช่นนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่าขอให้งดการทัศนศึกษาที่ไม่จำเป็นทันที (สำหรับเด็กเล็กให้งดทุกกรณี) แต่ถ้าจำเป็นอย่างเข้าค่ายลูกเสือก็ต้องวางมาตรการรักษาความปลอดภัยและหมั่นซ้อมแผนเผชิญเหตุที่อาจเกิดขึ้นจนชำนาญ เพราะเราปิดโลกไม่ได้ การอยู่บ้านอาจไม่เกิดการเรียนรู้ ต้องไปดูให้เห็นถึงจะได้ประสบการณ์“ รมว.ศธ. กล่าว
ในการนี้ผู้บริหาร ข้าราชการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด – ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันแสดงความเสียใจและไว้อาลัยกับการจากไปของนักเรียนและครูผู้เสียชีวิต ด้วยการไว้ทุกข์เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันพุธที่ 2 ถึงวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2567
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
สมประสงค์ ชาหารเวียง / วีดิทัศน์
พีรณัฐ ยุชยทัต / ภาพ
The post “เพิ่มพูน“ สั่งการ งดทัศนศึกษาไม่จำเป็นทันที เร่งสถานศึกษาซ้อมแผนเผชิญเหตุจริงจัง appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.