รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ มอบแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) พร้อมติดตามนโยบาย “บุรีรัมย์โมเดล” และ “สุรินทร์เป็นหนึ่ง” บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนตั้งเป้าหมายให้เด็กกลับสู่ระบบการศึกษาให้มากที่สุด

29 มกราคม 2568 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) และติดตามนโยบาย “สุรินทร์เป็นหนึ่ง” ณ โรงเรียนวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ รวมถึงติดตามนโยบาย “บุรีรัมย์โมเดล” เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ณ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ ด้วย

รมว.ศธ. กล่าวว่า วันนี้เราจะจับมือกันพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพราะทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างนโยบาย “สุรินทร์เป็นหนึ่ง” ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นพ่อเมืองในการสร้างเครือข่ายการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาช่วยแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการเรียนการสอน กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”

เรื่อง Zero Dropout ถ้ามองในนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เมื่อเรามีความสุขร่วมกันในการทำการศึกษาให้ดีขึ้น ทั้งการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงในชีวิต ทำให้เด็กที่หลุดออกนอกระบบหรือไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษากลับมาอยู่ในระบบการศึกษาตามบวน “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตาม” ที่วางไว้ รวมถึงทำงานเชื่อมกับหน่วยงานอื่นให้ดำเนินการต่อในด้านดูแลกลุ่มเสี่ยง พร้อมหาวิธีการช่วยเหลือและแก้ไข

ในส่วนของคุณภาพการศึกษาเราต้องเติมเต็มในการสร้างสิ่งนี้ให้มีมิติ ครูทุกคนต้องร่วมสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย ต้องรู้ว่าเด็กอ่อนวิชาไหนและเติมให้ได้มาตรฐาน ส่วนเด็กคนไหนที่มีแววอัจฉริยะต้องส่งเสริมเรื่องการเป็นเลิศในด้านนั้น หากกระบวนการของครูยังไม่เข้มข้นต้องเพิ่มทักษะให้ครูในวิชานั้น เสริมครูพี่เลี้ยงแนะนำแลกเปลี่ยนกัน เป้าหมายที่จะต้องเดินร่วมกันคือลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการศึกษาเท่าเทียม

ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษาเป็นอย่างดี รวมถึง สพฐ.และ สกร.ที่นำเด็กเข้ามาสู่ระบบและพาการศึกษาไปสู่เด็ก โดยนำแนวทาง “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ไปปรับใช้ให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้ คิดอย่างมีเหตุผล และทำในสิ่งที่มีประโยชน์ และแลกเปลี่ยนมุมมองในการทำงานเสนอแนวทางมายังศึกษาธิการจังหวัดเพื่อนำมาประมวลในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป

“เราจะร่วมกับทุกภาคส่วน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ทำให้การศึกษาของเด็กและเยาวชนทั้งจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนให้เป็นมิติ หวังว่าทั้ง 2 จังหวัดจะเติบโตคู่กันได้เป็นอย่างดี และกระจายไปยังจังหวัดอื่นให้พัฒนายิ่งขึ้นต่อไป ทำให้นักเรียนไทยมีการศึกษาที่ดีขึ้นในอนาคต” รมว.ศธ. กล่าว

ในการนี้ รมว.ศธ. ยังได้ลงพื้นที่ติดตามนโยบาย “บุรีรัมย์โมเดล” เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ณ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เพื่อรับฟังและมอบแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนออกนอกระบบโดยใช้ “บุรีรัมย์โมเดล” Buriram Zero Dropout Model (BZDM) โดยเริ่มต้นนำร่องจากอำเภอกระสังและขยายผลสู่อำเภออื่นครอบคลุมทั้งจังหวัด เริ่มตั้งแต่กระบวนการค้นหาและตรวจสอบสถานะของเด็กเพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคลอย่างละเอียด แล้วบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมวางแผนการให้ความช่วยเหลือในการติดตามผู้เรียนเข้าสู่ระบบของสถานศึกษาในสังกัด

สำหรับการประชุมลงพื้นที่ประชุมติดตามการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ในครั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายปิยะ ปิจนำ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์, นายภัทรวรรธน์ นิลแก้วบวรวิชญ์ ศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์, นายกิตติภัทท์ ไกรเพชร ศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารการศึกษาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วม

พบพร ผดุงพล / ข่าว
ธรรมนารี ชดช้อย / กราฟิก
พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
อินทิรา บัวลอย / วิดีโอ

Share This Article

Related Post

MOU Thai – Singapore

MOU Thai-Singapore The post MOU Thai – Singapore appe...

MOU Thai – Turkiye

Joint Plan of Action Thai-Turkiye The post MOU Thai –...