16 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 18/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผช.รมต.ศธ. นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. และนายธนากร ดอนเหนือ อธิบดี สกร. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้

มติ ครม. เห็นชอบร่างแถลงการณ์เวียงจันทน์ว่าด้วยความเสมอภาค การเข้าถึงและสิ่งแวดล้อม

รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์เวียงจันทน์ว่าด้วยความเสมอภาค การเข้าถึงและสิ่งแวดล้อม : การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวรับกับสภาพภูมิอากาศของเด็กปฐมวัยในอาเซียน และอนุมัติให้ รมว.ศธ. หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้ความเห็นชอบและรับรองร่างแถลงการณ์ฯ ตามที่ ศธ. เสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่ง รมว.ศธ. ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวรับรองร่างแถลงการณ์เวียงจันทน์ว่าด้วยความเสมอภาคฯ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงการพัฒนาและการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างเท่าเทียมในภูมิภาคอาเซียนฯ ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ณ สปป. ลาว

โดยร่างแถลงการณ์นี้ จะเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมแก่เด็กทุกคนในอาเซียน เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อการวางแผนและการปฏิบัติด้านการดูแลและการศึกษาแก่เด็กปฐมวัย การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในด้านการดูแลและจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย การเพิ่มการจัดสรรงบประมาณด้านการดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัย

มีประเด็นสำคัญ คือ 1) วิสัยทัศน์ร่วมและความมุ่งมั่น 2) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ 3) การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 4) การดูแลและการจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัย 5) การดำเนินงานภายใต้ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2023 6) การสนับสนุนด้านนโยบายที่ส่งเสริมการปรับตัวเพื่อรองรับสภาพภูมิอากาศ 7) การบูรณาการความรู้และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในหลักสูตรการดูแลและการจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัย 8) บทบาทของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 9) การจัดทำแผนกลยุทธ์ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการดูแลและจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัย (แผนกลยุทธ์ฯ)

ชื่นชมนักเรียน ด.ช.ณัฐพล ศรีสุวรรณ โรงเรียนบ้านย่านซื่อ สพป.ตรัง เขต 2 ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ตกน้ำ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอชื่นชมในความกล้าหาญ เสียสละและความกล้าหาญ ขอยกให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนนักเรียนและเยาวชนคนอื่น ๆ ให้ได้ยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดี รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นแบบอย่างของความกล้าหาญและเสียสละ ขอขอบคุณน้องนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ที่ร่วมให้ช่วยเหลือ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่มีส่วนร่วมการทำดีในครั้งนี้

โดยเหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 จากเหตุการณ์มีผู้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ตกน้ำ บริเวณบ้านในลุ่ม ใต้สะพานย่านซื่อ ซึ่งมีผู้พบเห็นพร้อมแจ้งชาวบ้านบริเวณนั้นให้ความช่วยเหลือ นายอำพัน ศรีสุวรรณ (ตา) และเด็กชายณัฐพล ศรีสุวรรณ (หลาน) อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านย่านซื่อ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เข้าร่วมให้การช่วยเหลือ โดยการดำน้ำลงไปค้นหารถที่ประสบเหตุ ซึ่งจมอยู่ใต้สะพาน เบื้องต้นไม่สามารถเปิดประตูรถได้และทุบกระจกรถก็ไม่แตก ทั้ง 2 คน จึงกลับมาเอาเชือกที่บ้านของตนเอง แล้วดำน้ำลงไปอีกครั้งเพื่อผูกเชือกกับตัวรถ เพื่อลากรถขึ้นมาจากน้ำจนสำเร็จ และให้ความช่วยเหลือนำผู้ประสบเหตุ 2 รายออกจากรถได้

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จะพิจารณาจัดทำเกียรติบัตรและมอบเหรียญกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมอบให้เป็นขวัญกำลังใจในการทำความดีต่อไป

การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567

รมว.ศธ. กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการสำรวจงบประมาณปี 2567 และ 2568 รวมถึงงบประมาณปี 2565 – 66 ที่มีงบประมาณตกค้าง ขอให้บริหารจัดการการใช้จ่ายงบประมาณให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยไม่ควรมีงบประมาณเหลือจ่าย ที่สำคัญคือให้ทุกหน่วยงานวางแผนรองรับในช่วงการเปลี่ยนผ่านปีงบประมาณ เพื่อไม่ให้มีการตกเบิกงบประมาณและรายงานผ่านระบบสารสนเทศด้านการรายงานผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ

พร้อมรับทราบการปรับปรุงปฏิทินการดําเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ปรับตามมติ ครม. 7 พ.ค. 2567) พร้อมกำชับผู้บริหารทุกระดับ ทุกฝ่ายให้บริหารจัดการการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามข้อสั่งการ และติดตามการดำเนินงานและผลการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นประจำทุกเดือน และได้เน้นย้ำการใช้งบประมาณ ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาที่กำหนดคำนึงถึงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องและความคุ้มค่ามากที่สุด

องค์การค้าของ สกสค. ได้ดำเนินการจัดพิมพ์และส่งหนังสือไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่ได้สั่งการให้องค์การค้าของ สกสค. ให้ติดตามและเร่งรัดการผลิตและจัดส่งหนังสือเรียนให้ดำเนินการจัดพิมพ์และจัดส่งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้ฝากแนวทางในการผลิตในครั้งต่อไป ให้มีการวางแผนจัดทำและพัฒนาระบบการสั่งผลิต การจัดซื้อ-ส่งหนังสือที่มีมาตรฐาน มีความถูกต้องและรวดเร็ว โดยยึดผู้ใช้งานจริงเป็นหลัก ว่าระบบนั้นมีความสะดวกและช่วยลดภาระการทำงานได้มากน้อยเพียงใด

โดยองค์การค้าของ สกสค. ได้มีการรายงานความคืบหน้าการผลิตหนังสือเรียนในปีการศึกษา 2567 ว่า องค์การค้าจ้างพิมพ์หนังสือเรียน จำนวน 150 รายการ ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดพิมพ์และส่งหนังสือไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว ที่ผ่านมาได้มีการทำจดหมายเร่งรัดกับโรงพิมพ์ที่มีการจัดส่งล่าช้าไปอย่างต่อเนื่องพร้อมกำชับและติดตามการผลิตหนังสือเรียนให้ตรงตามแผนและสัญญาที่ได้ทำไว้กับองค์การค้าของ สกสค.

ซึ่งหากมีโรงพิมพ์ไม่สามารถพิมพ์หนังสือแบบเรียน ทันตามสัญญา องค์การค้าของ สกสค. อาจมีการพิจารณายกเลิกสัญญาและเร่งจัดหาผู้พิมพ์รายใหม่แทนโรงพิมพ์ที่ไม่มีความพร้อม แต่ยืนยันว่าในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 นี้ ทุกสถานศึกษาจะได้แบบเรียนครบแน่นอน

สำรวจเด็กตกหล่นด้อยโอกาสทางการศึกษา ทุกตำบล ทุกอำเภอ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า ในปัจจุบันยังพบว่ามีเด็กตกหล่นที่หลุดออกจากระบบจำนวนมาก จึงมีนโยบายที่จะค้นหาติดตามผู้เรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาและออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยมอบหมายให้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ซึ่งมีหน่วยงาน อาทิ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ ศูนย์การเรียนรู้ตำบล ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 7,435 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงมอบหมายให้เป็นตัวแทน ศธ. ในการสำรวจเด็กตกหล่นฯ รวมถึงเด็กนักเรียนที่เรียนไม่จบ ไม่ได้เรียนต่อ หรือประสบปัญหาในการเรียนต่อ เพื่อให้มีข้อมูลเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาใน “ทุกตำบล ทุกอำเภอ”

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ถือเป็นมิติของความท้าทายของทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน ที่จะร่วมมือกันในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาทุกตำบล ทุกอำเภอ โดยการสร้างความร่วมมือจากเครือข่ายทางการศึกษา โดยขอให้ยึดแนวทางการทำงานด้วยการปฏิบัติงานอย่าง “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด”

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA (สสวท.)

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานมีการสื่อสารการทำงาน แนวทางการดำเนินการ รวมถึงการกระตุ้นให้มีการเรียนรู้และขยายผลไปยังทุกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนและครบทุกมิติ การดำเนินงานต่าง ๆ ทางมิติการศึกษา จะไม่อยู่เฉพาะในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่จะบูรณาการการทำงาน ขยายแนวทางการดำเนินงานไปสู่ทุกหน่วยงาน เพื่อการพัฒนาไปพร้อมกัน

พร้อมรับทราบแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาสมรรถนะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง PISA ในการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมิน PISA สำหรับวิทยากรแกนนำของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดย สพฐ. ร่วมกับ สสวท. ในการพัฒนาแกนนำ PISA เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้ศึกษานิเทศก์และครูแกนนำมีแนวทางในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และระดับสถานศึกษาที่ชัดเจนพร้อมลงสู่การปฏิบัติ

การใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา เพื่อการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา โดยที่ สสวท. จัดทำระบบการรายงานผลการดำเนินงานของหลักสูตรอบรมโดยใช้ระบบออนไลน์ ที่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลจำนวนผู้ลงทะเบียนและผู้เข้ารับการอบรม โดยได้ดำเนินการตามข้อสังการของ รมว.ศธ. ที่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลจำนวนผู้ลงทะเบียนและผู้เข้ารับการอบรม ข้อมูลกลุ่มอาชีพ ข้อมูลหน่วยงานหรือสังกัดของผู้ลงทะเบียนและผู้เข้ารับการอบรม

โดย สสวท. ปรับจำนวนกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรอบรมการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา ให้เฉพาะเจาะจงและครอบคลุม จำนวนบุคลากรของแต่ละสังกัดมากขึ้นรวม 21,000 คน อาทิ หน่วยงานในสังกัด ศธ. อว. กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่น ๆ ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนจำนวน 13,197 คน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง รมว.ศธ. ได้ฝากให้หน่วยงานวาง Time line กำหนดปฏิทินการปฏิบัติงานให้ชัดเจน ภายใน 31 พฤษภาคม 2567 ทุกโรงเรียน ทุกสถานศึกษา ทุกคน ดำเนินการเข้าระบบออนไลน์ PISA ให้ครบ 100%

ขับเคลื่อนโครงการ โรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” 1,808 โรงเรียน

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามนโยบายการขับเคลื่อนโรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพต้นแบบอำเภอละอย่างน้อย 1 โรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายรวม 1,808 แห่ง เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา 901 แห่ง และระดับมัธยมศึกษา 907 แห่ง และให้โรงเรียนประเมินตนเอง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนนักเรียน ด้านผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านผู้เรียน โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยึดแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียน โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและมีคุณภาพ นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล สร้างโอกาสทางการศึกษา เพื่อเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไป

โดย สพฐ. ได้มีความพร้อมในการสนับสนุนให้โรงเรียนคุณภาพมีความพร้อมในทุกด้าน มีโครงสร้างพื้นฐาน ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ สื่อที่พร้อมใช้เพียงพอทันสมัย เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ในทุกมิติ ทั้งมิติบุคลากร ผู้บริหาร เป็นผู้นำวิชาการ พร้อมสร้างเครือข่ายการศึกษาในพื้นที่ ครูผู้สอนมีจำนวนเพียงพอ ตรงตามวิชาเอก มีครู ICT และภาษาต่างประเทศ สร้างให้ผู้เรียน “เรียนดีมีความสุข” มีความรู้ ทักษะ จนโรงเรียนสามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน

ในการนี้ รมว.ศธ. ได้เยี่ยมชมการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ผ่านระบบออนไลน์ อาทิ รร.วัดนายมูล รร.เบญจมราชาลัย รร.ราชดำริ รร.ดอยเต่าวิทยาคม ซึ่งได้เห็นภาพของโรงเรียนรวมถึงสภาพห้องเรียนจริง บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โรงเรียนต่าง ๆ ได้นำนโยบาย ศธ. ไปปฏิบัติ อาทิ การเตรียมความพร้อมอาคารสถานที่ก่อนเปิดเทอม โครงการ “สุขาดี มีความสุข” ห้องน้ำแห้งหอม รร.ประถมมีการเตรียมอาหารกลางวันที่มีคุณภาพโภชนาการครบถ้วน สามารถประเมินค่าใช้จ่ายวัตถุดิบประกอบอาหารล่วงหน้าได้ โดยมี ผอ.สพท. ผอ.สพม. ผอ.สพป. ผอ.รร. ครูและบุคลากรของโรงเรียนในพื้นที่นำเยี่ยมชม

ข้อสั่งการของ รมว.ศธ. ในที่ประชุม

การพัฒนาสมรรถนะการปฏิบัติงานของผู้บริหารและบุคลากร ให้ผู้บริหารทุกคน ทุกหน่วยงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะของตนเอง เติมทักษะและสมรรถนะในส่วนที่ขาด พร้อมส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรให้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในองค์กร รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนองค์กรในหลายมิติด้วย โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาสมรรถนะในหลากหลายมิติ สำหรับระบบการประเมิน Digital Literacy โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. มีการจัดระบบการประเมิน กำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักในการพัฒนาสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการดำเนินการประกันคุณภาพภายนอกผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก (Automated QA) คือ ผู้ประเมินภายนอกทุกระดับการศึกษา โดยปัจจุบันมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,006 คน ซึ่ง รมว.ศธ. ได้สั่งการให้มีการพัฒนาและขยายกลุ่มผู้เข้ารับบริการการประเมิน Digital Literacy ให้สามารถมาใช้ร่วมกันได้ ขยายความมีคุณภาพร่วมกัน เป็นมิติของการขับเคลื่อนในการดำเนินงานด้านความร่วมมือ
การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงาน ขอความร่วมมือส่วนราชการทุกหน่วยงาน ปฏิบัติงานด้วยความถูกต้องและรวดเร็ว ขอให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนางาน จัดทำระบบข้อมูลการติดตาม และการรายงานผล และลดเอกสารที่มีปริมาณมากให้เป็นรูปแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของข้าราชการ และที่สำคัญคือลดเพื่อลดภาระ ลดการใช้งบประมาณ และลดการใช้ทรัพยากรของหน่วยงาน เช่น การตรวจราชการเปิดภาคเรียนในที่ประชุมครั้งนี้ ก็ได้ติดตามพูดคุย และเห็นสภาพจริงจากโรงเรียนทุกภาคที่ได้นำเสนอและรายงานผ่านทางระบบออนไลน์
สรุปผลการสัมมนาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่ รมว.ศธ. ได้สั่งการให้นำสรุปผลการสัมมนาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ณ จังหวัดบุรีรัมย์ นำมาถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดสัมมนา หรือฝึกอบรมในหน่วยงาน ซึ่งหน่วยงานได้ปฏิบัติในการขยายองค์ความรู้ไปสู่บุคลากรในหน่วยงาน และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการวัดผลและประเมินความรู้ของผู้เข้ารับการอบรม เพื่อให้ทราบว่าผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้หรือไม่ และมีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด และติดตามผลการวัดประเมินผลผ่านการสำรวจเชิงคุณภาพ หาประเด็นที่น่าสนใจและประเด็นที่ยังเข้าใจไม่ครบถ้วน เพื่อขยายผลและทำการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม “ศึกษา ขยายผล ถ่ายทอด ต่อยอด ให้ครบทุกมิติ”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
นัทสร ทองกำเหนิด / TikTok
พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
ณัฐพล สุกไทย / วีดิทัศน์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / บรรณาธิการข่าว

The post “เพิ่มพูน” ปลื้มเปิดเทอมวันแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมยกย่องเด็กเก่ง จ.ตรัง ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ตกน้ำ สอดคล้องนโยบาย “ทำดี ทำได้ ทำทันที” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post