การประชุมรัฐมนต
วันนี้ (7 พฤษภาคม 2567) เ...
30 ตุลาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 37/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting
ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. และนายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว
รมว.ศธ. กล่าวว่า ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ จากการติดตามข้อสั่งการในการดำเนินงานนั้น มีความก้าวหน้าในทุกนโยบายและภารกิจ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่มี ศธภ. และ ศธจ. เป็นกำลังหลักในการปฏิบัติงาน ซึ่งขอให้ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติหน้าที่กันอย่างดีเช่นนี้ต่อไป
โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็ต้องมีการเตรียมการให้พร้อม ซึ่งในปี 2568 จะมีการจัดการทดสอบ O-NET (Ordinary National Educational Test) ปีการศึกษา 2567 และการสอบ RT (Reading Test) ในเดือนกุมภาพันธ์ รวมไปถึงการสอบ PISA 2025 หรือโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีมุมมองในหลากหลายมิติ ทั้งมิติของการพัฒนาตามช่วงชั้น เพราะในการสอบแต่ละประเภทมีทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา มิติของการประเมิน ก็ต้องวางแผนการนำผลมาพัฒนาต่อเนื่องในปีการศึกษาต่อไป ซึ่งการวางแผนจะช่วยทำให้นักเรียนมีความพร้อมในการเผชิญกับการทดสอบในอนาคต ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศในภาพรวม
ในส่วนของมติคณะรัฐมนตรี (29 ตุลาคม 2567) ได้รับทราบการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในกรม ของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ คือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รวมทั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ รวม 3 ฉบับ ซึ่งมีผลใช้บังคับหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการในครั้งนี้ จะทำให้ทุกหน่วยงานเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ทำให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และสามารถพัฒนานโยบายและแนวทางการศึกษาได้อย่างตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อการบริหารด้านการศึกษาของประเทศ
สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA
รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน PISA เป็นอย่างดี เพื่อทำให้ผลการขับเคลื่อนของ ศธ. ให้เป็นที่ยอมรับ ฝากให้มีวิธีการกระตุ้นการดำเนินงานทั้งในส่วนของผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษา มีการวางกระบวนการทำงาน โดยภายในปีนี้ต้องมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ถือเป็นก้าวเดินที่มั่นคง ในมิติของการขับเคลื่อนการดำเนินงาน รมว.ศธ. เชื่อว่าจะเกิดผลที่ดีและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนฯ ด้วยการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ซึ่งนำผลจากการนำชุดพัฒนาไปใช้ในภาคเรียนที่ 1/2567 นำมาสู่แผนการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้และแผนติดตามไปใช้ในภาคเรียนที่ 2/2567 ทั้งในส่วนของ สพป. และ สพม. 245 เขตพื้นที่ ครบทั้ง 9,214 โรงเรียน มีการกำกับติดตามอย่างทั่วถึงครบทุกวิชา ทั้งในด้านการอ่าน ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่สอดแทรกเข้ามาในการนำชุดพัฒนาไปใช้ อาทิ กิจกรรมห้องสมุด กิจกรรมการเสริมหลักสูตรอื่น ๆ กิจกรรมชั่วโมงซ่อมเสริมในวิชาที่นักเรียนสนใจ
การจัดทำแนวทางทางการขยายผลการพัฒนาข้อสอบตามแนวทาง PISA ในระดับเขตพื้นที่ เพื่อการพัฒนาครูแกนนำ ในด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ PISA Gamification ส่งเสริมครูที่สนใจในการสร้างแรงจูงใจในการอ่านและทำข้อสอบ PISA และพัฒนานักสร้างข้อสอบ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ และครูภาษาไทย จำนวน 9,214 โรงเรียน มีวิธีการศึกษาแบบ On demand ผ่านห้องเรียน Classroom 77 ห้อง และมีการอบรมผ่านระบบ Online และ On Demand
นอกจากนี้ยังมีการสร้างขวัญและกำลังใจในการดำเนินการขับเคลื่อนในระดับเขตพื้น โดยมอบรางวัลให้แก่นักเรียนที่เข้าใช้งานระบบ PISA Style Online Testing มากที่สุด 10 อันดับ ได้รับรางวัลและเกียรติบัตรจาก สพฐ. ในส่วนของเขตพื้นที่ที่ดำเนินกิจกรรมในการติดตามและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง 10 ลำดับสูงสุด ได้รับรางวัลจาก สพฐ. และงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมในการขับเคลื่อนระดับเขตพื้นที่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการเรียนรู้การปฏิบัติงานของบุคลากรทุกคน
กิจกรรมอาชีวศึกษาร่วมด้วยช่วยประชาชน
ศธ. จัดกิจกรรมอาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน เพื่อนำกำลังนักศึกษาและบุคลากรจากอาชีวศึกษา ร่วมช่วยเหลือ ฟื้นฟู และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งประกอบด้วย ทีมซ่อมแซม Fix it จากวิทยาลัยเทคนิค 6 วิทยาลัย ทีมฟื้นฟู จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน 17 วิทยาลัย ทีมครัวอาชีวะ จำนวน 6 วิทยาลัย ทีมลงทะเบียน จำนวน 2 วิทยาลัย รวมผู้ปฏิบัติงานกว่า 1,000 คน นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายในการช่วยเหลือและบริจาค น้ำดื่มเครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุสำนักงาน วัสดุซ่อมแซม และเงินบริจาค ในการเข้าช่วยเหลือประชาชนในการซ่อมรถจักรยานยนต์ ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ โดยมียอดลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนกว่า 4.5 ล้านบาท
การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
รมว.ศธ. กล่าวว่า การทำให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาถือเป็นหน้าที่สำคัญของ ศธ. ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่อยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ จึงต้องร่วมมือกันในทุกหน่วยงาน เพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา สถานศึกษา โดยการวางแผนดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่จะมุ่งเน้นการฟื้นฟูและส่งเสริมการศึกษา เช่น การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยบูรณาการร่วมกับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยมี ศธจ. สกร. สช. ร่วมกันดำเนินงานในระดับพื้นที่ เพื่อร่วมกันค้นหา ติดตาม ประสานการช่วยเหลือ และสนับสนุนให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
ทั้งนี้ สพฐ. ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งในปี 2567 มีการดำเนินการใน 25 จังหวัดนำร่อง ในการเร่งการค้นหา ส่งต่อและพัฒนาในการดำเนินการจัดการศึกษาให้กับเด็กที่หลุดจากระบบ เน้นมาตรการ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น” โดยนำโครงการต่าง ๆ มาใช้ อาทิ หนึ่งโรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อป้องกันเด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา โครงการศูนย์การเรียนต้นแบบเพื่อการจัดการศึกษาในกระบวนการยุติธรรมและเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา และโครงการโรงเรียนมือถือ (Mobile School) เป็นการนำ Application การเรียนรู้ได้ทุกสถานที่ทุกเวลาตามนโยบาย Anywhere Anytime
ซึ่งข้อมูลเด็กนอกระบบและเด็กตกหล่นในปี 2565 ถึงปี 2567 อาทิ เด็กในกระบวนการยุติธรรม (เด็กในกรมพินิจกลับมาเรียนต่อในศูนย์การเรียนรู้ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542) เด็กนอกระบบในตำบล เด็กกำพร้า เด็กไร้สัญชาติ เด็กยากจนพิเศษ และเด็กชาติพันธุ์ สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในศูนย์การเรียนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังหนุนเสริมการศึกษาที่ยืดหยุ่นในพื้นที่นำร่อง 25 จังหวัด 27 ตำบลต้นแบบ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 โรงเรียน 3 รูปแบบ รองรับเด็กตกหล่น 4 ภูมิภาค ซึ่งการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 section คือ Thailand Zero Dropout, Zero Dropout ระดับตำบล และ School Zero Dropout
สำหรับแผนการดำเนินการในปี 2568 จะเร่งดำเนินการส่งเสริมและขยายผล 1 โรงเรียน 3 รูปแบบแก้ไขปัญหาเด็กเสี่ยงออกกลางคันเด็กนอกระบบและเด็กตกหล่น โดยมีโครงการ 1 อำเภอ 1 สถานศึกษาต้นแบบ การศึกษาร้อยรอยต่อสนับสนุนศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 มาจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยเฉพาะเด็กในกระบวนการยุติธรรมหรือเด็กในกระบวนการศาล การนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาพัฒนาให้เกิดการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ตามโครงการโรงเรียนมือถือการนำคลาสเรียนออนไลน์ แอปพลิเคชันการเรียนต่าง ๆ มาใช้ในระบบเพื่ออำนวยการเรียนรู้ตามความสนใจของผู้เรียนเป็นรายบุคคล และมีการขยายผลจาก 25 จังหวัดนำร่องสู่ 77 จังหวัด
“การที่เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาและการทำให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลก็มีนโยบายในการเร่งส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะดำเนินการ “เฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา” ดังนั้นจึงต้องร่วมมือกัน ในการเร่งหาวิธีการดำเนินงานที่เหมาะสมในการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสและสร้างอนาคตที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นอนาคตของประเทศไทยต่อไป”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
The post “เพิ่มพูน” นำทัพ ศธ. เดินหน้ายกระดับคุณภาพการศึกษา แก้ปัญหาเยาวชนหลุดออกจากระบบฯ มุ่งสู่เป้าหมาย Zero Dropout appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.