จังหวัดนครปฐม – 10 มีนาคม 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการพัฒนานักบริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ (นบส.ศธ.) รุ่นที่ 15 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและวุฒิบัตรแก่ผู้สำเร็จการพัฒนา นบส.ศธ. รุ่นที่ 14 โดยมีนายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาววาสุกาญจน์ บู่ทอง ผอ.สคบศ. ให้การต้อนรับและเข้าร่วม ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า การพัฒนาตนเอง เป็นมิติสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะของนักบริหาร โดยเฉพาะการพัฒนา “คุณธรรม” ภายในตัวบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนมีความสามารถในการตัดสินใจและดำเนินการตามความรู้ที่ได้รับจากการอบรมและพัฒนา การพัฒนาตนเองนั้นต้องเริ่มต้นจากการ “ทำ” ด้วยตัวเอง และร่วมมือกัน “ทำ” ในสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงการคิดวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำงานเพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

ความสำคัญของการนำเสนอความคิดและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันภายในองค์กร และนำไปสู่การดำเนินงานที่ดี การสื่อสารที่ดีไม่ได้หมายถึงเพียงการพูดคุยภายในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการถ่ายทอดข้อมูลไปยังบุคคลที่เหมาะสม เพื่อสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การสื่อสารที่มีคุณภาพจะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน ส่งผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ โดยการมี “ความฉลาดรู้” รู้ในสิ่งที่ควรรู้ รู้สิ่งใดควรปรับปรุงและพัฒนา เพื่อนำมาสู่ “ความฉลาดคิด” คิดอย่างไรที่จะให้เกิดการดำเนินการที่ดี และ “ความฉลาดทำ” ทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อองค์กร เป็นสิ่งที่จำเป็นในการตัดสินใจและดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในการบริหารจัดการบุคลากรจำนวนมากในกระทรวงศึกษาธิการ

นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างแรงจูงใจและความมุ่งมั่นในการทำงาน เชื่อว่าหากทุกคนมีความสุขในการทำงานและได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาตนเอง ความสุขดังกล่าวจะส่งผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และสร้างความรักในการทำงาน การอบรมในระยะเวลาสั้น ๆ อาจไม่สามารถครอบคลุมทุกประเด็นได้ ดังนั้นการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน อาทิ การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการพัฒนางานและการศึกษาที่มีบทบาทมากขึ้น และเราต้องพร้อมที่จะปรับตัวและพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

ในส่วนของการทำงานในมิติ “เรียนดี มีความสุข” การทำงานควรทำอย่างมีความสุข เปิดรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ และใช้ความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่ตัวเองและองค์กร โดยต้องคำนึงถึงการทำงานด้วยสติและปัญญาในการตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายและพัฒนาการศึกษาของประเทศสามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ขอแสดงความยินดีแก่ผู้สำเร็จการพัฒนาโครงการจากรุ่นที่ 14 และต้อนรับนักบริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ รุ่นที่ 15 และหวังว่านักบริหารรุ่นใหม่จะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการคิด วิเคราะห์ พัฒนาองค์กรให้มีประโยชน์สูงสุด และร่วมมือกันปรับปรุง พัฒนาการศึกษาของประเทศให้ประสบความสำเร็จในอนาคต”

รองปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) มอบหมายให้สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ดำเนินการพัฒนานักบริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ผู้เข้ารับการพัฒนามีความพร้อมในการเข้าสู่ตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น สามารถปรับแนวคิด มุมมอง วิธีการทำงาน การสื่อสาร บุคลิกภาพ ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับการบริหารองค์กรภาครัฐในบริบทที่มีความท้าทาย มีความพร้อมในด้านการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ การบริหารทรัพยากรและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งมีความพร้อมในด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงและมีผลสัมฤทธิ์ ตลอดจนมีความพร้อมด้านการบริหารงานการศึกษาเพื่อการพัฒนาเยาวชนและประชาชนให้มีสมรรถนะและคุณภาพในการดำรงชีวิต

การดำเนินงานโครงการนี้ แบ่งโครงสร้างหลักสูตรออกเป็น ช่วงการจัดกิจกรรมการเตรียมความพร้อม (Preparation Phase) ช่วงการจัดกิจกรรมการพัฒนา (Development Phase) การจัดทำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ (Action Learning Policy Project) และการสรุปผลการเรียนรู้ (Reflection Learning) พร้อมกันนี้ยังได้รับความร่วมมือ สนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้บริหารระดับสูง ศธ. หน่วยงานภายในและนอกสังกัด ที่ส่งบุคลากรเข้ารับการพัฒนาบุคลากร สำหรับที่ปรึกษาประจำโครงการ และคณะวิทยากรที่ปรึกษา เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ ในการบริหารจัดการหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของหลายหน่วยงาน รวมถึงสำนักงาน ก.พ. ที่ให้คำปรึกษาและสนับสนุนฐานข้อมูลนักบริหารระดับสูง อันส่งผลให้การดำเนินงานหลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับจากหลายหน่วยงาน โดยมีผู้สำเร็จการพัฒนาตามหลักสูตร นบส.ศธ. ไปแล้ว 14 รุ่น รวม 1,060 คน

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว – กราฟิก
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ

The post “เพิ่มพูน” กำชับ นบส.ศธ.รุ่น 15 มุ่งเสริมสร้างสมรรถนะ คุณธรรม ขยายเครือข่าย พัฒนาการสื่อสาร ร่วมยกระดับการศึกษาไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post