การพัฒนานวัตกรร
เลขที่สัญญา 6/2566 ...
จังหวัดภูเก็ต – 15 มีนาคม 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” และมอบนโนบายทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาในระดับภาคและจังหวัด พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายธนู ขวัญเดช นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัด ศธ. ผู้ตรวจราชการ ศึกษาธิการภาค/จังหวัด รองศึกษาธิการภาค/จังหวัด ตลอดจนผู้อำนวยการสำนักในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมกว่า 200 คน โดยมีนายสมาวิษฎ์ สุวรรณไพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน
รมว.ศธ. กล่าวว่า การที่เรามาร่วมกันทำงานในวันนี้ เป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้มาร่วมกิจกรรมสัมมนาและสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะที่มีความสุข เมื่อมาถึงสถานที่ใดก็ควรเรียนรู้และเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่นของที่นั้น เพื่อให้การทำกิจกรรมเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุข
ผู้บริหาร สป. ที่มาร่วมงานในวันนี้ เป็นบุคลากรที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่เป็น “โซ่ข้อกลาง” ที่จะเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ ทางการศึกษาในพื้นที่เข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน่วยงานการศึกษาหลายแห่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้การมีโซ่ข้อกลางเป็นสิ่งสำคัญในการยึดเหนี่ยวและเชื่อมโยงการทำงานให้เป็นหนึ่งเดียว
การดำเนินงานจะมี 2 มิติ มิติที่เป็นทางการ มิติทางการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.) และมิติแบบไม่เป็นทางการ ที่เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กันอย่างเป็นกันเอง โดยซึ่งการทำงานร่วมกันแบบไม่เป็นทางการนั้นก็มีความสำคัญ เพราะมันสร้างความคุ้นเคยและความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว ซึ่งการทำงานที่ดีต้องอาศัยการสื่อสารที่ต่อเนื่องและการสร้างกระบวนการในการพบปะ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสานงานที่มีประสิทธิภาพ
นโยบายและแนวทางการดำเนินงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”
รมว.ศธ. กล่าวว่า นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ก็คือการทำอย่างไรให้ทุกคนมีความสุข เป็นแนวทางที่มุ่งสร้างความสุขให้แก่ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ตามนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง “การทำให้นักเรียนเรียนดีและมีความสุขนั้น ไม่ใช่แค่การให้ความรู้เท่านั้น แต่ต้องทำให้นักเรียนมีความ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ” ฉลาดรู้ คือการรู้สิ่งที่ควรรู้และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อให้ฉลาดคิด การคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และนำไปพัฒนาความฉลาดทำ คือการลงมือทำในสิ่งที่ดีและถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่แท้จริงการคิดอย่างมีเหตุผลและลงมือทำทันทีในสิ่งที่ถูกต้อง จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หัวใจสำคัญก็คือการได้มาร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาในระดับภาคและจังหวัด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในทุกด้าน ขอให้ศึกษาธิการจังหวัดและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ ช่วยกันพัฒนาการศึกษาต่อไป
นอกจากนี้ต้องมีการพัฒนาตนเอง เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนา “คุณธรรม” ภายในตัวบุคคล ต้องเริ่มต้นจากการ “ทำ” ด้วยตัวเอง และร่วมมือกัน “ทำ” ในสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงการคิดวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำงานเพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ร่วมมือกันทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในองค์กรหรือในชีวิตประจำวัน การทำงานร่วมกันต้องมีความร่วมมือและความสุจริตในการดำเนินงานเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
โดยต้องยึดหลักความโปร่งใส และมีการตรวจสอบจากหลายฝ่ายเพื่อลดปัญหาการทุจริตและคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงหน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกฝ่ายในการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ด้วยความสุจริตและเป็นเกราะป้องกันตนเอง พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเริ่มจากตัวเราเองต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรพึงได้ การทำงานอย่างโปร่งใสและมีการตรวจสอบที่ดีจะช่วยสร้างความไว้วางใจให้กับสังคม และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนดำเนินการตามหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและถูกต้อง
สิ่งที่เราได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายส่งผลดีต่อการสำรวจความพึงพอใจในการดำเนินงานให้ประชาชนไทย เป็นอันดับ 2 ขอบทุกกระทรวง ซึ่งสะท้อนถึงการทำงานที่ทุ่มเทและร่วมมือกันของทุกหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ ผลลัพธ์ที่ได้ถือเป็นมิติสำคัญในการประเมินผลการทำงานและยังเป็นภาพสะท้อนของความพยายามในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่าย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราต้องไม่หยุดพัฒนา แต่ต้องร่วมมือกันเร่งพัฒนาต่อไป เพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่ยั่งยืนต่อไป
การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. กล่าวว่า นโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกครูอยู่เวร พร้อมจ้างนักการภารโรงทั่วประเทศ เพื่อให้ครูและบุคลากรมีเวลาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งยกระดับการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของนักเรียน โดยการจัดทำหลักสูตรที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่มีความสุข
รวมถึงการดูแลสุขอนามัยของนักเรียนภายใต้โครงการ “สุขาดี มีความสุข” และการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา (Zero Dropout) ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย การจัดตั้งโรงเรียนคุณภาพในทุกอำเภอ อย่างน้อย 1 โรงเรียน และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะดิจิทัล และการเรียนภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของนักเรียนในระดับสากล การใช้ “ระบบย้ายจับคู่ครูคืนถิ่น” (TMS) ที่ช่วยให้ครูสามารถย้ายไปสอนในพื้นที่บ้านเกิดได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Silver Award ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับประเทศ
นอกจากนี้ผลการทดสอบทางการศึกษา การสอบ PISA และ O-NET ที่สะท้อนถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย โดยผลการทดสอบ O-NET ในปีนี้ได้คะแนนที่ดีขึ้นในกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการปรับเปลี่ยนและพัฒนาการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการในช่วงเวลาที่ผ่านมา เชื่อว่าในอนาคตคุณภาพการศึกษาจะพัฒนาได้ดีขึ้น และสำหรับบางเรื่องที่ยังไม่ดี เราจะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยใช้ผลการสอบ O-NET เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งในระดับบุคคลและในระดับสถานศึกษา ขอให้ศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดและทุกภาคส่วนร่วมกันช่วยคิดและช่วยกันดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด เพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพ
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา
รมว.ศธ. กล่าวว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา ในการจัดทำยุทธศาสตร์ระดับภาค แผนการพัฒนาศึกษาจังหวัด ต้องมีความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดย ศธจ. ทำหน้าที่บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ต้องทำงานเชิงรุก เป็นดั่ง “ปลัดน้อยในพื้นที่” ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในพื้นที่
การสร้างเครือข่ายทางการศึกษาคือส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จ มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาของจังหวัด โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ การพัฒนาทักษะของครูและบุคลากรทางการศึกษา พวกเราต้อง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” โดยในส่วนของจังหวัดนั้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัด รวมถึงการสนับสนุนกลไกของคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.) ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดนั้น ๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่ต้องอาศัยกลไกของ กศจ. ในการเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อให้เกิดการร่วมมือและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
“ขอเน้นย้ำอีกครั้ง นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคือ “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งเป็นความท้าทายที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันเป็น “โซ่ข้อกลาง” ที่มีศักยภาพ ในการนำพาให้ “ทุกจังหวัดเป็นหนึ่ง” เมื่อทุกจังหวัดเป็นหนึ่งแล้ว จะทำให้การขับเคลื่อนการศึกษามีพลัง เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ ผนึกกำลังเชื่อมโยงหน่วยงานทางการศึกษาทุกภาคส่วนในพื้นที่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทุกมิติ ทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย (AI) มาใช้ในการบริหารจัดการ การสนับสนุนนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง การขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล การสอบ PISA และ O-NET ซึ่งการพัฒนาการศึกษานั้นไม่ได้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกคน ทุกหน่วยงานร่วมกัน “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” เพื่อพัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัยให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ด้วยการ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”
ปลัด ศธ. กล่าวถึงโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสู่การปฏิบัติระดับภาค โดยเน้นย้ำถึงการนำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ผ่านนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ นโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง สู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา ในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาภาคให้สอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ รวมถึงนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” และเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาภาคสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ยังได้มอบแนวทางดำเนินงาน “การกำหนดทิศทาง การจัดการศึกษาแบบบูรณาการ ตามยุทธศาสตร์ ทิศทาง และบทบาทการพัฒนาให้เชื่อมโยงกับนโยบายและยุทธศาสตร์ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยมีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งนี้รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมอบแนวทางดำเนินงาน “การกำหนดทิศทางและเชื่อมโยงกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน” ในด้านต่าง ๆ โดยนายธนู ขวัญเดช มอบแนวทางการดำเนินงานด้าน “การพัฒนาบุคลากร การบริหารงานทั่วไป และการต่อต้านการทุจริต” นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี มอบแนวทางการดำเนินงานด้าน “งบประมาณ แผนงาน และการต่างประเทศ” และนายวรัท พฤกษาทวีกุล มอบแนวทางการดำเนินงานด้าน “เทคโนโลยีสารสนเทศ และกิจการลูกเสือยุวกาชาด”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์
พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
The post “เพิ่มพูน” กำชับบทบาท “โซ่ข้อกลาง” ผู้บริหาร สป. ในพื้นที่ เชื่อมโยงหน่วยงานการศึกษา ขับเคลื่อนนโยบาย “จังหวัดเป็นหนึ่ง” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.