29 มีนาคม 2567/ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่สภานายกสภาลูกเสือไทย เป็นประธานการประชุมสภาลูกเสือไทย ประจำปี 2567 ภายใต้คำขวัญ  “ทำดี ทำได้ ทำทันที” โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือไทย และผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่าย จำนวน  250 คน ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ได้ดำเนินกิจการลูกเสือตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แนวทาง “ทำดี ทำได้ ทำทันที” เพื่อปลูกฝัง ฝึกฝนอบรม พัฒนาเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของลูกเสือ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไปในอนาคต

รวมถึงบริหารกิจการลูกเสือให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ ซึ่งประสบความ สำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายทุกประการ โดยได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาทุกสังกัด องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคีเครือข่ายให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ ยังได้น้อมนำโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน มุ่งประสานทำความดีด้วยหัวใจ มาเสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง สร้างจิตบริการและจิตสาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

สำหรับปีนี้ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำ (ร่าง) นโยบายและข้อเสนอแนะการพัฒนากิจการลูกเสือไทยและการจัดอภิปรายเยาวชนลูกเสือ Youth Forum ระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม 2567 มีผู้แทนจากหน่วยงานทุกภาคส่วนตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และผู้แทนเยาวชนลูกเสือเข้าร่วมประชุม โดยจะนำเสนอผลสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวในวันนี้ด้วย

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงพระราชทาน “หลักสูตรลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน” มุ่งประสานทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อส่งเสริมให้ลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ ได้เสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง  นับเป็นโครงการที่ทรงคุณค่า สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับ “ธรรมนูญของลูกเสือโลก” ที่ระบุว่าหลักการขับเคลื่อนลูกเสือ คือ ขบวนการการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นไปโดยสมัครใจ ไม่จำกัดเพศ ศาสนา และเชื้อชาติ มุ่งพัฒนาเยาวชน ให้บรรลุศักยภาพด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกทางสังคม และจิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยม ในฐานะพลเมืองที่รับผิดชอบ และในฐานะสมาชิกของชุมชนในท้องถิ่นระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

แนวคิดสำคัญในการพัฒนากิจการลูกเสือไทย คือ “การบูรณาการความรู้ทางวิชาการ กับอุดมการณ์การลูกเสือ หลักการการลูกเสือ และเจตนารมณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ ให้เกิดผลเชิงประจักษ์ในสังคม” พัฒนาหลักวิชาการที่สอดคล้องกับยุคสมัย ประยุกต์ใช้ได้จริง สามารถพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม ทักษะวิชาชีพ สำนึกการประกอบวิชาชีพ การดำรงชีพด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งที่ยั่งยืน และสร้างจิตวิญญาณแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

 

ดังนั้น จึงขอนำนโยบายของสภาลูกเสือไทย ให้ทุกท่านได้ยึดถือปฏิบัติ ดังนี้

1. ขับเคลื่อนโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน เน้นให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพสังคมไทยร่วมกัน โดยใช้กระบวนการลูกเสือ

2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน และสนับสนุนการจัดตั้งสภาเยาวชนลูกเสือแห่งชาติ
สภาเยาวชนลูกเสือจังหวัดทุกจังหวัดในอนาคต เพื่อให้เยาวชนลูกเสือมีพื้นที่แสดงความคิดเห็น ความต้องการและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สอดคล้องกับนโยบายการมีส่วนร่วมของเยาวชนในระดับการตัดสินใจของลูกเสือโลก ภายใต้แนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่สนับสนุน”

3. พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือทุกระดับ ทุกประเภท ให้ได้มาตรฐานตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ และสอดคล้องกับนโยบายหลักสูตรกิจกรรมเยาวชนลูกเสือโลก รวมทั้งกำหนดแนวทาง วิธีการจัดกิจกรรมลูกเสือให้เหมาะสมกับทุกระดับ และทุกประเภท

4. ผู้ใหญ่ในการลูกเสือต้องเป็นกำลังสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ และเครือข่ายให้ได้มาตรฐานและเกิดความเข้มแข็ง ปฏิบัติงานได้ทันต่อเหตุการณ์ ด้วยการทบทวนองค์ความรู้ สร้างประสบการณ์เพิ่มเติมอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง สอดคล้องกับ “นโยบายผู้ใหญ่ในการลูกเสือ” ของลูกเสือโลก

5. ดูแลความปลอดภัยจากการคุกคาม รวมถึงความปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรมลูกเสือ ทั้งการคุกคามทั้งจากผู้ใหญ่ และจากเยาวชนด้วยกัน ตาม “นโยบายความปลอดภัยจากการคุกคาม” ของลูกเสือโลก

6. พัฒนาและยกระดับค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือให้ได้มาตรฐานสากล ด้วยการสำรวจตรวจสอบค่ายลูกเสือทั่วประเทศ เพื่อทำการปรับปรุง และพัฒนาค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จังหวัดละ 1 แห่ง

7. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ของลูกเสือ ด้วยการจัดให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี มีระเบียบรองรับการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ รวมไปถึงการก่อตั้ง “ร้านลูกเสือ” (Scout Shop) เป็นกิจการที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าลูกเสือ และของที่ระลึก ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อหารายได้มาสนับสนุนการจัดกิจกรรมของลูกเสือ ดำเนินการโดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ด้วยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551

8. พัฒนาระบบ ระเบียบ วิธีการบริหารจัดการกิจการลูกเสือที่ดี มีคุณภาพ แบบมีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาลและให้เป็นไปตามธรรมนูญและนโยบายต่าง ๆ ขององค์การลูกเสือโลก

“ขอให้ท่านได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายด้วยความรู้ ความสามารถ จิตสาธารณะ และทำให้ กิจการลูกเสือไทย มีความทันสมัยอยู่เสมอ ตามคำกล่าวที่ว่า การลูกเสือเป็นกิจกรรมของเด็ก แต่เป็นภารกิจของผู้ใหญ่” นายอนุทิน กล่าวทิ้งท้าย

#กระทรวงศึกษาธิการ#เรียนดีมีความสุข#ลูกเสือ#ทำดีทำได้ทำทันที#สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ


















กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

The post ‘อนุทิน’ เปิดประชุมสภาลูกเสือไทย 2567 ฝากขับเคลื่อนกิจการลูกเสือไทยด้วยความรู้ความสามารถ จิตสาธารณะ และทันสมัย ย้ำการลูกเสือเป็นกิจกรรมของเด็ก แต่เป็นภารกิจของผู้ใหญ่ appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post