5 มีนาคม 2567 / นางเกศทิพย์ ศุภวานิช โฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โฆษก สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ กรณีครูผู้สอนรายหนึ่งออกมาสะท้อนความรู้สึกส่วนตัวในมุมของครูผู้สอน ว่ามีเด็กนักเรียนที่ไม่ไฝ่รู้ ไฝ่เรียน ไม่รับผิดชอบ ไม่ตั้งใจทำงานส่งครู โดยอ้างว่าอย่างไรก็ผ่านอยู่แล้ว ซึ่งครูรายนี้ได้ออกมาสนับสนุนให้โรงเรียนประกาศนโยบายเรียนซ้ำชั้น นั้น

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าว ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้รับทราบและมอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พบว่า ครูรายดังกล่าวได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวจริง ซึ่งทาง สพฐ. มองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่สามารถกระทำได้ แต่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งจากกรณีตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น พฤติกรรมการตอบใบงานของเด็ก อาจวิเคราะห์ได้หลายมุมมอง เช่น ความรับผิดชอบของนักเรียน หรือไม่ชอบวิชานี้ วิชาอื่นเป็นมั้ย หรือขาดวินัย หรือนักเรียนกำลังมีปัญหา ทั้งปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัวที่ต้องโฟกัสเรื่องอื่น แต่อยากส่งงานให้เสร็จแบบรีบร้อน หรือติดเกม หรือปัญหาที่โรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนโดยตรง ทำให้ขาดแรงจูงใจ/ ขาดสมาธิในการเรียนรู้

ดังนั้น เพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนควรให้คำแนะนำกับครูผู้สอน ทำ PLC ร่วมหาทางแก้พฤติกรรมดังกล่าว โดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย หรือคุยกับครูท่านอื่นว่ามีปัญหาเดียวกันหรือไม่ ไม่ควรปล่อยให้ครูแก้พฤติกรรมนักเรียนเพียงคนเดียว และควรวางแผนออกแบบการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการตัดสินผลการเรียนตามบริบทแต่ละพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียว อาจใช้การสอบปากเปล่า ผ่านโปรแกรมซูม ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางอื่นได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญซึ่งมีหลากหลายวิธี

ส่วนข้อที่ว่านักเรียนไม่รับผิดชอบงาน ไม่ต้องตั้งใจทำงานส่งครู อย่างไรก็ผ่านอยู่แล้วนั้น ข้อเท็จจริงคือ การที่นักเรียนจะได้รับการตัดสินผลการเรียน ต้องมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) เวลาเรียน ซึ่งกำหนดให้นักเรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียน เป็นการมุ่งหวังให้ผู้สอนมีเวลาในการพัฒนานักเรียน และเติมเต็มศักยภาพของนักเรียน และเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ 2) คะแนนการประเมินระหว่างเรียนและคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น เป็นการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ เจตคติ ทักษะการคิด ที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของนักเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป ซึ่งการกำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างเรียนกับคะแนนปลายปี/ปลายภาค ให้ความสำคัญของคะแนนระหว่างเรียนมากกว่าคะแนนปลายปี/ปลายภาค เช่น 60 : 40, 70 : 30, 80 : 20 เป็นต้น

ในส่วนของการให้การบ้านนั้น ควรยึดหลักการลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้ โดยลดปริมาณการบ้านที่ต้องทำนอกเวลาเรียนหรือที่บ้าน ให้เน้นการมอบหมายการบ้านเฉพาะรายวิชาที่จำเป็น หรือทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออก เขียนได้ คิดวิเคราะห์ได้ นำเรื่องราวต่างๆที่เรียนรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งคิดเลขเป็น หรือ PLC บูรณาการการบ้าน ซึ่งการบ้านชิ้นงานเดียวอาจตอบโจทย์การเรียนรู้ข้ามรายวิชา และส่งเสริมให้นักเรียนได้มีเวลาศึกษาค้นคว้าตามความสนใจของตนเองมากขึ้น ขณะที่การเก็บคะแนนระหว่างเรียน ครูผู้สอนสามารถนำคะแนนระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนแบบ Onsite หรือผสมผสานกับการเรียนทางไกลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การตอบคำถาม การพูดคุย การนำเสนองานด้วยวิธีการสื่อสารหลากหลาย ผ่านโปรแกรมซูม ไลน์ เฟชบุ๊ก หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ได้ เพื่อให้นักเรียนบรรลุคุณภาพตามมาตรฐานและตัวชี้วัดที่หลักสูตรกำหนด ส่วนกรณีที่นักเรียนมีผลการเรียนไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ต้องมีการจัดสอนซ่อมเสริมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อพัฒนาให้นักเรียนสามารถบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย และตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของนักเรียนอย่างทันท่วงที

“ทั้งนี้ สำหรับประเด็นที่ครูต้องการให้โรงเรียนประกาศนโยบายเรียนซ้ำชั้นนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นอำนาจของสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาอาจพิจารณาให้นักเรียนซ้ำชั้นได้ หากพบปัญหาที่เกิดกับนักเรียนในกรณีไม่ผ่านรายวิชาจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาต่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือไม่บรรลุผลการเรียนรู้ใด ๆ และครู รวมทั้งผู้บริหารร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสมกับเด็ก เพราะงานที่ให้เด็กทำอาจไม่ตอบโจทย์ความถนัดของเด็ก แต่วิธีอื่น อาจได้เด็กที่มีคุณภาพที่ตัวตน ซึ่งต่างวิธีกัน แต่คุณภาพติดที่ตัวเด็กเหมือนกัน ถือเป็นความท้าทายของผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นผู้นำทางวิชาการ ที่ควรร่วมสร้างเด็กคุณภาพด้วยวิธีการที่หลากหลายร่วมกับคณะครู

ส่วนการซ้ำชั้น สามารถดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการ และให้สถานศึกษาแจ้งผู้ปกครองและนักเรียนได้ทราบเหตุผลของการเรียนซ้ำชั้น โดยให้คำนึงถึงวุฒิภาวะและความรู้ความสามารถของนักเรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งพูดคุยกับผู้ปกครองในการหาทางออกร่วมกัน ที่สำคัญคือ ต้องให้รู้จริงๆ ว่าเด็กไม่สามารถข้ามชั้นได้จริง และครูได้เปลี่ยนวิธีการประเมินผลอย่างหลากหลายแล้วจริง โดยมีทีม PLC แล้ว

ทั้งนี้ สพฐ. ได้กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาทุกแห่ง เร่งทำความเข้าใจ ให้ได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริง ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องของการวัดและประเมินผลการศึกษา และดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” โฆษก สพฐ. กล่าว

The post สพฐ.ชี้ครูออกความเห็นได้ หนุนโรงเรียนพูดคุยหาทางออก แก้ปัญหานักเรียนไม่ตั้งใจเรียน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post