ปลัดกระทรวงศึกษ
24 สิงหาคม 2567 สนามช้าง...
19 มีนาคม 2567 / ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ ดร.ทัศนีย์ พิศาลรัตนคุณ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. เป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
โดยมี ดร.อรทัย ทองฤกษ์ฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป., รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), รศ.ดร.วิไลลักษณ์ ลังกา ภาควิชาการวัดผลและวิจัยการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว. ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงาน สป.ศธ. เข้าร่วม ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.ทัศนีย์ พิศาลรัตนคุณ กล่าวว่า การจัดทำแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นภารกิจที่สำคัญและเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของการบริหารจัดการงานวิจัย รวมทั้งเป็นกรอบทิศทางการสร้างสรรค์และส่งมอบงานวิจัยที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ
การประชุมปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนฯ ในวันนี้จึงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากร สร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษาให้มีคุณภาพ สร้างเครือข่าย และเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์บริบทการพัฒนาประเทศด้วยกระบวนการพัฒนาแผนงานแบบมีส่วนร่วม
“สป.ศธ. ให้ความสำคัญกับการบริหารงานวิจัย และให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปขับเคลื่อนและใช้ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาฐานข้อมูลงานวิจัยและนวัตกรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ที่จะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมพัฒนางานวิจัยให้มีประสิทธิภาพยังประโยชน์ขององค์กรและประเทศชาติต่อไป“
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของ สป.ศธ. เน้นการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ ผู้เรียนมีคุณภาพ รู้เท่าทันโลกยุคใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ การได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง เสมอภาค และเท่าเทียม ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีสมรรถนะที่ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่ มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัล และนวัตกรรมที่เชื่อมโยงและบูรณาการการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังกล่าวถึง “การศึกษาไร้รอยต่อ (Seamless Education)” ซึ่งยังมีรอยต่อในเรื่องของการศึกษาในระบบและนอกระบบ ความหลากหลาย ศาสตร์ความรู้ และผู้เกี่ยวข้อง จึงได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเชื่อมต่อการศึกษาในระบบและนอกระบบ คือการที่ผู้เรียนมีการย้ายระบบการศึกษา มีการข้ามเส้นแบ่งระหว่างการศึกษาในและนอกโรงเรียนได้ เช่น การเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ระหว่างในระบบและนอกระบบ การยกระดับและการสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ที่ได้มาตรฐาน รองรับการศึกษาด้านความหลากหลาย สนับสนุนให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการยอมรับ การอยู่ร่วมกันและเรียนรู้ได้ในความแตกต่าง เช่น การสนับสนุนการเรียนการสอนในภาษาแม่เชื่อมเข้าสู่ภาษาไทย
ขณะเดียวกันต้องเพิ่มทักษะพหุวัฒนธรรมให้แก่ครูและหลักสูตรการผลิตครู เชื่อมต่อการศึกษากับการปฏิรูปกฎหมายสถานะบุคคล การบูรณาการศาสตร์ความรู้ ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนสิ่งที่ต้องการได้ มีการแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่หลากหลาย เช่น การปรับหลักสูตรแกนกลาง และแนวทางการประเมินให้ง่ายต่อการบูรณาการ ปรับหลักสูตรผลิตครูสร้างครูที่สอนแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning) และเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้อง มีการทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน เช่น ความร่วมมือแบบภาคีระหว่างหน่วยงานรัฐ และองค์กรนอกภาครัฐ การจัดสรรงบประมาณวิจัยแบบ Open Grant เพื่อสร้างงานวิจัยสหสาขาและขยายนวัตกรรมการศึกษา
รศ.ดร.วิไลลักษณ์ ลังกา กล่าวถึงแนวโน้มการศึกษาของโลกในศตวรรษที่ 21 กับประเด็นการวิจัย ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น เป็นการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านรูปแบบการศึกษาทางไกล (Tele-education) โรงเรียนเสมือน (Virtual School) และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน VR และ AR เข้ากับการเรียนรู้ มีปัญญาประดิษฐ์ที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้สอนในการวิเคราะห์และวางแผนให้ผู้เรียน
โดยมีครูทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน มีระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากการประกอบอาชีพ การฝึกอบรม การศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย การคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน สังคมจะให้คุณค่าต่อทักษะที่เหมาะสมต่องาน เป็นการจัดการศึกษาที่เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะมนุษย์ พัฒนาทักษะทางสังคม เข้าถึงการเป็นมนุษย์และเกิดการค้นพบตนเองมากยิ่งขึ้น ดังนั้นประเด็นการวิจัยในอนาคตจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามแนวโน้มการศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ตามที่ Moonpreneur ได้มีการเผยแพร่ 15 แนวโน้มการศึกษาโลกที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 ได้แก่
1) Gamification การใช้องค์ประกอบของเกม
2) Immersive Reality: AR, VR, และ Mixed Reality เทคโนโลยีสมจริง
3) Microlearning การเรียนรู้ระยะเวลาสั้น ๆ
4) AI and Human Synergy การใช้ประโยชน์จาก AI มาช่วยเสริมการจัดการเรียนการสอน
5) Leveraging Big Data การใช้ประโยชน์จาก Big Data สร้างระบบสารสนเทศทางการศึกษา
6) Evolving K-12 Digital Education ระบบการศึกษาระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา (K-12) ที่สามารถเรียนทางออนไลน์ผ่านโรงเรียนและ โปรแกรมเสมือนจริง
7) Blockchain in Education เทคโนโลยีซึ่งเป็นที่รู้จักเรื่องความปลอดภัยและความโปร่งใส
8) Personalized Learning การเรียนรู้ส่วนบุคคล 9) STEAM-based Programs
10) Subscription-Based Model for Learning แพลตฟอร์มการศึกษาที่เปิดให้ผู้เรียนสมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปี
11) Holistic Learning การเรียนรู้แบบองค์รวม 12) Hybrid Learning การเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างเรียนแบบตัวต่อตัวและแบบออนไลน์
13) Education and Entrepreneurship Mindset การบูรณาการความเป็นผู้ประกอบการเข้ากับการศึกษา
14) Mobile Learning การจัดการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ด้วยตนเอง
15) Social-emotional Learning (SEL) กระบวนการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม
ดังนั้นเมื่อเราทราบถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น การจัดการการศึกษาและการวิจัยด้านการศึกษา จึงต้องมีที่มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อให้ระบบการศึกษาและงานวิจัยของไทยมีมาตรฐาน มีทิศทางที่ดีและมีคุณภาพมากที่สุด
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
The post สป.ศธ. ผนึกกำลัง สกสว. จัดทำแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมพลิกโฉมอนาคตการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.