ศธ. เตรียมความพร
11 พฤศจิกายน 2567 – ดร.ว...
ยุคของการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย ภายใต้การนำของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนโยบายในการที่จะทำให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” โดยมีหลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” ใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” มุ่งสร้าง“การศึกษาเท่าเทียม” ผ่านเครือข่ายการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” เพื่อพัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัยให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ”มีศักยภาพและความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
จึงได้ก่อให้เกิดนโยบายและโครงการหลากหลายโครงการ ที่ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยให้ก้าวทันโลกสมัยใหม่ ตลอดจนสร้างโอกาสที่ดีกว่าในการเรียนรู้ ซึ่ง 5 เรื่องเด่นสำคัญ ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย
ยกเลิกครูอยู่เวร พร้อมจ้างนักการภารโรงทั่วประเทศ
กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการให้ครูมีเวลาที่เพียงพอในการดูแลนักเรียน โดยมีการยกเลิกนโยบายให้ครูต้องอยู่เวร และแทนที่ด้วยการจ้างนักการภารโรงในโรงเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ นอกจากจะทำให้ครูมีเวลามากขึ้นในการสอนและพัฒนานักเรียนแล้ว ยังช่วยสร้างงานในชุมชนและเพิ่มความปลอดภัยในโรงเรียนด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการและดูแลเพื่อความปลอดภัยสูงสุด “เพราะชีวิตครู มีค่ากว่าทรัพย์สิน”
อาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส
รัฐบาล ได้เพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนขยายโอกาสทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2,955 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโรงเรียนขยายโอกาสทั้งหมด 7,344 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์ 575,983 คน การสนับสนุนในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้รับอาหารที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อให้พวกเขามีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างพลังในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในทุก ๆ วันของการศึกษา นักเรียนจึงมีความสุขทั้งในด้านร่างกายและจิตใจตลอดเวลาเรียนในโรงเรียน
ระบบจับคู่ครูคืนถิ่น TMS สู่ระบบย้ายครู TRS
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ได้ริเริ่ม “ระบบย้ายจับคู่ครูคืนถิ่น” (Teacher Matching System: TMS) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Silver Award ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับประเทศ ระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ครูสามารถย้ายไปสอนในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากหรือความซับซ้อนในการดำเนินการ หลังจากนั้น ระบบดังกล่าวได้รับการพัฒนาต่อยอดจนถึงการจัดทำ “ระบบย้ายข้าราชการครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ” (Teacher Rotation System: TRS) ซึ่งเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2567 โดยมีเป้าหมายในการยกระดับกระบวนการย้ายครูให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ครูทุกคนสามารถย้ายไปสอนในพื้นที่ที่ต้องการได้อย่างเท่าเทียมและมีความยุติธรรมสูงสุด
Credit Bank
การพัฒนาทักษะดิจิทัลในยุคนี้เป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐที่เรียกว่า “Credit Bank” ซึ่งเป็นธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ผ่านระบบ “Learn to Earn” โดยผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากการเรียนรู้ และเชื่อมโยงกับศูนย์การเรียนรู้และเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทักษะดิจิทัลและความสามารถในการแข่งขันในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การริเริ่มนี้จึงเป็นการสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่สำคัญให้กับทุกคนในสังคม เพื่อให้สามารถปรับตัวและเติบโตในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
สุขาดีมีความสุข
การดูแลสุขอนามัยของนักเรียนเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยการจัดโครงการ “สุขาดี มีความสุข” ซึ่งได้รับงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงห้องน้ำในโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศมากกว่า 9,700 แห่ง โดยมีเป้าหมายในการสร้างสภาพห้องน้ำที่สะอาด สะดวกสบายและมีสุขลักษณะที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การดำเนินโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของนักเรียนดีขึ้น แต่ยังส่งผลต่อการเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงให้กับเด็ก ๆ โดยให้นักเรียนได้ใช้พื้นที่ที่สะอาดและมีคุณภาพในการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว จึงช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีและสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา
ก้าวสู่อนาคตการศึกษาของไทย
ปี 2568 กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมที่จะก้าวข้ามทุกขีดจำกัด เพื่อพัฒนาให้การเรียนรู้ของเด็กไทยมีคุณภาพและมีสมรรถนะที่พร้อมในทุกมิติตามความต้องการของประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของนโยบายการศึกษาของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี โดยมีการผลักดันโครงการสำคัญ เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน และโครงการ 1 อำเภอ 1 ซัมเมอร์แคมป์ จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเด็กไทยทุกคน
การบริหารการศึกษาในยุค “เพิ่มพูน” นับตั้งแต่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาจนถึงปัจจุบัน มีการกำหนดนโยบายที่จะช่วย “ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา” “ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง” ถือเป็นก้าวสำคัญที่ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระ ลดกระบวนการ และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กไทยให้มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างสังคมที่มีการศึกษาและโอกาสที่เท่าเทียมมากขึ้น เพื่อให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง มีคุณภาพ “เรียนดี มีความสุข”
สนย.สป.ศธ. / ข้อมูล
อานนท์ วิชานนท์ / สกู๊ป