Thai government gazette (on 13 November, 2024
According to the public administration policy regulated...
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 9/2568 ติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ต้องดีกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนว่าเม็ดเงินที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรไปนั้น สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พอใจผลการสำรวจการรู้หนังสือของคนไทยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพิ่มขึ้นจาก 94% เป็น 98% พร้อมกำชับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมเด็กไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” สพฐ. Summer Camp 2025 โดยมีกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการประยุกต์ใช้ความรู้ในชีวิตประจำวัน ชี้การประเมินคุณภาพทางการศึกษาเป็นดัง “กระจกเงา” ที่สะท้อนภาพรวมของระบบการศึกษาไทย
สัปปายะสภาสถาน – 25 มีนาคม 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 9/2568 พร้อมด้วยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายพิษณุ พลธี เลขานุการ รมช.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับเข้าร่วม ณ ห้องประชุม N 405 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา และประชุมผ่านระบบ e-Meeting
รมว.ศธ. กล่าวว่า การพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการชี้แจงผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของสังคม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสื่อสารเชิงรุก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางการศึกษา พร้อมใช้เวทีการอภิปรายทั่วไปในครั้งนี้เป็นช่องทางในการนำเสนอผลงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและทุกภาคส่วนในการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ
สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
ติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568
รมว.ศธ. กล่าวว่า การดำเนินงานติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของ ศธ. ขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่การเบิกจ่ายยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งได้เร่งรัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าอัตราการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะนี้เบิกจ่ายอยู่ที่ 50.98 ซึ่งเป้าหมายอยู่ที่ 53% หนึ่งในสาเหตุหลักคือการที่งบลงทุนอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ ส่งผลให้ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผนที่วางไว้ การเบิกจ่ายฯ จะต้องมีประสิทธิภาพและดีกว่าปีที่ผ่านมา (ศธ. มีการเบิกจ่ายเป็นอันดับ 1 จาก 24 หน่วยงาน คิดเป็น 100.09% ด้านข้อมูลสถานะรายจ่ายเงินลงทุน 2567 และเงินจัดสรรเหลือจ่าย ณ วันที่ 13 ก.ย. 2567 มีจำนวนรายการที่ลงนามในสัญญาแล้ว 98.90% และเบิกจ่ายแล้ว 55.82%) เพื่อให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนว่าเม็ดเงินที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรไปนั้นสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสำรวจการรู้หนังสือของคนไทยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
รมว.ศธ. กล่าวว่า ในปีนี้มีผลการรู้หนังสือ 98% เพิ่มขึ้นจากเดิม 94% ศธ. เตรียมการสำรวจการรู้หนังสือของคนไทยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดย สกศ. และ สกร. ร่วมดำเนินการสำรวจประชากรอายุ 7 ปีขึ้นไป ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับการศึกษา ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจการรู้หนังสือของคนไทย และนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการจัดอันดับด้านการศึกษาในระดับนานาชาติหรือ IMD ผลการสำรวจจะสามารถรายงานได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568 เพื่อนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลในการพัฒนาการศึกษาต่อไป โดยการสำรวจในปัจจุบันครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ และสามารถสำรวจได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำรวจได้ถึง 224,462 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 105.33
สำหรับการจัดอันดับด้านการศึกษาจากเว็บไซต์ World Population Review ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประชากรและประเด็นอื่น ๆ ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ที่ อันดับ 107 จาก 203 ประเทศ ต่ำกว่าประเทศลาว ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกข้อเท็จจริงก็คือ ผลการจัดอันดับจากเว็บไซต์นี้อาจไม่สะท้อนคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง เนื่องจากไม่มีการระบุเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับอย่างชัดเจนและอาศัยข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นมากกว่าข้อมูลเชิงสถิติ ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าการศึกษาของไทยด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
หากพิจารณาจากอัตราการรู้หนังสือของประชากร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไทยจะอยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาของไทยยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการพัฒนาฐานข้อมูลทางการศึกษาให้ครบถ้วนและทันสมัย เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันสามารถนำไปใช้ในการจัดอันดับระดับนานาชาติได้อย่างแม่นยำขึ้น และสะท้อนคุณภาพการศึกษาไทยได้อย่างแท้จริง
กำชับระเบียบ ศธ. จากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษา
รมว.ศธ. กล่าวว่า จากเหตุการณ์อุบัติเหตุที่รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนอนุบาลบ่อพลอยราษฎร์รังสรรค์ จังหวัดตราด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา และประกาศบังคับใช้ทั้งสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษาที่อยู่ในกำกับดูแล หรืออยู่ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการด้วย ขอให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเฉพาะการพิจารณาคัดเลือกเส้นทางการเดินทาง การควบคุมยานพาหนะให้เป็นไปตามลำดับหมายเลขตามเส้นทางที่กำหนด และการใช้ความเร็วของยานพาหนะ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยจราจร ยานพาหนะต้องอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงพนักงานขับรถต้องมีความรู้ ความชำนาญเป็นอย่างดี และทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และขอให้ดูและสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของครูและนักเรียนทุกคนเป็นอย่างดี
อุบัติเหตุที่รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียน จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะรถบัสกำลังเดินทางกลับจากการทัศนศึกษา มีนักเรียนและครูจำนวน 42 ชีวิต มีนักเรียนจำนวน 35 คน และครู 7 คน กลับจากการทำกิจกรรมที่อ่าวธรรมชาติ อ.แหลมงอบ เกิดเพลิงไหม้ที่ท้ายรถจนควันดำพวยพุ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียด แต่โชคดีที่ทุกคนสามารถอพยพออกจากรถได้ทัน ก่อนที่ไฟจะลุกลาม โดยหน่วยกู้ภัยสว่างบุญช่วยเหลือธรรมสถานตราด เขตบ่อไร่ และเจ้าหน้าที่จากเทศบาลและ อบต.บ่อพลอยได้ร่วมกันเดินทางลงพื้นที่เพื่อช่วยระงับเหตุเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีในการควบคุมเพลิง ทั้งนี้ได้สั่งการให้ สพฐ. ลงไปดูแลสภาพจิตใจของครูนักเรียนอย่างใกล้ชิดต่อไป
การยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA
รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการยังคงขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยการนำหลักสูตรและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ PISA มาใช้เพื่อพัฒนาและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ขอให้เพิ่มมิติในการเพิ่มช่องทางในการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ว่านักเรียนที่เข้าศึกษาต่อมีคุณภาพมากน้อยเพียงใดในแต่ละสาขาวิชา เพื่อนำมาพัฒนาและส่งเสริมการเรียนเพื่อพัฒนาในมิติคุณภาพของนักเรียน
ความก้าวหน้าการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ ในระดับเขตพื้นที่ ทั้งในด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันได้เห็นผลลัพธ์ที่ค่อนข้างน่าพอใจ จากการฝึกอบรมและพัฒนาผู้สอน ซึ่งทำให้การดำเนินการใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีผู้ลงทะเบียนอบรมไปแล้วกว่า 385,061 คน ส่วนการจัดกิจกรรมส่งเสริมเด็กไทยภายใต้โครงการ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” สพฐ. Summer Camp 2025 โดยมีกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการประยุกต์ใช้ความรู้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยพร้อมทั้งทางด้านวิชาการและทักษะชีวิต
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดการทดลองซ้อมสอบสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผ่านระบบ PISA Style เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสฝึกฝนและเตรียมความพร้อมให้กับการสอบจริงได้อย่างมั่นใจ โดยเน้นที่การพัฒนาทักษะทั้งด้านการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาผ่านการทดสอบที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการสอบ PISA จริง มีการพัฒนาชุดกิจกรรมและแบบฝึกที่มุ่งเน้นการยกระดับการอ่านและการประเมินความรู้และความคิดรวบยอด โดยใช้ทั้งการทดสอบแบบ Paper Pencil และการทดสอบดิจิทัล ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบโครงสร้างของการทดสอบ O-NET และ PISA ผลจากการประเมินความรู้และความคิดรวบยอดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะถูกนำมาวิเคราะห์และปรับปรุงมาตรฐานการเรียนการสอนในแต่ละสาขาวิชา เพื่อพัฒนาแนวทางการสอนที่เหมาะสมและสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคน
ผลการทดสอบ O-NET
รมว.ศธ. กล่าวว่า ผลการทดสอบ O-NET ได้สะท้อนถึงความสำคัญของการวัดความสามารถในด้านวิชาการ หากมีการวัดทักษะทางด้านทักษะชีวิต ทักษะในการแก้ไขปัญหาและทักษะอื่น ๆ ที่สำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน มีกระบวนการวัดที่มีมาตรฐานก็จะสามารถทำให้มีประสิทธิภาพครบทุกมิติ นำระบบการวัดที่มีมาตรฐานมาปรับใช้ จะช่วยให้การประเมินมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในปีการศึกษา 2567 ผลการทดสอบ O-NET สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยรวมของประเทศ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2566 โดยบางวิชามีผลการทดสอบที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันในบางสาขาวิชายังมีผลการทดสอบที่ต้องการการปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งที่เกี่ยวข้องขอให้ดำเนินการแก้ไขและพัฒนาการสอนและเนื้อหาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง
การจัดอันดับตัวชี้วัดด้านการศึกษาของ IMD ประจำปี พ.ศ. 2568
รมว.ศธ. กล่าวว่า ในมิติของการดำเนินการสำรวจต่าง ๆ ขอให้มีการระดมผู้ที่มีความสามารถมาร่วมกันบูรณาการการทำงาน เหมือนการมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้แนะนำและสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้การจัดอันดับตัวชี้วัดด้านการศึกษาและอัตราการรู้หนังสือของไทยสูงขึ้น
การจัดอันดับตัวชี้วัดด้านการศึกษาของ IMD ประจำปี พ.ศ. 2568 มุ่งเน้นที่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาในประเทศไทย โดยมีแผนการพัฒนาในระยะสั้นและระยะยาวที่ชัดเจน โดยในระยะสั้น มีการกำหนดหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดการศึกษา โดยการตรวจสอบข้อมูลให้ได้มาตรฐานและตรงตามนิยามที่สถาบัน IMD กำหนด ซึ่งจะมีการเทียบเคียงกับฐานข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศและแต่ละประเทศที่เข้ารับการประเมิน ในระยะยาว เน้นการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับ TMA (Thailand Management Association) จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้เสีย โดยจะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมและสร้างการรับรู้ในรูปแบบ Exclusive Competitiveness Forum เพื่อเสนอผลงานจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอในการยกระดับ IMD ได้แก่ การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของผู้เรียนและครู โดยเน้นการฝึกอบรมครูให้สามารถสอนภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการศึกษาในสาขา STEM และการค้นหาเด็กที่มีความสามารถพิเศษในกลุ่มเด็กช้างเผือกที่ประเทศไทยมองข้าม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและขยายกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของนักเรียนต่างชาติและการเคลื่อนย้ายของนักเรียน (Student Mobility) ซึ่งการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยเพื่อยกระดับ IMD ต้องมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของทั้งครูและนักเรียนเพื่อสร้างการแข่งขันที่ดีขึ้นในระดับสากล
“ขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในทุกระดับ พร้อมทั้งพัฒนาแนวทางการประเมินผลและวัดคุณภาพการศึกษา นำกระบวนการ sampling มาใช้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนาการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น การประเมินคุณภาพทางการศึกษาเป็นดัง “กระจกเงา” ที่สะท้อนภาพรวมของระบบการศึกษาไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้กระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยเป็นต้นแบบด้านการประเมินสถานศึกษาสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
The post ศธ. เร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ ไต่อันดับ 1 เม็ดเงินอุดหนุนกระตุ้นเศรษฐกิจ “เพิ่มพูน” ชื่นชมยอดอัตราการรูัหนังสือเกือบ 100% appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.