28 มีนาคม 2568 –  นายสิริพงศ์  อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพแกนนำขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาในสถานศึกษานำร่อง เขตตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 14 และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพในสถานศึกษา ซึ่งมีครูและนักเรียนจากโรงเรียน 15 แห่ง จำนวน 150 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศูนย์ OTOP องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพแกนนำขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาในสถานศึกษานำร่อง เขตตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 14  ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อผู้เรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้เรียนรู้และได้รับการบ่มเพาะการมีส่วนร่วมในวิถีประชาธิปไตยผ่านกระบวนการธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา และสามารถนำไปต่อยอดการดำเนินชีวิตให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อประเทศชาติในอนาคตได้อย่างมั่นคง

นายสุภชัย  จันปุ่ม ผู้ตรวจราชการ ศธ.  กล่าวว่า ผลที่คาดหวังในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ คือ 1. ความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเขตพื้นที่ 14 และภาคีเครือข่ายที่ดำเนินการด้านสุขภาพทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะนำไปสู่ความร่วมมือในการสนับสนุนการดำเนินงานและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมตามกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี”  2. ผู้เรียน ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มีความรอบรู้ มีทักษะ และพฤติกรรมสุขภาพที่ดี มุ่งสู่การสร้างสังคมสุขภาวะร่วมกัน 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ความสำคัญของการขับเคลื่อนระบบสุขภาพในสถานศึกษา ไว้ว่า สำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นกลุ่มที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของประเทศ โดยสุขภาวะของกลุ่มนี้ เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมและสุขภาพที่หลากหลาย หน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดำเนินการจัดการได้ ต้องอาศัยหน่วยงาน หรือภาคีจากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการนั้นถือเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้ เนื่องจากสถานศึกษามีส่วนที่จะช่วยส่งเสริมและเอื้อให้เกิดสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางปัญญา รวมถึงการตระหนักรู้ มีสำนึกรับผิดรับชอบ และสุขภาวะทางสังคม ครบทุกมิติ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550  โรงเรียนและสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างสุขภาพซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ให้ประเทศไทย 

การที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาต่อไปได้ในอนาคตนั้น สิ่งสำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง พยายามอย่าละเลยหรือมองข้ามกลุ่มบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เกิดการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เกิดการยอมรับในธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาร่วมกัน 

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา” ที่มุ่งเน้นให้เด็ก เยาวชน และสถานศึกษาอันเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนไทยให้มีคุณภาพตามทิศทางการพัฒนาประเทศ  สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565  ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การพัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในทุกกลุ่มวัยและทุกระดับ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายระบบสุขภาพและสังคมที่เป็นธรรม มุ่งสร้างทิศทางขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพแบบบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และยกระดับการสร้างเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพปัญญา และสุขภาพสังคม ให้แก่ ผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถดำเนินชีวิตด้วยความผาสุกผ่านกระบวนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงทุกมิติ

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับเขตตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 14 เขตสุขภาพที่ 10 กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 10 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 10 อุบลราชธานี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมัชชาสุขภาพจังหวัดศรีสะเกษ สมัชชาสุขภาพจังหวัดอำนาจเจริญ สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี สมัชชาสุขภาพจังหวัดมุกดาหารและสมัชชาสุขภาพจังหวัดยโสธร จัดงานดังกล่าว

พบพร ผดุงพล / ข่าว , กราฟิก
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช. / ข้อมูล , ภาพ

The post ศธ. เดินเครื่องธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ปักหมุดศรีสะเกษนำร่อง ยกระดับสุขภาพกาย จิต ปัญญา และสังคม appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post