เสมา 1 ประชุมบอร์
22 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำ...
26 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “โครงการการปรับปรุงคุณภาพและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการศึกษา ในหัวข้อ การใช้ PISA ในทางปฏิบัติ : พลังของข้อมูลเพื่อการปรับปรุงการศึกษา – การเชื่อมโยงผลจาก PISA กับการปฏิรูประบบการศึกษา” ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ
โดยมี Mr.Andreas Schleicher ผอ.ฝ่ายการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา, นางคยองชอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย, Mr. Yorihisa Oneda (First Secretary of the Permanent Delegationof Japan to the OECD) และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก OECD ที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับผลการทดสอบ PISA มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากองค์กรหลัก และผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ PISA ทุกภาคส่วน รวมทั้งสิ้น 20 หน่วยงาน
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ตระหนักถึงวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการยกระดับความสามารถในการอ่าน คำนวณ และวิเคราะห์ของผู้เรียนไทยที่จบจากการศึกษาภาคบังคับ โดยใช้มาตรฐานสากลในการวิเคราะห์สัมฤทธิ์ผลในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเข้าร่วมโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)เป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้คณะกรรมการ PISA แห่งชาติ และได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การสร้างไม้บรรทัดวัดสมรรถนะเด็กไทยบนเวทีระดับโลกเป็นงานยาก ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อ แม่ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้เรียน ในการสะท้อนสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้จากโรงเรียนและสังคมเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา”
บทเรียนจากการทดสอบ PISA มี 2 ประเด็นที่สะท้อนให้เห็น คือ 1) เราเตรียมความพร้อมผู้เรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับประถมศึกษาได้พร้อมหรือไม่ และ 2) ผู้เรียนที่ผ่านการทดสอบในแต่ละช่วง จะมีความพร้อมเพียงใดในการเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา หรือตลาดแรงงาน ในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ส่งผลถึงสมรรถะในการแข่งขันของประเทศ
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า จากผลการทดสอบ PISA 2023 พบว่าสมรรถนะการเรียนรู้ของเด็กไทยถดถอยกว่าช่วงที่ผ่านมา และมีการพูดคุยว่าสาเหตุเกิดจากอะไร จึงอยากชวนทุกท่านให้คิดและค้นหาสาเหตุร่วมกันว่า เหตุใดเด็กไทยจึงมีสมรรถนะการเรียนรู้ที่แตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค อาทิ เป็นไปได้หรือไม่ที่เด็กไทยมีความเสื่อมถอยในการเรียนรู้สืบเนื่องมาจาก COVID-19 ซึ่งเด็กไทยยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือแท้จริงแล้วเด็กไทยประสบปัญหาในการคิดวิเคราะห์ เพราะการด้อยความสามารถในการอ่านข้อสอบ เป็นต้น
“หากเราสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้ทั้งระบบ เช่น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ เอสโตเนีย และสิงคโปร์ โดยนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ของไทย เชื่อว่าการร่วมมือของทุกฝ่ายในที่นี้ และแรงสนับสนุนขององค์กรระดับนานาชาติ จะเป็นแสงสว่างทางความคิดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเราให้สำเร็จในการประเมิน PISA2025” รมว.ศธ. กล่าว
นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การประเมิน PISA จะเน้นสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการประเมินสำคัญที่ประเทศไทยให้ความสนใจ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีการลงนามความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษากับองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาแนวคิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการศึกษาและผลการประเมินทางการศึกษาในระดับนานาชาติมาใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบายทางการศึกษาของประเทศต่อไป
#กระทรวงศึกษาธิการ #เรียนดีมีความสุข #PISA2025 #OECD #UNICEF
ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ/ถ่ายภาพ
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
The post ศธ.ร่วมหารือนานาชาติเพื่อยกระดับผลสอบ PISA รมว.ศธ. ‘เพิ่มพูน’ มั่นใจฝีมือทุกฝ่ายดึงคะแนน PISA2025 ขึ้นได้แน่นอน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.