โรงแรมอมารี ดอนเมืองแอร์พอร์ต กรุงเทพฯ – 20 มกราคม 2568 / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาและชุมชน คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “สร้างเด็กไทยเรียนดี มีความสุข และสุขภาพดี” ในการประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่องการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา

จัดโดยมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ มีผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ และผู้บริหารสถานศึกษาทั้งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมกว่า 200 คน และถ่ายทอดผ่าน Facebook Live

รองปลัด กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามมาตราฐานโภชนาการและมีความปลอดภัยทางอาหารเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและการเรียนรู้เพื่อภาวะสุขภาพที่ดี  อย่างไรก็ตามเด็กไทยยังเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้ตามมาตรฐานโภชนาการ บริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง แต่บริโภคผักและผลไม้ในปริมาณที่น้อย ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนและ NCDs รวมถึงปัญหาทุพโภชนาการในบางกลุ่ม จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2567 พบว่า ภาวะโภชนาการของเด็กไทยกลุ่มอายุ 6-14 ปี มีภาวะเตี้ย ภาวะผอม ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนภาวะสูงดีสมส่วน ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ซึ่งจากข้อมูลที่พบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหาท้าทายที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องขับเคลื่อนการพัฒนาภาวะโภชนาการของเด็กไทยให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยมีเป้าหมายสำคัญคือสร้างโอกาสและคุณภาพการศึกษาให้กับนักเรียนทุกคน นอกจากจะส่งเสริมการเรียนการสอนทางวิชาการในกลุ่มสาระต่างๆ แล้วยังให้ความสำคัญกับการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพและเพียงพอให้นักเรียนในความรับผิดชอบ โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดอาหารกลางวันให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาด้วย ทั้งนี้มีแนวทางการทำงานให้ประสบความสำเร็จคือ “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” นั่นคือการทำงานที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้นจะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายทุกภาคส่วน

สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา ซึ่งจะต้องมีแนวทางการดำเนินการอย่างเป็นระบบและจริงจัง เช่น เน้นการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ใช้วิถีชีวิตการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ให้นักเรียนได้ฝึกทักษะชีวิต ปรุงอาหารได้ มีมารยาทในระหว่างทานอาหาร ช่วยกันเก็บกวาดเช็ดถูหลังทานอาหาร ปลูกฝังการมีระเบียบวินัย รักษาสุขภาพ ดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้หากโรงเรียนใดมีความพร้อมโดยการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อาจจัดอาหารเช้าให้กับนักเรียนกลุ่มที่มีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งในขณะนี้มีสถานศึกษาหลายแห่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว

การพัฒนาคุณภาพการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของเด็กไทยและอนาคตของประเทศไทย นอกจากโรงเรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในพื้นที่แล้ว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังมีความสำคัญในการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ตลอดจนผู้ปกครองและชุมชน ล้วนมีบทบาทที่จะเข้ามาส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงาน

นอกจากนี้จะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และติดตามประเมินผลและพัฒนาระบบการจัดอาหารกลางวันให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่การสร้างภาวะโภชนาการที่ดี แก้ปัญหาภาวะเตี้ย ภาวะผอม ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน และจะก้าวไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการให้เกิดขึ้นคือ ภาวะสูงดีสมส่วนของเด็กไทย หากทุกภาคส่วนดำเนินการได้ตามนี้แล้ว จะทำให้บรรลุผลตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” และนักเรียนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ซึ่งจะทำให้นักเรียนเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทยได้เต็มตามศักยภาพ

การประชุมเสวนาในครั้งนี้ นอกจากการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว มีการเสวนาแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการจัดนิทรรศการด้านอาหารและโภชนาการอย่างหลากหลายด้วย

Share This Article

Related Post