รองปลัด ศธ. “ธนู”
22 เมษายน 2567 : นายธนู ขว...
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 1/2568 ชมเชยบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2567 ที่ผ่านมา ร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน และชื่นชม “น้องรินดา” นักเรียนโรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม ทำ CPR ยื้อชีวิตผู้ป่วยในเหตุฉุกเฉิน พร้อมตั้งเป้าในปี 2568 ครูฯ ลงทะเบียนอบรมเป็นนักสร้างและพัฒนาข้อสอบ PISA มากกว่า 4 แสนคน แย้มเตรียมของขวัญรอเซอร์ไพรส์เยาวชนไทย ในงานวันเด็ก 2568 ที่กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 1 แสนชิ้น
8 มกราคม 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting
ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. และนายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว
รมว.ศธ. กล่าวว่า การดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณบุคลากรทุกคนที่ร่วมมือกับขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ คาดหวังว่าพวกเราจะช่วยกันทำงานต่อไป ทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อ “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ของชาวกระทรวงศึกษาธิการ ฝากมิติการทำงาน “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” เพื่อให้งานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายในการทำให้เด็กไทย “ฉลาด รู้ฉลาดคิด ฉลาดทำ”
สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
ชื่นชมนักเรียนโรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม “จุติ-ก้อง อนุสรณ์” จังหวัดภูเก็ต ให้การช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอชื่นชมน้องรินดาและเพื่อน ๆ ที่ให้การช่วยเหลือในการทำ CPR ผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย ถือเป็นการใช้ทักษะจากการเรียนรู้ในสถานศึกษา ต่อยอดเป็นความสามารถ จนนำไปสู่การทำความดีในการช่วยเหลือผู้อื่นในครั้งนี้ ฝากให้มีการสื่อสาร การอบรมให้ความรู้ ขยายผลสู่สถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ขอให้ทุกคน “ทำดี ทำได้ ทำทันที”
โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2568 ทีมกู้ชีพเทศบาลตำบลเชิงทะเล รับแจ้งเหตุ พบคนเป็นลมชักหมดสติ บริเวณใกล้ศาลเจ้าเชิงทะเล ถ.ศรีสุนทร ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จึงนำรถพยาบาลออกตรวจสอบที่เกิดเหตุพบชายสูงอายุ ขี่รถจักรยานยนต์สามล้อพ่วงข้างนอนหมดสติอยู่บนรถ มีภาวะหัวใจหยุดเต้น จึงเข้าให้การช่วยเหลือทำ CPR ติดตั้งเครื่อง AED เปิดทางเดินหายใจ เพื่อช่วยในการให้ออกซิเจน จึงได้มีการร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น และได้รับการตอบรับจาก น.ส.เบญจวรรณ กันภัย หรือ น้องรินดา รีบเข้าไปให้การช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจด้วยเครื่อง AED ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุนำส่ง รพ.ถลาง เป็นการเร่งด่วน
การยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA
รมว.ศธ. กล่าวว่า ถือเป็นมิติที่ดีในการขับเคลื่อนในส่วนภูมิภาค ทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ทุกจังหวัดมีการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในทุกด้าน สำหรับการสอบ O-NET ที่กำลังจะมาถึงนั้น มอบหมาย สพฐ. หาแนวทาง วิธีการสร้างความสนใจและดึงดูดใจให้เด็กสมัครใจเข้าสอบให้ครบทุกคน เพื่อนำผลสอบมาพัฒนาการเรียนการสอน จัดสอนเสริมให้กับเด็กที่ยังอ่อนบางวิชา นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรในแต่ละช่วงชั้นให้ทันสมัย และขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียนที่เข้าสอบมากที่สุด ทั้งในเรื่องของวัน เวลา สถานที่สอบ สนามสอบ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สำหรับมิติในการประเมินหลังการสอบนั้น ต้องมีการเตรียมแผนรองรับเพื่อจัดหาสถานที่ติวหรือสถานที่เรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ให้กับนักเรียนตามความเหมาะสม
ความก้าวหน้าการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบในระดับเขตพื้นที่ หลักสูตรการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในรูปแบบออนไลน์ Classroom มีการจัดอบรมในรูปแบบ On Demand มีวิทยากรแกนนำเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งจะมีการปฏิบัติการจัดทำภาระงาน (ข้อสอบ) ของการอบรม จากการดำเนินงานที่ผ่านมามีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเป้าหมายในปี 2568 ต้องมีผู้ลงทะเบียน มากกว่า 4 แสนคน ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 176,465 คน อบรมแล้วเสร็จกว่า 4 หมื่นคน โดยมีการติดตามการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้เป็นระยะเพื่อนำผลมาสู่การพัฒนาต่อไป
การติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา (Thailand Zero Dropout)
รมว.ศธ. กล่าวว่า การค้นหาติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการค้นหากลุ่มเด็กที่ตกหล่นหรือการทำให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ โดยเฉพาะการช่วยให้เด็กสามารถกลับเข้าสู่ระบบฯ ต้องมีการประสานงานร่วมกันอย่างแข็งขัน เพื่อจะได้มีความรวดเร็วและครอบคลุมในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ผลการติดตามข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา (เด็กตกหล่น) เป็นข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลกลางของ สป.ศธ. ที่มีข้อมูลอัพเดทแบบ Real Time ที่มีจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาในภาพรวม 1.025 ล้าน เป็นเด็กสัญชาติไทย จำนวน 767,304 ในปีนี้เราสำรวจตัวตนจำนวนเด็กสัญชาติไทยไปแล้ว 489,186 คน ซึ่งมีการสำรวจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์ ในขณะที่เด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ช่วงอายุ 6 – 15 ปี (การศึกษาภาคบังคับ) มีเด็กสัญชาติไทยจำนวน 223,281 คน และดำเนินการสำรวจ 123,157 คน และจะเร่งดำเนินการติดตามในส่วนที่เหลือต่อไป (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มกราคม 2568)
สำหรับนักเรียนตกหล่นจำนวน 616,625 คนนั้น มีการติดตามไปแล้วกว่า 248,932 คน ในขณะทีนักเรียนออกกลางคัน มีจะนวน 106,966 คน ติดตามแล้วกว่า 33,452 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 มกราคม 2568) ซึ่งยังมีผู้ไม่กลับเข้าระบบการศึกษาทั้งนักเรียนตกหล่น และนักเรียนออกกลางคัน จึงต้องเร่งค้นหา เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการดูแลอย่างดีตามที่มีมาตรการรองรับ
ในขณะที่จังหวัดที่มีการติดตาม “เด็กนอกระบบการศึกษา” มากที่สุดคือ จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดลำพูน ที่มีการติดตามได้ 100% รองลงมาคือ จังหวัดระนอง พังงา และปัตตานี มีการติดตามได้ถึง 99% และเขตพื้นที่ที่มีการติดตามดำเนินการได้ 100% มีถึง 16 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งภารกิจที่เราต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องก็คือการเร่งค้นหาเด็กสัญชาติไทย ที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้ครบทุกจังหวัด ครบทุกคน เพื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือเลือกเส้นทางตามความถนัดและความเหมาะสมให้ได้มากที่สุด
สำหรับการขับเคลื่อน Buriram Zero Dropout Model (BZDM) เด็กและเยาวชน ช่วงอายุ 6 – 15 ปี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา จำนวน 4,390 คน ซึ่งพบปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้เด็กเหล่านี้หลุดออกระบบการศึกษาคือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคมและครอบครัว การศึกษา ความพิการ และสถานะทางทะเบียน ซึ่งก็ได้เตรียมแผนในการ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” และให้การสนับสนุนตามความต้องการ ทั้งเด็กทั่วไปและเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย (พิการ) ซึ่งผลจากการขับเคลื่อนจะนำไปสู่ต้นแบบของการบริหารจัดการในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
การจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568
รมว.ศธ. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันเด็กที่จะเกิดขึ้น ขอให้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อสร้างความสุขให้เด็ก ๆ ทุนคน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในส่วนกลาง ขอให้มีการดูแลในเรื่องของกิจกรรม สถานที่ ความเหมาะสม รวมถึงความปลอดภัยของผู้ร่วมงาน ในส่วนภูมิภาค มอบหมาย ศธจ. เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามดูแลการจัดกิจกรรมฯ
รมช.ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวว่า อยากให้กิจกรรมวันเด็กที่เกิดขึ้นเป็นงานวันเด็กของคนทั้งประเทศ ฝากการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงกลุ่มเป้าหมาย ปักหมุดกิจกรรม เพื่อให้เด็ก ๆ รับรู้ถึงการจัดกิจกรรมในกระทรวงศึกษาธิการ และสถานที่ต่าง ๆ ทุกพื้นที่ และเชื่อว่าวันเด็กที่เกิดขึ้นจะสร้างความประทับใจให้กับเด็ก ๆ ทุนคน
ปลัด ศธ. กล่าวว่า การจัดงานวันเด็กในปีนี้จะมีหลากหลายกิจกรรม โดยเริ่มตั้งแต่ในวันนี้ (8 มกราคม 2568) ในการมอบเกียรติบัตรแก่เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ประจำปี 2568 จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และการนำเด็กและเยาวชนดีเด่น เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติที่มีผลงานโดดเด่น เข้าเยี่ยมคารวะรับโอวาทจากนายกรัฐมนตรี และรับโล่เกียรติคุณจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
งานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด“เรียนดี มีความสุข Smart Kids,Happy Future” The classroom for future ห้องเรียนแห่งอนาคต จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 พร้อมของขวัญกว่า 1 แสนชิ้น ณ กระทรวงศึกษาธิการ จัดขึ้นบริเวณถนนราชดำเนินนอก ด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม และภายในกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 16.00 น. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาร่วมออกบูทจัดกิจกรรมกว่า 100 บูท อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานเอกชน
ภายในงานยังได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่จะมาเป็นประธานในงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 เพื่อเปิดห้องเรียนแห่งอนาคตให้ทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจ รับโอกาส ในการเรียนรู้ ซึ่งจะมีกิจกรรมหลากหลายที่มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนในทุก ๆ ด้าน เช่น การเสริมสร้างทักษะด้านการศึกษา ความคิดสร้างสรรค์ และการดูแลสุขภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มความรู้ให้กับเยาวชนไทย
การจัดงานฯ ในกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งเป็น 4 โซนกิจกรรม โซนที่ 1 Kids Innovation Park เวทีเด็กโชว์ไอเดีย (ภายใกระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งเป็นเวทีพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ 2568 การแสดงดนตรีของเด็กและเยาวชน การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพลังเด็ก โซนที่ 2 ห้องเรียนในฝัน โซนตกแต่งด้วยอุปกรณ์ล้ำสมัย (บริเวณถนนราชดำเนินนอก) มีบูทหน่วยงานเอกชน จำลองห้องเรียน VR เพื่อการศึกษาและการเรียนแบบอินเตอร์แอคทีฟ และบูทฐานผจญภัยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
โซนที่ 3 AI Wonderland บูธจำลองการใช้ AI ในการเรียนรู้ เช่น การออกแบบ หุ่นยนต์ AI ที่ช่วยทำการบ้าน (บริเวณถนนลูกหลวง) ประกอบด้วย บูทหน่วยงานเอกชน บูทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รถโมบายเคลื่อนที่ และบูทของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และโซนที่ 4 โซนสวนสนุกดิจิทัล พบกับเครื่องเล่นที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยี (ภายในกระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งจะมีสวนสนุกบ้านลม/เครื่องเล่น ที่สนับสนุนโดยหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน นอกจากของขวัญและของรางวัล ยังมีกิจกรรมพิเศษอีกหลากหลายกิจจกรรมเพื่อให้ผู้มาร่วมงานทุกคน “มีความสุข” กับงานวันเด็กที่จัดขึ้น
ทั้งนี้ ศธ. ยังอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าร่วมกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2568 โดยสามารถ Scan QR-Code ค้นหาสถานที่จัดกิจกรรม กิจกรรมไฮไลท์ หรือสถานที่ยอดฮิตของงานวันเด็กแห่งชาติ ให้เด็กและผู้ปกครองสามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
“เพราะการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ท้าทาย พวกเราจึงต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ภารกิจต่าง ๆ เดินหน้า เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และขอให้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมวันเด็กให้เต็มไปด้วยความสุข และแรงบันดาลใจ เพื่อปลูกฝังการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก ๆ ทุกคน”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์
พัรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ