รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 42/2567 ขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนกีฬา และหน่วยงานการศึกษาในสังกัดอื่น พร้อมยึด 4 แนวทางหลัก “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” คลี่คลายปัญหา Zero Dropout เร่งเสนอของบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น เพื่อใช้ในการฟื้นฟูหน่วยงาน/สถานศึกษาในสังกัดที่ประสบภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้และภาคเหนือ เผยการจัดกิจกรรมของขวัญปีใหม่ประจำปี 2568 (รวมวันเด็กแห่งชาติ และวันครู) อาจแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่เคยจัดมา แต่สร้างความประทับใจ ความสุขให้กับประชาชนและนักเรียนในทุกพื้นที่แน่นอน

4 ธันวาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 42/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. และนายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอขอบคุณในความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ทำให้งานต่าง ๆ มีความคืบหน้า ทั้งในเรื่องของการขับเคลื่อน PISA การแก้ไขปัญหา Zero Dropout และฝาก 4 แนวทางการดำเนินงานในการ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” เพื่อนำ “เด็กไทย” ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายที่มีการขับเคลื่อนเป็นอย่างดี

สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

รมว.ศธ. กล่าวว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนในหลายหน่วยงานนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี ต้องขอขอบคุณ สพฐ. ที่มีการขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนกีฬา หน่วยงานการศึกษาในสังกัดอื่น และให้ขยายผลสู่โรงเรียนเอกชนในสังกัด สช. เพื่อนำองค์ความรู้ PISA ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งในการดำเนินงานในหน่วยงานที่ต่างกัน ย่อมมีบริบทที่แตกต่างกันไปด้วย จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันในการปฏิบัติงาน

การขยายผลพัฒนาและสร้างข้อสอบความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในรูปแบบออนไลน์ Classroom 78 Classroom 77 จังหวัด + 1 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งนอกจากจะมี ห้องเรียน Classroom สำหรับครูทั้ง 3 ด้านแล้ว ยังมี classroom สำหรับผู้บริหารและครูกลุ่มสาระอื่น ทำให้ทั้งผู้บริหารและครูในโรงเรียน ได้รับทราบถึงแนวทางการสร้างและพัฒนาข้อสอบไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับครูที่นำไปใช้ในห้องเรียน หรือผู้บริหารที่มีการกำกับติดตามในเขตพื้นที่การศึกษา มีผลการดำเนินงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ จะได้รับรางวัลการนำเสนอยอดเยี่ยม จาก รมว.ศธ. เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

นอกจากนี้ สสวท. ยังได้จัดทำวีดิทัศน์แนะนำเกี่ยวกับ PISA และหลักสูตรการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ฯ และวีดิทัศน์การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถชมวีดิทัศน์ผ่านทาง YouTube สาขาประเมินผลทางการศึกษา สสวท. ทั้งนี้ในปีหน้า สสวท.ที่ผลักดันดำเนินการเรื่องนี้ จะต้องเตรียมดำเนินการจัดสอบ PISA 2025 ต้องวางตัวเป็นกลาง โดย สกศ.จะเข้ามาเป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่แทน

การแก้ไขปัญหา Zero Dropout

รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่ได้มอบหมายให้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหา Zero Dropout โดยมีการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว และมีการปรับระบบร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพในการติดตามและจัดการปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา โดยให้ใช้นิยามของ “เด็กนอกระบบการศึกษา” ให้ตรงกันทุกหน่วยงาน รวมถึงการใช้ฐานข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีและสารสนเทศ สป. เป็นหลัก ในการติดตามข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษา และใช้เครื่องมือ Obec Zero Dropout ในการติดตามและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดมาตรการให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ออกมาตรการให้สถานศึกษาเอกชนจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับเด็กทุกคน รวมถึงเด็กที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในสถานศึกษาเอกชน และให้เร่งค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่เรียนในศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 เพื่อปรับปรุงข้อมูลในระบบให้มีความถูกต้องและครบถ้วนมากที่สุด รวมถึงการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับเด็กวัยเรียนที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ เด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย และจำแนกข้อมูลช่วงอายุในการศึกษาภาคบังคับ

เด็กไทยที่อยู่นอกระบบ ฯ 1.02 ล้านคน ซึ่งมีเด็กไทย 767,304 คน และเราต้องร่วมมือกันค้นหา เด็กไทยอีก 402,073 คน เพื่อนำกลับเข้าระบบฯ สิ่งสำคัญในการสำรวจเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา คือการให้ความสำคัญกับ “เด็กไทย” โดยเน้นย้ำว่าเด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้ทุกเด็กได้รับโอกาสในการศึกษาและลดปัญหาการหลุดจากระบบการศึกษา ร่วมมือกัน “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” ทำอย่างไรเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว ต้องไม่หลุดจากระบบอีก

การติดตามสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้

รมว.ศธ. กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และภาคใต้ในครั้งนี้ ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ทั้งในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งในขณะนี้มีสถานศึกษาและหน่วยงานได้รับผลกระทบ/ความเสียหาย 2,121 แห่ง รมว.ศธ. มีความห่วงใย นักเรียน ครู และบุคลากรศึกษา ตลอดจนประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะ ผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน

สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขอให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน พร้อมสำรวจความเสียหาย เนื่องจากในขณะนี้ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการสำหรับฟื้นฟู ซ่อมแซมอาคารสถานที่ หนังสือหรืออุปกรณ์การเรียน เพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้โดยเร็ว ภายใต้ความปลอดภัยสูงสุด

โดย ศธ. จะเร่งเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่นให้กับโรงเรียนในสังกัดที่ประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ ศปช. หรือศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ได้เห็นชอบมาตรการหลักในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟู ผู้ได้รับผลกระทบของ ศธ. ในวงเงิน 264,458,436 บาท ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และให้หน่วยงานเร่งสำรวจความเสียหายและรายงานให้ รมว.ศธ. ทราบทันที

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ สอศ. เตรียมการตั้งศูนย์ Fix it Center ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และช่วยเหลือดูแลทำความสะอาดบ้านเรือน สถานศึกษา ล้างดินโคลน รวมทั้งเร่งฟื้นฟูในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบให้กลับมาในสภาพเดิมมากที่สุด รวมถึงการเตรียมการเพื่อจัดการเรียนการสอนให้ทันภาคเรียนในปีการศึกษา

การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่

รมว.ศธ. กล่าวว่า การประชุม ครม. นอกสถานที่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมา ได้มีการลงพื้นที่ตรวจราชการ ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” และติดตามผลกระทบและการดำเนินการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของของสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะโรงเรียนแม่แตง โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม และโรงเรียนกาวิละวิทยาลัย

ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและมีความเสียหายค่อนข้างสูง ทั้งห้องเรียน อุปกรณ์การเรียน ต้องขอบคุณทาง สอศ. ที่ออกหน่วยศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix It Center ได้ให้การช่วยเหลือในการซ่อมแซมอุปกรณ์ ระบบไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือ การประสานงานผ่านระบบเครือข่าย เป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามเกิดเหตุต่าง ๆ โดยขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันในการฟื้นฟูสถานศึกษา ซ่อมแซมอาคารเรียน ห้องสมุด อุปกรณ์การเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐาน เร่งซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพตามปกติ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้โดยเร็ว และคืนห้องเรียนให้กับครูและนักเรียน

สำหรับการติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) และจังหวัดเชียงราย รวมทั้งโรงเรียนในสังกัด ได้มีข้อแนะนำและข้อห่วงใยในการค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา Zero Dropout โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาทางด้านวิชาการ ถือเป็นการขับเคลื่อนโมเดล “เชียงใหม่เป็นหนึ่ง” ที่พร้อมจะขับเคลื่อนนโยบายไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา และหามาตรการป้องกันในระยะยาว และมาตรการอื่น ๆ ที่สำคัญ

การจัดกิจกรรมของขวัญปีใหม่กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2568

รมว.ศธ. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมของขวัญปีใหม่ประจำปี 2568 ซึ่งจะรวมถึงวันเด็กแห่งชาติ และวันครู โดยมุ่งเน้นให้กิจกรรมในปีนี้กิจกรรมที่หลากหลาย มีคุณค่าต่อผู้รับ แตกต่างจากรูปแบบเดิมที่เคยจัดในปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความประทับใจและความสุขให้กับประชาชนและนักเรียนในทุกพื้นที่ โดยขอให้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมมือกันประสานงานในการจัดกิจกรรม ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการจัดในพื้นที่ชุมชนและสถานที่สาธารณะ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และให้ประชาชนและนักเรียนสามารถเข้าถึงกิจกรรมได้มากขึ้น” นอกจากนี้ ควรให้สำคัญกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของขวัญปีใหม่ ผ่านช่องทางสื่อทุกประเภท เพื่อให้การประชาสัมพันธ์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง และเพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนและนักเรียนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ ในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ รมว.ศธ. พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะร่วมเปิดศูนย์บริการประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ Fix it Center ในช่วงวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึง 3 มกราคม 2568 โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จะส่งบุคลากรเข้าเสริมกำลังอำนวยความสะดวกให้ประชาชนด้วย

“สิ่งสำคัญที่สุดที่ ศธ. เน้นย้ำคือ การทำให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” การจัดกิจกรรมต่าง ๆ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนมีความสุข ในขณะเดียวกันการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ก็เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันในการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟู เพราะความปลอดภัยของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ทุกชีวิตสำคัญที่สุด รมว.ศธ. ยืนยันว่า “กระทรวงศึกษาธิการ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ

The post ศธ. ยึด 4 แนวทางหลัก “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” คลี่คลายปัญหา Zero Dropout พร้อมวางมาตรการเยียวยา ฟื้นฟูอุทกภัยภาคใต้เร่งด่วน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post