31 พฤษภาคม 2567/ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ.เปิดเผยหลังการประชุมว่า วันนี้ที่ประชุมนำเสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง ปลัดหรือผู้แทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีหรือผู้แทนของกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยประธานคณะกรรมการทั้ง 5 สาขาหลักของยูเนสโก รวมทั้งประธานคณะกรรมการแผนงานความทรงจำแห่งโลกและโครงการมนุษย์และชีวมณฑล

พร้อมทั้งสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 (UNESCO General Conference – GC) เดือนพฤศจิกายน 2566, การประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 219 (UNESCO Executive Board – EXB) เดือนมีนาคม 2567 และการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่ส่งเสริมความร่วมมือในกรอบงานขององค์การยูเนสโก ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน รวมทั้งงานโครงการสำคัญอื่น ๆ             

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการลงสมัครเลือกตั้งของประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก (Member of UNESCO Executive Board – EXB) วาระ 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2568 – 2572 (ค.ศ. 2025 – 2029) ตามที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2566 (ค.ศ. 2019 – 2023) ซึ่งครบวาระการเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารฯ เมื่อคราวประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 และในการประชุมสมัยสามัญฯ ครั้งที่ 43 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ขององค์การยูเนสโก รวม 16 คณะ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโกด้วย

โดยการคัดเลือกจะแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ 2) กลุ่มยุโรปกลางและตะวันออก 3) กลุ่มละตินอเมริกาและแคริบเบียน 4) กลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก 5) กลุ่มแอฟริกา และ 6) กลุ่มอาหรับ ซึ่งประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก สำหรับที่นั่งของคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโกในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก มีจำนวนที่นั่งทั้งหมด 12 ที่นั่ง และการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 จะมีที่นั่งว่าง จำนวน 6 ที่นั่ง (จีน หมู่เกาะคุก อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ซึ่งในส่วนของอาเซียน จะมี 2 ประเทศที่พ้นวาระการเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารฯ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกเพื่อทดแทนที่นั่งว่าง และมีส่วนร่วมในการบริหารการดำเนินโครงการ และงบประมาณขององค์การยูเนสโกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมสถานะและบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกขององค์การยูเนสโก ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกเพื่อช่วยสนับสนุนในการดำเนินโครงการและกิจกรรมภายใต้กรอบองค์การยูเนสโกของประเทศไทย

ในส่วนของสมาชิกคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก จะมีวาระ 4 ปี ประกอบด้วย 58 ประเทศ จาก 6 กลุ่ม ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก (194 ประเทศ) มีหน้าที่ในการพิจารณาและติดตามการดำเนินงานขององค์การให้สอดคล้องกับมติการประชุมสมัยสามัญฯ พิจารณาเสนอระเบียบวาระการประชุมสมัยสามัญฯ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการและกิจกรรม การปฏิบัติงานขององค์การ และพิจารณางบประมาณ รายงานกิจกรรมต่าง ๆ ติดตามประเมินผลและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนงาน งบประมาณ และการบริหารจัดการขององค์การ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก รวม 5 วาระ ได้แก่ วาระที่ 1 ระหว่างปี 2532 – 2536 วาระที่ 2 ระหว่างปี 2538 – 2542 วาระที่ 3 ระหว่างปี 2548 – 2552 วาระที่ 4 ระหว่างปี 2554 – 2558 และวาระที่ 5 ระหว่างปี 2562 – 2566  

ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว
พีรณัฐ ยุชยะทัต/ถ่ายภาพ

The post ศธ.ประชุมคณะกรรมการยูเนสโก ถกประเด็นลงสมัครเลือกตั้งเข้าร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโก appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post