จังหวัดนครปฐม – 10 ตุลาคม 2567 / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการของสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) โดยมีนางสาววาสุกาญจน์ บู่ทอง ผอ.สคบศ. บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม B5402 อาคารเฉลิมพระเกียรติ สคบศ.

การประชุมในครั้งนี้ เพื่อมอบนโยบายและทิศทางการทำงานด้านการพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง สคบศ. ได้นำเสนอข้อมูล คือ 1) ข้อมูลทั่วไป สคบศ. 2) สรุปผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 3) แผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 4) ข้อเสนอโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 5) ข้อเสนอโครงการวิจัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 6) โครงการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว. ศธ. (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) 2568-2570 และ 7) รายการใช้เงินงบประมาณ ปรับปรุง/ซ่อมแซม/จัดจ้าง (เร่งด่วน)

ผอ.สคบศ. กล่าวรายงานว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สคบศ. ได้ดำเนินงานด้านพัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลกรทางการศึกษาไปแล้ว 10 โครงการ ได้แก่
1. การพัฒนานักบริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ (นบส. ศธ.) รุ่นที่ 14
2. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาสู่ทักษะแห่งอนาคต (5 หลักสูตร)
3. การพัฒนานักวิจัย “หลักสูตรเทคนิคการเขียนบทความวิจัยเพื่อนำเสนอในการประชุม สัมมนาทางวิชาการและการตีพิมพ์ลงในวารสาร
4. การจัดการเรียนรู้ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Tablet) เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูในศตวรรษที่ 21
5. การพัฒนารองศึกษาธิการจังหวัดและผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด จำนวน 113 คน
6. การพัฒนาข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนวิทยฐานะศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สังกัด สป.
7. การพัฒนาข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนวิทยฐานะศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สังกัด สป.
8. การพัฒนาสมรรถนะผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่าย
9. การพัฒนาสมรรถนะผู้นำทางการศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
10. การพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางการเงิน จำนวน 5,886 คน

นอกจากนี้ ได้ดำเนินกิจกรรมการประชุมทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานและนวัตกรรมทางวิชาการของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ. วิชาการ ครั้งที่ 5) ซึ่งมีผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมประชุมทางวิชาการฯ จำนวน 2,019 คน และร่วมส่งผลงานและนวัตกรรมทางวิชาการที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ จำนวน 88 เรื่อง

สำหรับแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีสมรรถนะทางวิชาชีพที่มุ่งสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาในโลกยุคใหม่ โดยดำเนินการตามประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ จำนวน 8 โครงการ ได้แก่
1. โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ (นบส.ศธ.) รุ่นที่ 15
2. โครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในการสร้างสื่อการเรียนดี ผู้เรียนมีความสุขด้วย Tablet
3. โครงการประชุมทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานและนวัตกรรมทางวิชาการของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.วิชาการ ครั้งที่ 6)
4. โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเครือข่ายทางการศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
5. โครงการส่งเสริมการพัฒนาสื่อ นวัตกรรมสู่การเป็นต้นแบบการพัฒนาทักษะการคิดเชิงนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา
6. โครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเพิ่มสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ยุคใหม่ ผ่านระบบออนไลน์ NIDTEP Learning Mall (ระยะที่ 2)
7. โครงการการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ พลิกโฉมครูวัดประเมินผลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
8. โครงการพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่

สำหรับข้อเสนอโครงการสำคัญในปีงบประมาณ 2569 ได้วางแผนและเป้าหมายดำเนินการพัฒนาภายใต้ประเด็น เพื่อคนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานมีทักษะการเรียนรู้ และทักษะที่จำเป็นของโลกศตวรรษที่ 21 สามารถเข้าถึงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตดีขึ้น และประเด็น ประเทศไทยมีระบบข้อมูลเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพตามพหุปัญญาเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและการส่งต่อการพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการพัฒนาของ สคบศ.ทั้งหมดนี้ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข”ตามแนวคิด ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)

จากนั้น รองปลัด ศธ. ได้มอบนโยบายและแนวทางพัฒนาครู “Star Model ทบทวนประเด็นท้าทาย สร้างความร่วมมือ นำทางสู่ความสำเร็จ” คือ S: Situation สถานการณ์ เลือกสถานการณ์ของเรื่องราวให้เหมาะสม เพราะการระบุเหตุการณ์ต่างๆ เป็นการปูพื้นฐานที่ดี T: Task เป้าหมาย ระบุเป้าหมาย เพื่อบ่งบอกว่าหน้าที่ของเรา ณ เวลานั้นต้องแก้ปัญหาสิ่งใด มองเห็นถึงความท้าทายที่เราต้องเผชิญ A : Action การกระทำ บอกว่าเรามีการแก้ปัญหาอย่างไร อธิบายว่าหลังจากเรามีเป้าหมาย เราได้ทำอย่างไรต่อ ควรเป็นการระบุชี้ชัดว่าทำอย่างไร มีการวางแผนอะไรบ้าง เป็นขั้นตอนไป อย่าตอบแค่ว่าเราพยายามหรือทำงานอย่างหนักเพียงอย่างเดียว R : Result ผลลัพธ์ อธิบายผลลัพธ์จากการกระทำของเรา ว่าหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวสิ่งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลอย่างไรบ้าง จะดีมากหากคำตอบของเราเป็นสิ่งที่วัดผลได้ และอาจเพิ่มเติมสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการปิดท้าย

“สคบศ. ต้องทบทวนการทำงานการศึกษาตั้งแต่ ในอดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต มุมมองต่าง ๆ และบริการงานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อทบทวนสิ่งที่มีอยู่ และสิ่งที่ขาดหายไป สิ่งใดที่ต้องเติมเต็ม ที่สำคัญผู้บริหารองค์กรจะต้องนำการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่การปฏิบัติ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” สร้างเครือข่ายการพัฒนาการศึกษาเพื่อตอบประเด็นท้าทายที่จะเกิดขึ้น ในศตวรรษที่ 21” รองปลัด ศธ. กล่าว

สุกัญญา จันทรสมโภชน์ / ข่าว
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ

The post รองปลัด ศธ. “พิเชฐ” วางแนวทางพัฒนาครู ด้วย “Star Model” เน้นสร้างเครือข่ายพัฒนาการศึกษา รองรับประเด็นท้าทายในศตวรรษที่ 21 appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post